เพื่อนกิน (เหล้า) หาง่าย เพื่อนรู้ใจหายาก ถ้าไม่มีเพื่อนสนิทที่ทำงาน จะเป็นอะไรไหม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
แต่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเข้าสังคมเก่งซะที่ไหน

การสังสรรค์ไม่ใช่ทาง แค่ลำพังทำงานให้ผ่านไปแต่ละวันก็เหนื่อยจะขาดใจ เลิกงานแล้วรีบกลับบ้านไปดูหนัง เล่นกับหมาแมว พูดคุยกับคนรู้ใจดีกว่า… ในที่ทำงาน แม้ทุกคนต่างมีภารกิจร่วมกันคือการหาเงิน แต่ออฟฟิศอาจเป็นแค่สถานที่รวมตัวชั่วคราวของมนุษย์เงินเดือนเพราะความจำเป็นก่อนจะแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตที่ชอบหลังเลิกงาน รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่าไม่มีเพื่อนสนิทซะแล้ว

ถ้ากำลังรู้สึกโดดเดี่ยว หวิว ๆ ในใจเพราะไร้เพื่อนสนิทในที่ทำงาน? คุณอาจไม่ใช่คนเดียวที่กำลังมีปัญหานี้ ลองมาดูตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกากันบ้าง ข้อมูลจาก Survey Center ในหัวข้อ American Life เผยว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนเราใช้เวลา 81,396 ชั่วโมงหรือเทียบเท่ากับ 9 ปีในที่ทำงาน ออฟฟิศจึงน่าจะเป็นที่ที่เราพัฒนาความสัมพันธ์ได้มากที่สุด แต่ผลกลับตรงกันข้าม

 

นักวิจัยจาก Olivet Nazarene University ได้สำรวจชาวอเมริกัน 3,000 คนที่ทำงานประจำ พบว่ามีเพียง 15% เท่านั้นที่มองว่าเพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนที่แท้จริง แต่มีคนถึง 83% ที่มองว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นเพื่อนกันเฉพาะเวลางานแต่จะไม่พัฒนาความสัมพันธ์และเป็นคนแปลกหน้า ส่วนอีก 2% มองเพื่อนร่วมงานเป็นศัตรู

นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Gallup เผยว่า มีพนักงานเพียง 3 ใน 10 เท่านั้นที่มองว่าตนเองมีเพื่อนสนิทในที่ทำงาน และการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่บริษัทลงทุนให้กับพนักงานน้อยที่สุด

แม้การไร้เพื่อนรู้ใจในที่ทำงานจะเป็นปัญหาของใครหลายคนไม่ใช่เฉพาะตัวเรา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีคนที่สบายใจจะคุยด้วยในสถานที่ที่เราใช้เวลา 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมดในแต่ละวันนับเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่องานและสุขภาพจิต

เพื่อนสนิท (ในที่ทำงาน) นั้นสำคัญแค่ไหน

นักวิจัยจาก University of Pennsylvania และ University of Minnesota เผยว่า การมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานไม่ได้แค่ช่วยเพิ่ม Productivity เท่านั้น แต่เพื่อนยังเป็นตัวแปรที่ทำให้การสื่อสารเรื่องงานราบรื่นและมีคนช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

การศึกษาการทำงานทั่วโลกของ International Social Survey Program (ISSP) ยังให้ผลไปในทิศทางเดียวกันว่า การมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน และถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในคุณลักษณะ 12 ข้อที่ทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน 

นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Gallup พบว่ายิ่งถ้าหากคุณต้องทำงานทางไกลหรือทำงานที่บ้านสลับกับการเข้าออฟฟิศ เพื่อนสนิทในที่ทำงานจะช่วยเพิ่มความรู้สึกเชื่อมต่อกับทีม ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และการสนับสนุนกันในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง

เพื่อนสนิทสร้างได้ แต่ถ้าไม่ถนัดสร้างจะเป็นไรไหม

สาเหตุที่ต้องมีคำว่า ‘เพื่อนร่วมงาน’ อาจเพราะเราไม่ได้มองคนที่ทำงานเป็น ‘เพื่อน’ หรือ ‘เพื่อนสนิท’ แต่เป็นคนที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่คนที่เราอยากจะเล่าเรื่องกำลังหนักใจหรือโทรไปร้องไห้ด้วยได้เวลาที่มีปัญหา แล้วจะทำอย่างไรถ้าไม่อยากทำตัวสนิทเกินไปกับ ‘เพื่อนร่วมงาน’ หรือไม่ถนัดสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องสนิทกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากไม่ถนัดที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นหรือพึงพอใจจะรักษาระยะห่างมากกว่า ก็เพียงเลือกที่จะทำตัวให้น่าคบหากับทุกคนเท่านั้นเอง

“คุณไม่จำเป็นต้องเป็นบัดดี้ที่ยอดเยี่ยมที่สุด คุณแค่ต้องมีน้ำใจ เป็นมืออาชีพ และทำดีกับคนอื่น”

Amy Cooper Hakim นักจิตวิทยาองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานเผยว่า การเป็นเพื่อน (Friend) กับการทำตัวเป็นมิตรที่หมายถึงการแสดงนิสัยน่าคบหา (Friendly) เป็นคนละอย่างกัน เพราะฉะนั้นแทนที่จะต้องทำให้เพื่อนร่วมงานกลายเป็นเพื่อนสนิทด้วยการแชร์เรื่องส่วนตัว บอกความลับเพื่อแสดงความจริงใจ เราอาจวางตัวง่าย ๆ เพียงแค่ทำตัวน่าคบหาแต่รักษาขอบเขตความเป็นส่วนตัวเอาไว้เหมือนเดิม

บางคนอาจต้องการรักษาระยะห่างจากเพื่อนร่วมงานเพื่อป้องกันการเผชิญกับสถานการณ์กระอักกระอ่วน อย่างเช่น เราอาจรู้สึกกังวลกับงานและบอกความลับให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเราคิดจะลาออกและกำลังหางานใหม่อยู่ ในจังหวะนั้น หัวหน้าอาจเลื่อนตำแหน่งหรือเพิ่มเงินเดือนให้ ทำให้เราตัดสินใจว่าจะไม่ลาออกแล้ว เหตุการณ์แบบนี้อาจทำให้เพื่อนสนิทรู้สึกขุ่นเคืองและไม่พอใจโดยเฉพาะเมื่อเขาหรือเธอคนนั้นไม่ได้รับเงินเดือนเท่าเราหรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเหมือนกัน

หรือหากเพื่อนสนิทของเราเป็นหัวหน้างานที่มีอำนาจในการประเมิน Performance ก็อาจทำให้เป็นที่เพ่งเล็งของเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่ตั้งคำถามว่าความสำเร็จของเรามาจากคุณภาพในการทำงานจริง ๆ หรือมาจากที่เป็น ‘คนโปรด’ ของหัวหน้า 

แถมถ้าในออฟฟิศมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราอาจจะเข้าไปเกี่ยวกับดราม่าเลือกข้างโดยไม่ทันตั้งตัว การรักษาขอบเขตชัดเจนว่าเราจะเป็นแค่เพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกันก็จะช่วยลดปัญหาความเข้าใจผิดตรงนี้ลงได้ การทำตัวเป็นมิตรและพร้อมช่วยเหลือทุกคน แต่ก็กำหนดขอบเขตไว้ชัดเจนว่าสนิทสนมกันได้แค่ไหนก็ถือเป็นคำตอบที่ดีในสมการปัญหาการทำงานข้อนี้ 

ทั้งนี้ เราทุกคนมีสิทธิ์ขาด 100% ว่าจะออกแบบชีวิตตัวเองในรูปแบบไหน หากตัวเราเองรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจที่หันไปในออฟฟิศแล้วไม่มีเพื่อนสนิทซักคน เราอาจต้องมองหาวิธีเมคเฟรนด์ที่เริ่มด้วยการใส่ใจในสิ่งที่คนอื่นสนใจเพื่อหาจุดสนใจร่วมกันเพื่อพูดคุยก่อน แต่ถ้าเรารู้สึกสบายใจ และไม่ได้รู้สึกว่างานมีปัญหาจากการแยกพื้นที่ชัดเจนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวอยู่แล้ว ก็อาจไม่ต้องพยายามทำตัวสนิทกับใคร ขอแค่ดีต่อทุกคนเท่านั้นเอง

ความสัมพันธ์ของคนในออฟฟิศมีได้หลายรูปแบบ ทั้งสนิทมาก สนิทน้อยแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับหลายอย่างทั้งนิสัยของแต่ละคน ความสนใจที่อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกัน ความสนิทไม่ได้เป็นปัญหาขอเพียงแค่เราทำดีและร่วมงานได้กับทุกคนในที่ทำงาน

ที่มา – weforum, cnn, cnn 2, HBR

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา