ต้อนรับเข้าสู่ญี่ปุ่นยุคใหม่ มีคนสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป เกิน 1 ใน 5 ของประชากรเป็นครั้งแรก

ญี่ปุ่นขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีผู้สูงวัยอายุ 70 ปี คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อตลาดแรงงาน แล้วญี่ปุ่นมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

Japan Aging Society สูงวัย ญี่ปุ่น สูงอายุ
Photo: Shutterstock

ญี่ปุ่นยุคใหม่ มีผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้สูงอายุในญี่ปุ่นหากนับตั้งแต่วัย 65 ปีขึ้นไป มีจำนวน 35.57 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.1% แต่ถ้านับตั้งแต่วัย 70 ปีขึ้นไป มีจำนวนสูงถึง 26.18 ล้านคนหรือเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ

นี่เป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่มีประชากรสูงวัยอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้น คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด

ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก แซงหน้าอิตาลีที่มีตัวเลขผู้สูงวัย 23.3% ตามมาด้วย โปรตุเกส 21.9% และเยอรมนี 21.7% ตามลำดับ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดของเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากภาค “ตลาดแรงงาน”

ถ้าไปดูสัดส่วนตลาดแรงงานของญี่ปุ่น จะพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 12.4% ของสัดส่วนตลาดแรงงานทั้งประเทศ บวกกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ภาคธุรกิจขนาดกลาง-เล็กก็ประสบปัญหาการไม่มีคนสืบทอดกิจการ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหากไม่แก้ปัญหานี้โดยเร็ว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ ทั้ง GDP ที่ถดถอยลง รวมถึงปัญหาการว่างงาน

  • คำถามก็คือ ญี่ปุ่นจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้อย่างไร?
Japan Aging Society สูงวัย ญี่ปุ่น สูงอายุสูงวัย ญี่ปุ่น สูงอายุ
Photo: Shutterstock

ยืดการเกษียณอายุทำงานที่ 70 ปี จูงใจด้วยเงินบำนาญก้อนโตขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ใช่เรื่องใหม่ของญี่ปุ่น เพราะบริษัทญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ขยายอายุการเกษียณการทำงานไปที่ 65 ปีแล้ว

แต่ปัญหาใหม่ก็คือ ตอนนี้ญี่ปุ่นมีผู้สูงวัยอายุ 70 ปีถึง 1 ใน 5 ของประชากร

แน่นอนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งรักษาตำแหน่งหัวหน้าพรรครัฐบาลญี่ปุ่นไปได้ในสมัยที่ 3 มาหมาดๆ ก็กำลังพิจารณาถึงข้อกำหนดของการขยายอายุการเกษียณอายุการทำงานออกไปที่ 70 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อาเบะ บอกว่า เขาต้องการให้ประชาชนสามารถทำงานได้หากมีอายุเกิน 65 ปี โดยอาจจะมีการเสนอเงินบำนาญแบบใหม่ที่ให้กับคนที่ทำงานเกิน 65 ปี เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

พูดง่ายๆ ก็คือ หากนโยบายใหม่ของอาเบะเกิดขึ้นจริง ผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 65 ปี (หรือ 70 ปีก็ตาม) จะได้เงินบำนาญก้อนโตกว่าคนที่เลือกเกษียณอายุการทำงานที่อายุ 65 ปีตามเกณฑ์เดิม

เปิดรับแรงงานต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

อีกหนทางของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงวัย คือการเปิดรับแรงงานต่างชาติ

ไม่นานมานี้ ทาโร โคโน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะเปิดรับแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

“เราต้องการเปิดประเทศให้มากขึ้น เราเปิดกว้างให้แรงงานของเราออกไปทำงานในต่างประเทศ ตอนนี้เราจึงจะสร้างกฎเกณฑ์ของการทำงานใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน(จากต่างชาติ) เข้ามาทำงานในญี่ปุ่น หากสามารถเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้”

แต่เดิมญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่ไม่เปิดรับให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ เป็นต้นว่า คนญี่ปุ่นรู้สึกไม่สะดวกใจหากต้องใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นในการสื่อสาร แต่ปัจจุบันในและในอนาคตอันใกล้ ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดต่ำลงจากตลาดในภาคแรงงาน ญี่ปุ่นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ

ตัวอย่างล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นทำสัญญากับทางเวียดนาม เพื่อรับพยาบาลจากเวียดนามกว่า 10,000 คนเข้ามาทำงานในประเทศภายในปี 2020

สรุป

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้ว เนื่องจากสังคมผู้สูงวัยที่ขยับตัวเลขพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปัจจุบันผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นมีจำนวนถึง 1 ใน 5 ของประชากรแล้ว ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจะรีรอไม่ได้ ทางออกของเรื่องนี้จึงเป็นการขยายอายุการทำงานของประชากรให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการสร้างแรงจูงใจด้วยเงินบำนาญที่มากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับแรงงานจากต่างชาติให้เข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูล – Nikkei Asian ReviewJapantoday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา