“เห็นนั่งว่าง ๆ ช่วยแม่ล้างจานหน่อยได้ไหม” ทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจการ Work From Home

ถ้าทำงานที่บ้านที่มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอาอยู่ด้วย เราอาจเคยเจอกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้

“ไปล้างจานให้หน่อยสิ ไหน ๆ ลูกก็เล่นคอมอยู่ว่าง ๆ”
“นั่งเล่นคอมทั้งวัน ออกไปหาอะไรทำบ้างเถอะ”
“ทำไมวันนี้ไม่ไปทำงานหล่ะ ลาอีกแล้วเหรอ” 

หรือหนักกว่านั้นก็อย่าง “ทำไมอยู่แต่บ้านไม่ยอมไปทำงาน มีเสี่ยเลี้ยงเหรอ”

ไม่ว่าจะอธิบายยังไง ผู้ใหญ่ที่บ้านก็ไม่เข้าใจสักทีว่าที่นั่งอยู่หน้าจอคอมฯ ทั้งวันไม่ใช่เพราะว่าง แต่เพราะงานเยอะจนทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จ แถมยังต้องมาเสียเวลาไปกับการตอบคำถามอีกต่างหาก บางทีก็คิดในใจว่าถ้ามีเสี่ยเลี้ยงแบบที่พ่อแม่พูดก็ดีสิ จะได้ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นแบบนี้

ทำไมผู้ใหญ่ไม่ยอมเข้าใจการ Work From Home แล้วเราจะทำยังไงดี?

เพราะเราเกิดมาคนละยุคกัน

การถูกถามซ้ำ ๆ เกือบทุกวันด้วยคำถามข้างบนอาจทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบอารมณ์เท่าไรและอยากจะขอให้คนที่บ้านยอมเข้าใจสักที แต่เรื่องงานก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่พอจับคนแต่ละรุ่นมานั่งคุยกันก็ดันไม่เข้าใจกันเลยเพราะเราต่างเติบโตมาในสภาพสังคมที่ต่างกัน

Gen Y และ Gen Z ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับสภาพสังคมที่วุ่นวายจากสงคราม การเมืองที่ชุลมุน และเศรษฐกิจที่ยับเยินอย่างคนรุ่นปู่ย่าตายาย คนรุ่น Baby Boomers และ Gen X เองก็คุ้นชินกับการออกจากบ้านไปทำงานเพราะไม่ได้เติบโตเป็นวัยทำงานที่ต้องปรับตัวกับการทำงานที่บ้านจากโควิด-19 เหมือนกัน 

เมื่อสภาพสังคมที่คนแต่ละรุ่นเติบโตมาต่างกัน วิธีการทำงานก็ต่างกันไปด้วย สำหรับคนรุ่นพ่อแม่ขึ้นไป ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวถูกแยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ออฟฟิศเป็นสถานที่ทำงาน ส่วนบ้านก็เป็นสถานที่สำหรับชีวิตส่วนตัว 

การไปทำงานของคนรุ่นก่อนจึงหมายถึงการตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัว เดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ พอกลับบ้านตอนเย็นจึงจะเป็นเวลาสำหรับการใช้ชีวิตของตัวเองต่อ แต่สำหรับคน Gen Y ปลาย ๆ และ Gen Z ต้องเจอกับโควิด-19 ที่เข้ามาท้าทายให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป บวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นจนทำงานทางไกลได้ และการให้คุณค่ากับ Work-Life Balance มากขึ้นทำให้สถานที่ทำงานกับสถานที่กับการเป็นตัวเองไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างชัดเจนขนาดนั้น

แม้บางทีอาจดูน่ารำคาญในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่คนรุ่นพ่อแม่ขึ้นไปจะไม่เข้าใจว่าแทนที่จะนั่งหน้าจอทั้งวัน ทำไมเราไม่อาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้านไปทำงาน การแก้ปัญหาจึงควรเกิดจากการทำความเข้าใจจากทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อนรักษาความสัมพันธ์ในบ้านไว้

บอกที่บ้านอย่างไรไม่ให้ความสัมพันธ์แย่ลง

แค่ทำความเข้าใจคนที่บ้านยังไม่พอเพราะเขาอาจจะยังไม่เข้าใจถ้าเราไม่บอกให้ชัดและกำหนดขอบเขตให้ดี Dr. Jennifer Goldman-Wetzler นักจิตวิทยาองค์กรเจ้าของหนังสือ “Optimal Outcomes: Free Yourself from Conflict at Work, at Home, and in Life” เสนอวิธีในการขีดเส้นแบ่งชีวิตการทำงานและความสัมพันธ์กับครอบครัวในวันที่การทำงานและชีวิตส่วนตัวมาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวอย่าง ‘บ้าน’

  • บอกให้คนที่บ้านรู้ก่อนเมื่อมีงานสำคัญหรือมีประชุม 

อย่างแรกที่ทำได้ คือ การบอกคนในครอบครัวให้ชัดเจนว่าเราจะทำงานเสร็จเวลาไหน จะว่างเวลาไหน การบอกก่อนล่วงหน้าจะช่วยป้องกันความขัดแย้งและอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจกับคนที่บ้านได้ แถมยังช่วยป้องกันไม่ให้พ่อหรือแม่เปิดประตูห้องเข้ามาในเวลาที่เรากำลังประชุมต่อหน้าคนหลายสิบคนจนอาจจะทำให้เราเผลอโมโหจนพูดไม่ดีออกไปได้

  • จัดตารางเวลาให้ดี

แม้ว่าส่วนใหญ่การทำงานที่บ้านจะเป็นชั่วโมงที่ยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องนั่งหน้าจอตลอด 8 ชั่วโมงติดกัน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องจัดเวลาด้วยตัวเองว่าไม่ใช่ทุกเวลาที่เราจะลุกไปล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ออกไปซื้อของให้ที่บ้านได้ตลอด เพราะถ้าทำแบบนั้น เราก็อาจจะพบว่าตัวเองทำงานไม่ทันเดดไลน์ไปซะแล้ว

เมื่อจัดตารางเวลาแล้วก็ควรจะเข้มงวดกับการทำตามตารางที่วางไว้ด้วย เพราะหากไม่ทำตามตารางและยอมพ่ายแพ้ให้กับการรบเร้าของคนที่บ้าน การจัดตารางไปก็ไร้ความหมาย สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ตารางเวลาควรตรงตามความเป็นจริง หมายความว่า ในตารางเวลาไม่ควรจะมีเฉพาะเรื่องงานแต่ควรใส่กิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำในชีวิตจริงลงไปด้วยรวมถึงเวลาสำหรับครอบครัวเพื่อให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเวลาไหนที่เราอาจจะตอบแชทช้าไปสักหน่อย

ดังนั้น หากพ่อแม่เดินเข้ามาคุยด้วยหรือขอให้ทำอะไรให้ให้ตอบไปก่อนว่า “ขอเช็คตารางเวลาก่อนนะ”

  • หาพื้นที่ทำงานเงียบ ๆ ไร้สิ่งรบกวนถ้าทำได้ 

Cecile Alper Leroux รองประธานด้านนวัตกรรมการจัดการทรัพยากรบุคคลของแพลตฟอร์มการจัดหาคน Ultimate Software แนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ให้หาพื้นที่ทำงานส่วนตัวที่แยกขาดออกจากคนที่บ้านเพื่อป้องกันการรบกวนที่จะทำให้เสียสมาธิ 

ทั้งนี้ ถ้าหาพื้นที่ที่แยกขาดออกจากทุกคนในบ้านไม่ได้ก็ไม่ว่ากันเพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีห้องส่วนตัวสำหรับทุกคน Alper Leroux แนะนำว่า ถ้าต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนที่บ้าน สิ่งที่จะทำได้ก็คือการใส่หูฟังเมื่อติดงานหรือมีประชุมเพื่อทำสมาธิและส่งสัญญาณให้คนที่บ้านรับรู้ว่าเราไม่พร้อมจะคุยด้วย

นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านป้ายหรือสีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คำพูดก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่น อาจจะตกลงกับที่บ้านไว้ว่าถ้าแขวนป้ายสีแดงไว้หน้าห้องหมายถึงห้ามรบกวน สีเขียวแปลว่าพูดคุยด้วยได้ หรืออาจตกลงกันว่าถ้าปิดประตูห้องแปลว่ากำลังมีงานด่วน อย่าเพิ่งมารบกวนตอนนี้ 

  • ปล่อยให้ตัวเองพักผ่อนบ้าง

การทำงานเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำงานที่บ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทวีความท้าทายขึ้นหลายเท่า ไหนจะต้องรับผิดชอบงานให้มีคุณภาพเท่าเดิม ต้องให้เวลากับคนที่บ้าน รับผิดชอบงานในบ้านมากขึ้น แถมยังต้องจัดการกับสิ่งรบกวนและความเครียดอีกต่างหาก นอกเหนือจากสิ่งที่เราจะสามารถทำได้เพื่อหาสมดุลของงานกับบ้านแล้ว จึงควรจะต้องคิดเอาไว้ตลอดเวลาว่าตัวเองก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องจักรที่ทำงานด้วย Productivity ตลอดเวลา 

การให้อภัยตัวเองในความไม่สมบูรณ์แบบตลอดเวลาก็เป็นเรื่องที่น่าใส่ใจพอ ๆ กับเรื่องอื่น ๆ ที่พูดไปก่อนหน้านี้ ถ้าพยายามทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว การเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง และประนีประนอมกับการเป็น Perfectionist ของตัวเองก็ถือเป็นคำตอบที่ดีเหมือนกัน

ที่มา – Forbes, Fast Company, Storypick, LinkedIn

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา