Deep Tech เทคโนโลยีวัดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแห่งอนาคต แล้วไทยอยู่ตรงไหนบนเวทีนี้?

ถ้าพูดถึงวงการสตาร์ทอัพ เรามักจะได้ยินถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ ณ วันนี้โลกเดินทางมาถึงยุคของ “เทคโนโลยีชั้นสูง” หรือ Deep Tech กันแล้ว ซึ่งสิ่งนี้แหละที่กำลังจะกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการแข่งขันของโลกในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

ถ้าผู้อ่านยังไม่รู้จักว่า Deep Tech คืออะไร บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ Deep Tech กันให้มากขึ้น

Deep Tech คืออะไร?

โดยปกติเราน่าจะรู้จักกับเทคโนโลยีอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI, Blockchain ที่เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง, เทคโนโลยีสาย Cloud Computing, อุปกรณ์ IoT รูปแบบต่างๆ หรือกระทั่งเทคโนโลยี AR/VR ที่เป็นการจำลองภาพแบบเสมือนจริง

ส่วน Deep Tech ซึ่งย่อมาจากคำว่า Deep Technology หรือมีผู้แปลเป็นไทยไว้ว่า “เทคโนโลยีชั้นสูง” โดยหลักการแล้วมาจากการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ล้ำขึ้นไปอีก อย่างเช่น การนำเอา AI ผสมผสานกับ Big Data เพื่อทำให้ระบบการทำนายข้อมูลในอนาคตมีความแม่นยำมากขึ้น หรือ การนำเอาเทคโนโลยี Mixed Reality มาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ต่อยอดประสบการณ์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

แต่การจะไปถึงจุดนั้น นอกจากการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากันแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญของ Deep tech คือการมี Deep Knowledge หรือความรู้เชิงลึกที่ต้องสกัดมางานวิจัย ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีความรู้ที่จำกัดอยู่มาก กล่าวคือเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นอยู่เป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นการมุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคในด้านต่างๆ จึงเป็นโมเดลที่สามารถลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก และท้ายที่สุดผู้ที่พัฒนาแพลตฟอร์มที่ครองใจผู้บริโภคได้มากที่สุดจะเป็นผู้อยู่รอด มีสตาร์ทอัพเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถฉีกตัวเองออกมาด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองด้วย Deep Tech สมัยใหม่

การจะเข้าใจภาพรวมของ Deep Tech จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าการจะเกิดเทคโนโลยีชั้นสูงได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการสร้างความรู้เชิงลึก และการมี ecosystem ที่พร้อมต่อการพัฒนา และสุดท้ายจะนำไปสู่ความพร้อมในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

Deep Tech กับความพร้อมสำหรับการแข่งขันในอนาคต

ในปัจจุบัน ถ้าไปเปิดผลวิจัยจาก IMD ในปี 2017 จะพบว่า ความสามารถในการแข่งขันทาง “เทคโนโลยีดิจิทัล” ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในในตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศไปแล้ว

ผลการวิจัยระบุว่า หากดูที่ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว ประเทศที่เป็นผู้นำของโลกขณะนี้คือ ฮ่องกง ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ

แต่ถ้าเสริมปัจจัยเรื่อง “เทคโนโลยีดิจิทัล” เข้าไปในสมการ ผลปรากฏว่าประเทศที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านการแข่งขันทางธุรกิจกลับไม่ใช่ฮ่องกง แต่กลายเป็นสิงคโปร์ ตามมาด้วยสวีเดน สหรัฐอเมริกา และฟินแลนด์ ส่วนฮ่องกงตกไปอยู่ในลำดับที่ 7

คำถามคือ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้ คำตอบก็คือ การสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันนวัตกรรมผ่านการลงทุนใน Deep Tech และงานวิจัยเชิงลึก มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม คือเมื่อกลางปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมของประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่ากองทุนนี้จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

แล้วประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการแข่งขัน?

ถ้าใช้ข้อมูลตามผลวิจัยของ IMD หากดูเพียงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ปัจจุบันประเทศอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก แต่หากเพิ่มปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไป ประเทศไทยจะตกไปอยู่ที่ 41 ของโลก

หากถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากข้อมูลที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ การวิจัยด้าน Deep Tech ที่ยังมีความท้าทายและข้อจำกัดอยู่หลายส่วน สิ่งสำคัญคือความไม่ต่อเนื่องของภาคความรู้ นั่นคือสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจ หรือบริษัทเอกชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันคือ ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ทำงานร่วมกัน ภาคการศึกษามีองค์ความรู้อยู่มาก แต่ขาดการสนับสนุนเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่ดึงความรู้จากภาคการศึกษาไปใช้วิจัยพัฒนา ทำให้เสียโอกาสในภาพรวมของการพัฒนา Deep Tech ด้วยการเอาข้อได้เปรียบของแต่ละฝ่ายมาเกื้อหนุนกัน (Synergy) และที่มากไปกว่านั้น ต้องยอมรับว่าวงจรการสร้างความรู้ในปัจจุบันของไทยยังช้ามาก เพราะรูปแบบการเรียนในมหาวิทยาลัย 4 ปีตามหลักสูตรปกติ อาจทำให้ก้าวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการวิจัยในมหาลัย ก็อาจไมได้ตอบโจทย์ธุรกิจจริง

นอกจากนั้น ถ้าไปเทียบกับวงการเทคโนโลยีในฝั่งตะวันตกกับประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น เมืองแห่งเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาอย่าง Silicon Valley ที่มีการส่งเสริมให้เกิด ecosystem ที่ดี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังตามหลังอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปี 2018 มีการจัดงาน SILICON VALLEY DEEPTECH SUMMIT เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ในแวดวงเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และความรู้เชิงลึกจากหลากหลายวงการ ในขณะที่สังคมไทยยังไม่มีการบูรณาการความรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นเอกภาพ

แต่หากเราถอดบทเรียนของประเทศที่ประสบความสำเร็จข้างต้น จะพบว่า ความสำเร็จของสิงคโปร์ คือการมีผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่างภาครัฐที่พร้อมผลักดันและลงทุนอย่างจริงจังให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเชิงลึกอย่าง Deep Tech มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน มีกองทุนสนับสนุนต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น Early Stage Venture Fund ที่จับสตาร์ทอัพ มาแมทช์กับผู้ลงทุนได้อย่างลงตัว หรือโครงการสนับสนุนด้าน R&D ถึง 19 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือการออกนโยบาย World’s First Smart Nation

หรืออย่างอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดย 20% ของจีดีพีของประเทศ มาจากอุตสาหกรรมไฮเทค โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้าน Cybersecurity และ Fintech ยังมีภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันให้สตาร์ทอัพมีสถานะเหมือนสินค้าส่งออกสำคัญ ทั้งลดกำแพงภาษีต่าง ๆ ให้นักลงทุน รวมทั้งการสนับสนุนด้านการศึกษาในเรื่องเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเพื่อสร้างคนในประเทศ ความเชี่ยวชาญด้าน Cybersecurity ของอิสราเอลจึงเป็นที่ต้องการนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก ขณะที่ Fintech ของอิสราเอลก็เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างชาติอย่างมาก

อีกประเทศที่น่าสนใจคือ ไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลเลือกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมวิจัยนวัตกรรมเป็นตัวนำ นอกเหนือจากการเป็น OEM/ODM แบบเดิม โดยมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมกลยุทธ์หลัก ๆ คือ Internet of Things, Biotech/Medicare, Green Energy, “Smart” Machinery และ National Defense หรืออย่างอุตสาหกรรม Semiconductor ซึ่งไต้หวันเป็นผู้นำโลกมานาน ก็ผ่านการพัฒนามาจนถึงจุดนี้โดยอาศัยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์ระดับโลก เพื่อลดต้นทุนการผลิต และรองรับความเสี่ยงในการผิดพลาดทางเทคโนโลยี และยังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากต่างชาติด้วย และรัฐบาลก็ได้เริ่มวางนโยบายที่จะยกระดับประเทศให้ก้าวข้ามจุดของการเป็นผู้ผลิตตัวกลาง หรือผู้รับสั่งผลิต ไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ลงทุน และการลดหย่อนผ่อนผันด้านกฏระเบียบต่าง ๆ

แล้ว Deep Tech ในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์) ให้ความเห็นว่า “Deep Tech ในไทยยังอยู่ในขั้นของการคิดค้น พัฒนา และต่อยอด หากเทียบเรื่องการจดสิทธิบัตรนวัตกรรมกับประเทศเทคโนโลยีอื่น ๆ ในโลก ยังถือว่าน้อยกว่ามาก แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการวิจัยเชิงลึก ประเทศไทยถือว่ามีองค์ความรู้ในส่วนนี้อยู่แล้วแต่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือการเชื่อมโยงภาคการศึกษามหาวิทยาลัย กับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสกัดเอาความรู้เชิงลึกมาใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้จริง เพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันของประเทศในอนาคต”

สำหรับสังคมไทย เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของโลก หลายภาคส่วนก็เริ่มมีการขยับตัว หลายบริษัทมีการจับมือกันทำสตาร์ทอัพในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าพูดถึงการสร้างเทคโนโลยีชั้นสูงหรือ Deep Tech ในอุตสาหกรรมต่างๆ เรียกได้ว่ายังมีน้อยมากๆ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เห็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของดิจิทัล เวนเจอร์สที่ได้จับมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก่อตั้งโครงการสตาร์ทอัพที่มุ่งส่งเสริมสาย Deep Tech โดยเฉพาะ ที่มีชื่อว่า U.REKA ก็น่าจะถือเป็นฤกษ์ยามที่ดีของวงการเทคโนโลยีไทย ที่จะได้เห็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นของคนไทยเองมากขึ้น แม้ว่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ แต่การที่ภาคส่วนต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลักดัน Deep Tech ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย เพราะการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นสูงจะตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพเพื่อให้ประเทศพร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต งานนี้นักวิจัย นิสิตนักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจในการพัฒนานวัตกรรม Deep Tech สามารถรวมตัวกันและสมัครเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เลยที่ www.u-reka.co

สรุป

จะเห็นได้ว่า Deep Tech คือเทคโนโลยีชั้นสูงที่ต้องใช้ความร่วมมือของหลายภาคส่วน การส่งเสริมให้เกิด ecosystem ในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการนำเอางานวิจัยที่เป็นความรู้เชิงลึกหรือ Deep Knowledge จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกมาสู่สาธารณะเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา