uberMOTO กลับมาแล้ว จับมือพี่วิน ให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์

18 พ.ค. ปีที่แล้ว uberMOTO หรือระงับบริการลงชั่วคราว เพื่อหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางให้บริการแอปพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์แบบถูกกฎหมาย จนกระทั่งวันนี้ uberMOTO ได้ประกาศกลับมาให้บริการอีกครั้ง โดยร่วมมือกับวินมอเตอร์ไซค์ ให้บริการผ่านแอป Uber

uberMOTO come back!

ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber บอกว่า uberMOTO เป็นการให้บริการร่วมเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ทางเลือกการเดินทางเหมาะสำหรับกรุงเทพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัย

ในอีกทางหนึ่ง เป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ให้กับ วินมอเตอร์ไซค์ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยช่วงแรก uberMOTO จะให้บริการในพื้นที่สาทร สีลม อโศก และพื้นที่อื่นๆ ในเขตเมือง เพื่อให้คุณลองใช้บริการ uberMOTO จาก MRT หรือ BTS และเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการต่อไป

ค่าบริการเริ่ม 15 บาท

การคิดค่าบริการ แต่ละการเดินทางจะถูกคำนวณในเบื้องต้นโดยอิงจากอัตราค่าเดินทางจากระยะทางและเวลาที่จะใช้บนเส้นทางที่ดีที่สุดสู่จุดหมาย เริ่มต้นราคาค่าบริการที่ 15 บาท รวมกับค่าโดยสารตามระยะทาง 0- 5 กิโลเมตรแรกคิดราคา 5 บาทต่อกิโลเมตร และกิโลเมตรที่ 5 เป็นต้นไปจะคิดราคา 10 บาทต่อกิโลเมตร และค่าบริการตามระยะเวลาการเดินทางอีกนาทีละ 1 บาทโดยการชำระเงินสามารถเลือกชำระทั้งเงินสดหรือบัตรเครดิต

การใช้บริการทำโดยเปิดแอป Uber ระบุจุดรับ-ส่ง เลือกใช้บริการ uberMOTO กดเรียกแล้วรอพี่วินมารับ

แข่งขันหนักหน่วง อัดโปรโมชั่นดึงพันธมิตร

สำหรับตลาดให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ มีผู้ให้บริการหลายรายทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Grab Bike ที่ร่วมมือกับวินมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ขณะที่ uberMOTO หยุดให้บริการไปกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการกลับสู่ตลาดให้บริการอีกครั้ง ต้องใช้โปรโมชั่นอย่างหนัก เพื่อดึงวินมอเตอร์ไซค์ให้มาเป็นพันธมิตร

เช่น จัดโปรโมชั่นออนไลน์ครบ 10 ชั่วโมงต่อวัน การันตีรายได้ หรือ การประกันค่าโดยสารในแต่ละชั่วโมง หากค่าโดยสารน้อยกว่าที่ประกันไว้ Uber จะจ่ายส่วนต่าง หรือ การมีเงินพิเศษหากชวนเพื่อนมาเป็นพันธมิตรกับ uberMOTO และขับครบ 7 เที่ยว เป็นต้น

ไม่แน่ว่าอาจได้เห็นการแข่งขันอัดโปรโมชั่นหนักๆ กับบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์ เหมือนตอนบริการเรียกรถยนต์ ซึ่งประโยชน์ก็อยู่กับประชาชนผู้ใช้บริการ

สรุป

บริการเรียกรถโดยสารลักษณะเดียวกับ Uber ซึ่งรวมถึง uberMOTO ยังมีช่องว่างของกฎหมายที่ยังครอบคลุมไม่ถึง เป็นสิ่งที่รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร และเพื่อควบคุมผู้ให้บริการให้มีมาตรฐาน แต่ไม่ใช่การห้ามหรือสั่งปิดบริการ เพราะยิ่งบริการเรียกรถโดยสารได้รับความนิยมมากเท่าไร ก็แสดงว่า สิ่งที่มีอยู่มีปัญหาที่รอรับการแก้ไขจริงๆ

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา