แอบแซ่บดีไหม ถ้าเราถูกใจคนในออฟฟิศ – สำรวจมิติทางสังคมและอำนาจกับความสัมพันธ์ในที่ทำงาน

การมีแฟนอย่างเปิดเผยในที่ทำงาน อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ละองค์กรอาจจะมีนโยบายเอาไว้อยู่แล้ว เช่น ต้องประกาศความสัมพันธ์ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน 

แต่คำถามคือ แล้วความสัมพันธ์ประเภท นั่งหันหลังให้กัน ไม่คุย ไม่มองหน้า เดินสวนกันทำเหมือนไม่รู้จักกัน แต่เลิกงานแล้วไป “แอบแซ่บ” ไม่ว่า FWB, ONS กับคนในที่ทำงาน มันมีอะไรที่น่ากังวลบ้างไหม หรือทำได้แค่ไหน ในเมื่อไม่ได้ต้องการจะมีความสัมพันธ์กันอย่างจริงจัง และไม่มีกฎห้าม?

เรื่องรักใคร่ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่

ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาก็ชี้ว่า ความรักในที่ทำงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในช่วงโควิด-19 แม้พนักงานจะแทบไม่ได้เจอหน้ากันเลย แล้วถ้าเจอกันทุกวันจะเหลืออะไร

ในปี 2022 ข้อมูลจาก Society for Human Resource Management (SHRM) ของสหรัฐอเมริกาเผยว่า ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกในที่ทำงานเพิ่มขึ้นในช่วงการทำงานที่บ้าน โดย 1 ใน 3 ของชาวอเมริกัน 550 รายกล่าวว่า พวกเขาเริ่มและพัฒนาความสัมพันธ์ในช่วงโควิด-19 นับว่ามากกว่าช่วงก่อนโควิด 6%

แม้ว่าภาพลักษณ์และเสียงซุบซิบจากเพื่อนร่วมงานจะเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวและทำให้เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ดูจะเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 75% กลับรู้สึกโอเคที่เพื่อนร่วมงานจะคบหากัน ยิ่งกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจครึ่งหนึ่งยังบอกว่าพวกเขาเคยถูกใจเพื่อนร่วมงานซะเอง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะความใกล้ชิดในที่ทำงานมีมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและอาจมีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ Amy Nicole Baker ศาตราจารย์ของ University of New Haven ผู้ศึกษาเรื่องความรักในที่ทำงานกล่าวว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผู้ชายและผู้หญิงที่ทำงานในออฟฟิศก็มีความสัมพันธ์ที่นักวิจารณ์สมัยนั้นเรียกว่าเป็น “พฤติกรรมที่ไม่มีชื่อเรียก”  

Baker ยังกล่าวว่า ความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่เริ่มต้นในช่วงก่อนโควิดยังคงพัฒนาต่อเนื่องมาในช่วงโควิดที่ต้องทำงานที่บ้านเพราะเป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่าและอยู่นอกสายตาของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แถมช่วงทำงานที่บ้าน บางคู่ยังไม่ได้ทำงานที่บ้านตัวเอง แต่เป็นบ้านของอีกคนแบบลับ ๆ ด้วยซ้ำไป

ความใกล้ชิดในที่ทำงานเป็นเรื่องต้องห้ามเสมอ?

Amie Gordon ผู้ช่วยศาสตรจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Michigan กล่าวว่า สถานที่ทำงานเป็นแหล่งบ่มเพราะความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกได้เพราะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิด 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ความใกล้ชิดและความคุ้นเคย

ยิ่งเราเห็นอะไรหรือใครบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกคุ้นเคยมากเท่านั้น และความคุ้นเคยที่เกิดจากการเจอคน ๆ นึงซ้ำ ๆ ในทุกวัน ก็ทำให้เกิดความชอบหรือความพึงพอใจได้ สิ่งนี้เรียกว่า “Mere-exposure Effect” 

งานวิจัยในที่ทำงานก็ให้ผลแบบเดียวกัน ถ้ายิ่งได้พูดคุยกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกชอบหรือพึงพอใจในตัวคน ๆ นั้นโดยไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นรูปแบบการคบหากันหรือการเป็น Friend with Benefit กันเท่านั้น แม้แต่การที่หัวหน้ารู้สึกชื่นชอบพนักงานในทีมคนใดคนหนึ่งมากกว่าคนอื่น ๆ ก็มาจากความคุ้นเคยอย่างนี้ด้วย

อคติหรือความลำเอียงที่เกิดขึ้นไม่ได้จะต้องเกิดจากการเห็นหน้ากันเท่านั้น เกิดจากการพูดคุยผ่านทางอีเมล Zoom หรือ Slack บ่อย ๆ ก็ยังได้ และนี่ก็อธิบายได้อย่างดีว่าทำไมในช่วงทำงานที่บ้าน พนักงานหลายคนจึงสานต่อความสัมพันธ์กันได้ดี 

นอกจากนี้ การมีปัญหาร่วมกันในที่ทำงานอย่างงานหนัก หัวหน้าที่ท็อกซิก ก็ยิ่งทำให้คนสองคนใกล้ชิดกันจากการปรับทุกข์และระบายความในใจที่อึดอัดจากที่ทำงาน แถมยังให้ความรู้สึกว่าทั้ง 2 คนเป็นพวกเดียวกันที่เผชิญอุปสรรคเหมือน ๆ กัน

หากคิดหรือกำลังสานต่อความสัมพันธ์กับใครซักคนในออฟฟิศ ก็ขอให้คิดในแง่ดีไว้ก่อนว่าทุกความสัมพันธ์ไม่ได้จบลงด้วยเสียงซุบซิบนินทาหรือเรื่องอื้อฉาวให้กลายเป็นจุดสนใจในหมู่เพื่อนร่วมงานและป้าแม่บ้านเสมอไป ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น Barack Obama และ Michelle Obama ที่เจอกันในบริษัทกฎหมายในตอนที่พวกเขาก้าวเข้าสู่วัยเลข 2

แถมยังมีข้อมูลว่าชาวอเมริกันอายุ 20-50 ปี ใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานมากกว่าเพื่อนในชีวิตจริงถึง 4 เท่า เลยไม่น่าแปลกใจที่ Mere-exposure Effect จะทำงานได้ดีกับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องเจอหน้ากันเกือบทุกวัน

แอบแซ่บไม่ผิด แต่อย่าคิดชะล่าใจ

แม้ว่าการมีความสัมพันธ์รักใคร่ (หรือไม่รักก็แล้วแต่) กับเพื่อนที่ทำงานจะเป็นเรื่องที่สุดแสนจะปกติของมนุษย์แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

อย่างแรกต้องรู้ก่อนยังไงการพัฒนาความสัมพันธ์เกินกว่าเพื่อนธรรมดากับคนในออฟฟิศก็มีความเสี่ยง ปัญหาที่ตามมาแน่ ๆ คือ ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดผลประโยชน์กัน (Conflict of Interest) อย่าลืมว่าเรายังต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงานนอกจากคนที่เราถูกใจ

การที่เราจะถูกใจใครเป็นพิเศษทำให้เกิดการตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้ว่าการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานมีอคติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ 

ความเคลือบแคลงใจจะมีมากขึ้นอีก ถ้าเกิดเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า อย่างถ้ามีคนรู้ว่าเรามีนอกมีในหัวหน้านอกเวลางาน แล้วเราดันทำงานได้ดี เป็นพนักงานยอดเยี่ยมก็จะเกิดคำถามขึ้นในใจคนอื่น ๆ ว่า ความสำเร็จนี้มาจากอะไรความสามารถจริงหรือจากการเป็น ‘คนโปรด’ กันแน่ ดังนั้น ถ้าจะถูกใจใครก็ภาวนาอย่าให้เป็นหัวหน้าหรือคนที่ประเมินผลงานเราโดยตรง และอย่าลืมว่าต่อให้หัวหน้าจะทำหน้าที่อย่างมืออาชีพแค่ไหน แต่ความอคติ (bias) คนเรามีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

สิ่งสำคัญที่ควรจะทำเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่ทำงานคือความโปร่งใสกับคนอื่น ๆ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ควรบอกให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับใครเพราะจะช่วยลดความกระอักกระอ่วนและแสดงความจริงใจ เพราะแน่นอนว่าความลับไม่มีในโลก ถึงเราไม่บอก เพื่อน ๆ หรือป้าแม่บ้านก็จะรู้ได้เองในที่สุด ถึงตอนนั้นการกระทำของเราที่ผ่านมาก็จะกลายเป็นเรื่องน่าสงสัยและไม่น่าไว้ใจสำหรับเพื่อนร่วมงาน

หลังจากนั้นก็ควรจะกำหนดขอบเขตและทำตัวเป็นมืออาชีพ พยายามรักษาคุณภาพการทำงานไว้ และจะรักและถูกใจกันมากแค่ไหนก็ไม่ควรแสดงออกในที่ทำงานเพราะจะทำให้คนอื่นอึดอัดใจจนถึงขนาดมีงานวิจัยบอกว่า คนที่เป็นพยานรักในที่ทำงานบ่อย ๆ จะรู้สึกพึงพอใจในงานของตัวเองลดลงจนถึงขนาดลาออก ดังนั้น มีความสัมพันธ์เกินกว่าเพื่อนได้ แต่ควรใส่ใจงานและคนรอบข้างให้ดีด้วย

ที่มา – BBC, HBR, SHRM

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา