อ่านบทวิเคราะห์ ทำไม Uber ถึงตีตลาดเอเชียไม่สำเร็จ?

หลังจากที่มีข่าวการลาออกของ Travis Kalanick CEO ของ Uber ที่มีทั้งปัญหาในองค์กรและตัวธุรกิจเองที่เริ่มแข่งขันสู้รายอื่นไม่ได้  วันนี้เลยชวนมาอ่านบทวิเคราะห์กันว่า “ทำไม Uber ถึงตีตลาดเอเชียไม่สำเร็จ?”

ทำธุรกิจนอกพื้นที่ตัวเอง ต้องทำการบ้านให้หนัก

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าการที่ Uber ตัดสินใจขายกิจการให้กับ Didi ในจีนเป็นการแสดงความพ่ายแพ้ในแง่ของธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หลังจากที่ขายให้กับจีนแล้ว Uber ก็หันมาเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

เอาจริงๆ ถ้ามองจากสถิติแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีความน่าสนใจมากสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยี ดูได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายแห่งได้มาจดทะเบียนกันในอัตราที่สูงในแถบนี้ แถมยังเป็นภูมิภาคที่มีตลาดออนไลน์/อินเทอร์เน็ตใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 640 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีคนวัยหนุ่มสาวจำนวนมากที่เกิดและเติบโตมากับโลกยุคออนไลน์ และเป็นคนชั้นกลางที่มีกำลังใช้จ่ายสูง ดูจากภาพใหญ่นี้แล้ว Uber ที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีน่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น Uber เริ่มภูมิภาคนี้จากการเข้าไปให้บริการในสิงคโปร์ในปี 2013 และขยายไปในมาเลเซียในปีเดียวกัน บริการนี้ถ้าคนที่เคยใช้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ชาวบ้านทั่วไปในมาเลเซียประสบปัญหาอยู่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกันคือ

  1. บริการของ Uber แพงกว่าการเรียกแท็กซี่โดยทั่วไป
  2. การชำระเงิน ต้องผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น
  3. Uber ก็เหมือนกับบริการรถร่วมโดยสารอื่นๆ ในมาเลเซียที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้โดยสารหญิง และที่สำคัญ Uber ไม่สามารถแก้ปัญหาความรู้สึกในส่วนนี้ได้

Grab Taxi เกิดมาเพื่อฆ่า Pain Point ของคนในพื้นที่

ในขณะที่ Grab Taxi เมื่อเปิดตัวในปี 2012 ยกประเด็นความปลอดภัยขึ้นมาเป็นอันดับแรกเลย โดยเสนอเลยว่า “แอพพลิเคชั่นของเราจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์สถานที่ที่เดินทางได้แบบ real time” นอกจากนั้น ยังส่งมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและคนขับหญิง โดยมีปุ่มฉุกเฉินที่เชื่อมต่อไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในขณะเดินทาง และ Grab ยังแนะนำการติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์ให้กับคนขับรถที่เข้ามาร่วมใช้บริการอีกด้วย

เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการชำระเงิน Grab ประกาศรับทั้งเงินสดและบัตรเครดิต พอถึงจุดนี้ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกแล้วว่า Uber เป็นธุรกิจที่ออกแบบมาสำหรับตลาดคนรวยแล้วเท่านั้น

และยังหนักข้อขึ้นไปอีก ถ้าเราไปดูข้อมูลของ Grab Taxi ผู้ถือครองสัดส่วนบริการรถยนต์ร่วมโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ Grab Taxi เพิ่งระดมทุนเพิ่มอีกกว่า 2 พันล้านเหรียญ เพื่อพัฒนาระบบการจ่ายเงินให้ตอบโจทย์คนในภูมิภาคนี้มากขึ้น ประกอบกับปีที่แล้วที่ได้ซื้อบริษัทเทคโนโลยีในอินโดนีเซียมาเพื่อพัฒนาระบบ GrabPay

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Google และ Tamasek กองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์ ระบุว่า ตลาดบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (ride-hailing market) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่า 13,100 ล้านเหรียญในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 2,500 ล้านในปี 2015 มากกว่านั้น ทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าของตลาดนี้อยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 15%

พูดกันแบบตัดสรุปคือ ในจีนเป็น Didi อย่างแน่นอนที่ครองตลาดบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ Grab Taxi ส่วนในอนาคต Didi ก็มีแผนที่จะขยายออกสู่ตลาดโลก แต่ Uber ที่นอกจากจะตีตลาดในภูมิภาคนี้ไม่สำเร็จแล้ว ตอนนี้ยังมีปัญหาภายในและมูลค่าของบริษัท ที่ต้องจัดการอีกไม่น้อยเหมือนกัน

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา