จากกันอย่างไรในวันลาออก ลากันด้วยดีหรือขอไปแบบไม่เผาผีให้สมกับที่อดทนมานาน

งานก็หนักแต่ไม่ได้ทำให้เติบโต เพื่อนที่ทำงานก็น่าจุกจิกใจ จะมี Work-Life Balance ทีก็แสนจะยากเย็น ทนมานานในที่สุดก็ถึงเวลาได้งานใหม่พร้อมมูฟออนแล้วทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังแล้วสักที

ก่อนไปอยากจะพูดความในใจแทบใจจะขาด แต่ใคร ๆ ก็บอกให้ยั้งตัวเองไว้ เพราะโลกนี้มันแคบกว่าที่คิดจนอาจต้องวนมาเจอหน้าคนเดิมใหม่ แต่ถ้าไม่บอกให้บริษัทปรับปรุงซะบ้าง ก็เหมือนทำกรรมกับคนที่จะเข้ามาทำแทนเรา แล้วจะจากกันด้วยดี หรือจะพูดทุกอย่างหมดเปลือกแบบไม่เผาผีไปเลยดี

เมื่อก่อนเราถูกพร่ำสอนว่าในการทำงาน ถึงต่อให้มีประสบการณ์แย่ขนาดไหน เวลาจากลาก็ควรจากกันด้วยดี เงียบและอดทนต่อไป ไม่ระบายความในใจทุกอย่างที่คิดโดยเฉพาะความในใจในแง่ลบที่มีต่อคนและต่องาน 

สำนวน “Burning Bridges” หรือการเผาสะพานเป็นคำเปรียบเปรยที่มาจากกลยุทธ์ของทหารโรมันโบราณที่สร้างสะพานเชื่อมไปยังเขตแดนของชาติอื่นแล้วเผาสะพานนั้นทิ้งเพื่อตัดตัวเลือกที่จะถอยหลังกลับ ในการทำงาน หมายถึง การทำลายความสัมพันธ์กับที่ทำงาน ละทิ้งความเป็นมืออาชีพ ส่วนผลที่ตามมาเป็นได้ทั้งการชื่อเสียงที่ไม่ดีของคนพูดเองและคอนเนคชั่นที่ถูกทำลายลง

การเผาสะพานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนลาออก แต่อาจมาในรูปแบบความตึงเครียด การไม่ลงรอยกันขณะทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงการลาออกแบบไม่แจ้งล่วงหน้าจนทำให้ทีมวุ่นวายไปหมด

เหล่านี้เป็นหลักที่เราจดจำกันมานานด้วยความเชื่อที่ว่าโลกการทำงานแคบกว่าที่เราคิด แต่เมื่อวัฒนธรรมการทำงานเปลี่ยน ชาวออฟฟิศมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ท็อกซิกเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา การเงียบไว้ อดทนไป อาจไม่ใช่คำตอบหนึ่งเดียวของการรักษาคอนเนคชั่นแม้ว่าในบางกรณีอาจเป็นแบบนั้น

คุณยังอยากมีคอนเนคชั่นกับบริษัทที่ท็อกซิกกับคุณอยู่อีกเหรอ?
แล้วคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทได้ท็อกซิกกับคนอื่น ๆ ต่อไปเหรอ?

Erin Gallagher ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ella บริษัทที่ปรึกษาด้านการทำงานที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทำงานกล่าวว่า สำนวนเผาสะพานไม่ใช่แค่มีความหมายในเชิงดราม่าเกินไป แต่ยังขัดกับเป้าหมายของการทำงานสมัยใหม่ที่ใส่ใจกับการทำให้ที่ทำงานดีต่อสุขภาพจิต

ถึงการหลีกเลี่ยงไม่เผาสะพานจะมีไว้เพื่อปกป้องตัวพนักงานในอนาคต แต่อาจกลับกลายเป็นเครื่องมือปกป้องบริษัทที่ย่ำแย่และปิดปากให้พนักงานทนกับสภาพการทำงานที่ติดลบ เพราะความเกรงกลัวที่จะสูญเสียคอนเนคชั่น ทำให้ที่ทำงานที่ท็อกซิกก็ยังลอยตัว ไม่พัฒนาสักที

Gallagher มองว่า เราควรต้องให้ความหมายใหม่กับการเผาสะพานแทนที่จะโอบรับความหมายลบ ๆ ของคำนี้ เราควรตั้งคำถามต่อตัวเองด้วย 2 คำถามด้านบนว่าเรายังจำเป็นต้องรักษาคอนเนคชั่นกับบริษัทที่ท็อกซิก และปล่อยให้บริษัทเหล่านี้สร้างความท็อกซิกกับคนอื่นต่อไปอีกหรือไม่

Rachel Garrett ที่ปรึกษาด้านการเป็นผู้นำจากนิวยอร์ก ยังมองว่า แนวคิดการเผาสะพานเป็นความคิดของผู้ที่มองเข้ามา ของคนที่ทำงานที่คิดว่าเขาสามารถควบคุมเราและควบคุมเส้นทางการทำงานของเราได้ การกำหนดขอบเขตเมื่อรู้สึกว่าเพื่อนที่ทำงานล้ำเส้นอาจเป็นการเผาสะพานในสายตาพวกเขาเหล่านั้นก็ได้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อตัวเองแม้ใครบางคนจะไม่ชอบที่เราทำอย่างนี้ก็เถอะ

Sarah Aviram นักพูดและนักเขียนเจ้าของหนังสือ Remotivation: The Remote Worker’s Ultimate Guide to Life-Changing Fulfilment กล่าวว่า แนวความคิดเรื่องการเผาสะพานเปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 ที่คนเริ่มมองว่าการอดทนทำงานที่เกลียด ทำงานที่สิ่งแวดล้อมหรือคนที่ท็อกซิกเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า กลับกัน หลายคนอยากทำงานที่มีความหมายต่อชีวิต งานที่ตัวเองรักและให้คุณค่าจริง ๆ 

มุมมองนี้เกิดจากช่วง Great Resignation ที่คนจำนวนมากพากันลาออกจากงานจนตำแหน่งว่างเต็มไปหมดทำให้ผู้คนกังวลเรื่องการรักษาคอนเนคชั่นกับที่ทำงานเก่าน้อยลงเพราะมีทางเลือกมาก มุมมองที่เปลี่ยนไปของผู้สมัครงานก็ทำให้บริษัทเริ่มเข้าใจและยอมรับการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของชาวออฟฟิศที่ไม่พึงพอใจกับงานที่ทำ แถมยังสร้างความเข้าใจในฐานะมนุษย์ด้วยกันและทำความเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานที่คนส่วนใหญ่อยากจะเห็นในอนาคต

ความน่ากลัวของการเผาสะพานน้อยลงแล้วก็จริง แต่ Aviram ยังเตือนว่า การที่เราสามารถให้คอมเมนต์อย่างจริงใจตรงไปตรงมาไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถประจานบริษัทเก่าให้ทั้งโลกรับรู้ได้ แถมในความเป็นจริง ทุกคนมีเงื่อนไขที่ต่างกัน ฉะนั้น อย่าเพิ่งผลีผลามใส่เต็มที่ ลองคิดถึงผลกระทบกับตัวเราเองก่อนว่าเราจะรับไหวไหม

Joanne Rampling ที่ปรึกษาด้านการทำงานที่บริษัท Duality Careers ในกรุงลอนดอนเผยว่า การที่เราระบายความในใจกับที่ทำงานเป็นเรื่องที่โอเคถ้าเราลาออกเพราะความท็อกซิก แต่อย่าลืมว่าความโกรธทำให้เราต้องใช้พลังงานมหาศาลแถมยังสร้างความเครียดให้ตัวเองอีกต่างหาก 

Yvonne Smyth ผู้อำนวยการของบริษัททรัพยากรบุคคล Hays Human Resources กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาจากลา สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การเลือกพูดแต่สิ่งดี ๆ แล้วเก็บความอัดอั้นตันใจไว้ในใจ แต่เป็นการเตรียมพร้อมจะตอบคำถามของ HR ว่าทำไมเราถึงตัดสินใจจากโบกมือลาแล้วไปหางานใหม่

คำตอบควรเป็นในเชิงบวกเกี่ยวกับบริษัทใหม่เช่น เราไม่สามารถปฏิเสธสวัสดิการที่ดีกว่าได้ พร้อมเสริมด้วยความเห็นที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัทที่เรากำลังจะปล่อยมือต่างหากที่เป็นคำตอบ บทความจาก Harvard Business Review ยังเสนอว่า เวลาแจ้งลาออก ควรใช้น้ำเสียงที่แสดงความขอบคุณแต่ก็หนักแน่น มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง ไม่ควรใช้น้ำเสียงแสดงความโกรธหรือสับสน

การแจ้งลาออกเป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับบางคนจนบางครั้งทำให้ผัดวันประกันพรุ่งที่จะบอกหัวหน้าเพราะไม่อยากให้ทีมเคร่งเครียดกว่าที่กำลังเป็นอยู่ แต่จริง ๆ แล้วถ้าเรารู้ตัวว่าไม่อยากไปต่อกับที่เดิม การบอกให้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ทุกคนจะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับงานที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เราไม่อยู่แล้วยังหาคนมาแทนไม่ได้

อย่างสุดท้าย Ron Carucci เจ้าของบทความบน HBR กล่าวว่า ให้ทุกคนคิดไว้เสมอว่าเราไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของใคร มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองถึงแม้หัวหน้าอาจจะโกรธ เพื่อนร่วมงานอาจจะรู้สึกเหมือนถูกทิ้ง เราก็ทำได้เพียงแค่แสดงรู้สึกความเสียใจที่เขาเหล่านั้นต้องรู้สึกแย่ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง

ส่วนใครที่ทนไม่ไหว จัดเต็มความในใจตอนลาออกไปแล้ว หรือยังไม่กล้าลาออกเพราะกลัวว่าชื่อเสียงจะเสียหายก็ไม่เป็นไร เพราะชื่อเสียงของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเพียงแค่ครั้งเดียว หรือถ้าเสียหายไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ยังมีโอกาสให้เปลี่ยนแปลงและพิสูจน์ตัวเองได้อีกหลายครั้ง

ที่มา – BBC, Psychology Today, Business Insider, HBR

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา