ภายในครึ่งปีที่ผ่านมา Grab มียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 100% เลยต้องไปจับมือกับพาร์ทเนอร์หน้าใหม่เพิ่ม เพื่อทำ GrabRewards รายล่าสุดคือ Spotify แต่ที่น่าสนใจคือ GrabPay ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโมเดลในอนาคตของ Grab เลยทีเดียว
ธุรกิจโต 100% ในไทย ลุยเพิ่มพาร์ทเนอร์ ขยายบริการ
Grab ประเทศไทยจัดงานแถลงข่าวใน 2 ประเด็นหลักคือ หนึ่ง-ตอกย้ำความสำเร็จในธุรกิจของปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ และสอง-พูดเรื่องการจับมือกับพาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ ในประเทศไทย
ยี วี แตง ผู้อำนวยการบริษัทแกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า “Grab เป็นผู้นำแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้บริการในกว่า 103 เมือง 7 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีการขยายบริการจากปีที่แล้ว 5 จังหวัด กลายเป็น 7 จังหวัดแล้วในปีนี้ ส่วนคนขับรถที่อยู่ในแพลตฟอร์ของ Grab เพิ่มขึ้น 226% จากปีที่แล้ว (แต่ Grab เปิดเผยตัวเลขแบ่งเป็นแต่ละประเทศไม่ได้ บอกได้เพียงรวมทั้งภูมิภาคว่ามีอยู่ 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่หลักแสนราย) ส่วนยอดผู้ใช้งานมีอัตราเพิ่มขึ้น 100% ในปีนี้ (และตัวเลขนี้ก็เช่นกัน Grab ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขชัดๆ ได้)”
การเติบโตของ Grab ที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ (แต่มีนโยบายไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้) Grab ก็ยังยืนยันว่า “จะโตในอัตรานี้ต่อไปเรื่อยๆ” เพราะทิศทางในอนาคตของ Grab ประเทศไทยคือ การวางตัวเป็นผู้ให้บริการขนส่ง-เดินทางที่ต้องแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ เป็นต้นว่า ล่าสุดได้มีการไปเปิด GrabRoddaeng (แกร็บรถแดง) ที่เชียงใหม่ โดยร่วมมือกับภาคราชการในท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อส่งแพลตฟอร์มเข้าไปให้บริการ
“ที่สำคัญที่สุด Grab เชื่อว่าการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ต่างกัน แต่ในทุกพื้นที่สามารถใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาได้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเฉพาะบริการขนส่ง-เดินทางทั้งหมดของ Grab ตอนนี้จะประกอบมีตั้งแต่ GrabTaxi, GrabCar, GrabBike, GrabExpress ส่วนล่าสุดได้ส่งแคมเปญ GrabCar + ที่เป็นรถซุปเปอร์คาร์ 3 รุ่น คือ เบนท์ลี่ย์ พอร์ช และเทสล่ามาให้ผู้บริโภคทดลองใช้บริการ แต่จะมีถึงแค่วันที่ 21 กันยายนนี้เท่านั้น
แน่นอนว่าการเติบโตที่ Grab บอกว่าเป็น 100% เท่านี้ จึงทำให้ต้องเพิ่มพาร์ทเนอร์เข้ามา เพื่อทำให้ GrabRewards มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ได้เพิ่มพันธมิตรขึ้นเป็น 150 ราย ส่วนพันธมิตรรายหลักคือ Central, iflix, McDonaldsxCocaCola และนกแอร์ ส่วนรายล่าสุดที่น่าสนใจคือ Spotify ที่ Grab บอกว่าเพียงแค่ใช้บริการ Grab และกรอกคำว่า “SPOTIFYTH” ในช่วงนี้ก็จะได้ใช้บริการฟังเพลงของ Spotify แบบพรีเมี่ยมเป็นเวลา 60 วัน
จับตาดู GrabPay อาจเป็นโมเดลธุรกิจหลักในอนาคตของ Grab
อีกหนึ่งบริการของ Grab ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือ ระบบการจ่ายเงิน GrabPay ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาไม่นานนี้ ถือเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ แม้ว่าตอนนี้ในไทยจะยังเป็นบริการจ่ายเงินที่ใส่เลขบัตรเครดิต แต่ต่อไปในอนาคต มีท่าทีสูงว่าจะพัฒนาให้เป็นรูปแบบ e-wallet ของ Grab เอง พูดง่ายๆ คือรูปแบบโมเดลจะคล้ายกับบัตร e-wallet ของทรูหรือบัตรสะสมเงินเอาไว้ใช้จ่ายแบบสตาร์บัคส์นั่นเอง
เมื่อถามต่อว่าจะมีการไปพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ (ในแง่ของการทำ payment ต่างๆ) Grab ระบุว่า “มีความเป็นไปได้” เพราะต่อไปในอนาคตธุรกิจต้องดำเนินไปในทิศทางนี้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือจะไม่ได้ทำแค่ให้บริการแพลตฟอร์มขนส่ง-เดินทางเท่านั้น แต่ขยายบริการไปในภาคการเงินด้วย
ทีนี้ ถ้าดูจากสถิติของการใช้ GrabPay ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าอันดับ 1 เป็นของสิงคโปร์ที่มีผู้ใช้งาน GrabPay มากที่สุด แต่ถ้าดูสถิติของประเทศที่มีการเติบโตของการชำระเงินแบบไร้เงินสดบนแพลตฟอร์ม GrabPay มากที่สุดนั้นก็คือประเทศไทย
คู่แข่งในประเทศไทยและความท้าทาย
แม้ว่าบริการเรียกรถร่วมโดยสารอย่าง Grab จะมีคู่แข่งในตลาดไม่ว่าจะเป็น Uber ที่แม้จะเข้ามาในภูมิภาคนี้แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรืออย่างล่าสุด LINE TAXI ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดในไทย หรือเอาที่สดๆ ร้อนๆ อย่าง uberMOTO ที่เพิ่งกลับมาในตลาดไทยอีกครั้ง ก็ดูเหมือนว่า Grab จะไม่หวั่น เพราะสิ่งหนึ่งที่ Grab ยืนยันและย้ำว่าเป็นจุดเด่น นอกจากการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้แล้ว คือเป็นธุรกิจที่ขอทำงานร่วมกับภาคราชการและท้องถิ่นในกรส่งบริการ ตัวอย่างเช่น การเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐในเมียนมาร์ โดยมีทั้งภาคราชการ ธนาคาร และท้องถิ่นที่ได้ร่วมมือกัน
สำหรับการแข่งขันในประเทศไทย Grab มองว่า “ไม่ว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกกี่ราย สุดท้ายก็เป็นเรื่องดีของผู้บริโภค เพราะการแข่งขันของธุรกิจคือการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดมาให้กับผู้บริโภค”
แต่ในแง่กฎหมาย เมื่อถาม Grab ประเทศไทย ยังดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้คือ “อยู่ในกระบวนการ” ทำให้ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนในเรื่องนี้มากนัก แต่ถ้าดูจากการดำเนินธุรกิจของ Grab ในหลากหลายประเทศ เราจะเห็นว่าถึงที่สุดแล้ว Grab จะเข้าหาภาครัฐและดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ แต่ถึงอย่างไร นี่ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามองกันต่อไปแบบยาวๆ
สรุป
Grab ประเทศไทยแถลงข่าวบอกเล่าถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของการทำตลาดในไทย ตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 100% ในรอบ 6 เดือนของปี 2017 เป็นเครื่องชี้วัดว่าต้องขยายพาร์ทเนอร์เพิ่ม และมากกว่านั้นบริการก็น่าจะขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย (ในส่วนนี้ Grab มีแต่แผนว่าจะขยาย แต่รายละเอียดยังไม่เปิดเผย)
แต่สิ่งที่น่าสนใจของ Grab ถ้าวิเคราะห์จากแนวโน้มของโมเดลธุรกิจ ทำให้มองได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว Grab จะไม่เป็นแค่บริษัทที่ส่งแพลตฟอร์มและนวัตกรรมที่เป็นบริการด้านการขนส่ง-เดินทางเท่านั้น แต่จะกลายเป็นบริษัทที่ลงไปเล่นในตลาดนวัตกรรมการเงินผ่านแพลตฟอร์ม GrabPay ที่หลังจากนี้เราจะได้เห็นการรุกหนักทำตลาดมากขึ้นอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา