ปัญหาเรื่องการทำงานหนักจนตายกำลังเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น หลังกรณีพนักงานหญิงของเอเยนซี่โฆษณา Dentsu เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้บริษัทน้อยใหญ่ทั่วญี่ปุ่นต้องหันมาทบทวนนโยบายเรื่องเวลาการทำงานกันใหม่
รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เตรียมเสนอแก้กฎหมาย จำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (overtime หรือ OT) ที่ 60 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งสมาคมธุรกิจในญี่ปุ่นก็ขานรับนโยบายนี้ Akio Mimura ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีคำคัดค้านใดๆ และเสนอเพิ่มเติมว่าต้นเหตุของการทำงานหนัก เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ไปกดดันซัพพลายเออร์รายย่อยให้ทำงานหนักกว่าปกติ ดังนั้นญี่ปุ่นควรต้องพิจารณาเรื่องสัญญาการจ้างงานระหว่างบริษัทด้วย
โรคทำงานหนักจนตาย หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียก karoshi ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ศัพท์คำนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ยุค 1970s และกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
กลุ่มสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นหรือ Keidanren เสนอให้พนักงานออฟฟิศควรถูกพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากผลงาน (on merit) และไม่นำเรื่องการทำงานล่วงเวลามาร่วมพิจารณาด้วย และนอกจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศแล้ว คนทำงานอีกกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการทำงานล่วงเวลาคือคนขับรถบรรทุก และพนักงานก่อสร้าง ที่มักมีช่วงเวลาการทำงานเป็นตอนกลางคืน
อย่างที่ Brand Inside เคยนำเสนอมาแล้วหลายครั้งว่า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนอย่างหนัก จนต้องปรับเงื่อนไขการทำงานหลายอย่างเพื่อดึงดูดคนมาทำงาน เช่น ทำงาน 4 วัน หยุด 3 วัน หรือ ร้านอาหารปรับเวลาเปิดบริการให้น้อยลง
ที่มา – Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา