DAPPER เปิดตัว “Drafted by AI” คอลเลคชั่นเสื้อผ้าใหม่ ออกแบบโดยใช้ AI มาช่วยเป็นครั้งแรก

DAPPER แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายสัญชาติไทยเปิดตัวคอลเลคชั่นเสื้อผ้าใหม่ นำ AI มาช่วยออกแบบ เผยแผนธุรกิจยังค่อนข้าง Conservative เพื่อศึกษาตลาดที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

คอลเลคชั่น Drafted by AI

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล ผู้อำนวยการธุรกิจ DAPPER เล่าให้ฟังว่า DAPPER เป็นเสื้อผ้าแบรนด์ไทยสำหรับผู้ชายเป็นแบรนด์แรก ๆ  โดยมีแนวคิดการทำเสื้อผ้าแบบ Tailor-made แต่ก็เป็น Ready to Wear ที่สามารถปรับแต่งได้ในขณะที่พร้อมใส่ได้เช่นกัน ทำให้นำเทรนด์เสื้อผ้าและมาตรฐาน รวมทั้งวิธีการเก็บและศึกษาข้อมูลลูกค้าของแบรนด์ต่างประเทศมาใช้ 

เนื่องจากปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีและ AI แบรนด์จึงมองว่าสามารถนำ AI มาต่อยอดฐานเดิมได้ นำมาสู่การเปิดตัวคอลเลคชั่น “Drafted by AI” เป็นคอลเลคชั่นนำร่องที่ใช้ AI เข้ามาช่วยทำงานผ่านการทำ 3D Modelling สำหรับการออกแบบเสื้อผ้าก่อนส่งแบบให้ตัดเย็บเพื่อลดขั้นตอนการแก้ไขที่ซับซ้อน

นรบดี ศรีหะจันทร์ Senior Manager Product Development เผยว่า คอลเลคชั่น Drafted by AI ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เหนือจริง (Surrealism) ที่สร้างด้วย AI ประกอบกับการสร้างลวดลายแบบภาพวาดกำแพงหรือ Graffiti ที่วาดโดยนักออกแบบ โดยใช้ผ้าทอและการพิมพ์ลาย เสื้อผ้ามีทั้งแบบ Casual Wear และ Formal Wear ที่เป็นชุดสูทที่ออกแบบให้ดูมีความสบายมากขึ้น รวมทั้งยังมีสินค้านอกเหนือจากเสื้อผ้าด้วย คือ กระเป๋าและพวงกุญแจโลหะ

นอกจากการใช้ AI ในการออกแบบแล้ว DAPPER ยังใช้เก็บข้อมูลการตลาดและวางแผน Merchandising ผ่านช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำเรื่องการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ เก็บข้อมูลเพื่อทำสต็อกสินค้าและวางแผนการขนส่ง ศึกษาพฤติกรรมการซื้อ รวมถึงเลือกและปรับเปลี่ยนไซส์เพื่อให้ลูกค้านำไปใส่ได้เลยเนื่องจากในปัจจุบัน ลูกค้าต้องการเลือกซื้อเสื้อผ้าหลายแบรนด์ตามแต่ละโอกาส DAPPER จึงต้องการออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถนำไปใส่ร่วมกับแบรนด์อื่นหรือสร้างลุคที่หลากหลายได้ 

DAPPER ยังนำ AI มาออกแบบเว็บไซต์เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่าย เสนอสินค้าและโปรโมชันได้ตรงตามความต้องการลูกค้า ให้เว็บไซต์ทำหน้าที่เป็น Vishual Store ก่อนที่ลูกค้าจะเข้าไปยังหน้าร้าน รวมทั้งนำ AI มาใช้ในการตอบแชทร่วมกับพนักงานด้วย

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล เผยว่า บริษัทได้เริ่มศึกษาและใช้ AI ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะมีต้นทุนต่ำจากแพลตฟอร์ม AI ที่เปิดให้ใช้อยู่หลายเจ้า ส่วนแผนในอนาคต ไม่ได้จะนำ AI มาใช้แทนพนักงานแต่นำมาช่วยลดขั้นตอนที่ต้องทำงานซ้ำเพื่อให้พนักงานได้ไปทำงานที่ต้องการทักษะที่เหนือกว่า AI ทั้งนี้ บริษัทก็ต้องปรับตัวในเรื่องการพัฒนาทักษะให้พนักงานด้วยซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากในการลองผิดลองถูก 

ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล มองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแฟชั่นที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากอยู่แล้วและเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากแบรนด์ ในส่วนของ DAPPER จะเน้นไปที่การลดการผลิตสินค้าเกินจริงเพื่อลดการเหลือทิ้ง ทำให้ขั้นตอนการผลิตต้องทำอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังลดขั้นตอนที่มีผลกระทบต่อโลก เช่น จากเดิมที่ใช้หนังแท้ มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เศษหนังเก่าเพื่อมาทำสินค้าใหม่ ผลิตสินค้าที่น้ำหนักเบา ดูและง่าย ส่วนการผลิตเสื้อผ้าที่มีลาย มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการพิมพ์ผ้าเพื่อลดการสร้างเศษผ้าเหลือทิ้ง รวมทั้งใช้เทคนิคดิจิทัลปริ้นท์ร่วมด้วย 

สำหรับคอลเลคชั่น Drafted by AI เนื่องจากเป็นผ้ายีนส์ที่ต้องฟอกสี แบรนด์ได้ลดขั้นตอนการฟอกย้อมเคมีลงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการระคายเคืองต่อผิว 

ภาพรวมธุรกิจ DAPPER

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล เล่าให้ฟังถึงภาพรวมธุรกิจของ DAPPER ว่า ในปีนี้ DAPPER ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ราว 500 ล้านบาท จากในปีที่แล้วที่อยู่ที่ราว 400 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าการขายให้แม่นยำโดยขายเพิ่มขึ้น 15-20% ในช่วงระยะเวลาเท่าเดิม

เป้าหมายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ต้องการให้สินค้า 40-50% ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ส่วนการขยายธุรกิจเพิ่มเติม อาจจะเป็นการเข้าสู่ตลาดเสื้อผ้ามือสอง เพิ่มบริการให้เช่าเสื้อผ้าและแลกคืนเสื้อผ้าเพื่อยืดเวลาการใช้งานได้ยาวกว่าเดิมเพราะต้องการลดการผลิตแต่ทำให้สินค้ามีชีวิตได้ยาวขึ้น

ปัจจุบัน ยอดขายเสื้อผ้า Casual Wear มีสัดส่วน 60% เทียบกับยอดขาย Formal Wear ที่ 40% ในอนาคต คาดว่าสัดส่วนยอดขาย Casual Wear จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 70% ส่วนการขายเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง ปัจจุบันมีอยู่ในสัดส่วนเล็กน้อยและยังไม่มีแผนที่จะขยายเพิ่มในอนาคต

ในเรื่องพฤติกรรมการซื้อ ฐานลูกค้าหลักอยู่ระหว่างอายุ 25-35 ปี มีฐานลูกค้าหลักที่เป็น Active Member ที่แบรนด์นำข้อมูลมาประมวลผลอยู่ตลอดเวลาเพื่อศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมลูกค้าอยู่ประมาณ 100,000 ราย ตอนนี้ DAPPER มีสาขาในประเทศไทย 55 แห่ง ส่วนในต่างประเทศมีตัวแทนจำหน่ายที่กัมพูชา 3 สาขา ทำให้มีลูกค้าต่างชาติประมาณ 15% ในประเทศเพื่อนบ้าน ในปีหนึ่งจะขยายสาขา 3-5 แห่งในไทย ส่วนเม็ดเงินลงทุนในแต่ละสาขาอยู่ที่ประมาณ 700,000-1,000,000 บาท ไม่ต้องลงทุนกับโครงสร้างมากเพราะส่วนใหญ่เปิดหน้าร้านในห้างสรรพสินค้า 

เนื่องจาก DAPPER เป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย ความถี่ในการซื้อสินค้าของลูกค้า DAPPER จะซื้อเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ต่างจากลูกค้าแบรนด์อื่นที่จะซื้อ 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง ส่วนยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบิลจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาททั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจ ศิริทิพย์ ศรีไพศาล กล่าวว่า แผนธุรกิจของ DAPPER ค่อนข้าง Conservative คือใช้เวลาระยะหนึ่งในการศึกษาทิศทางตลาดเพราะเทรนด์ของเสื้อผ้าเปลี่ยนแปลงบ่อย

อย่างการขยายสาขาออกสู่ต่างประเทศเพิ่มเติมจะทำผ่านพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีความรู้ในตลาดนั้น ๆ ดีอยู่แล้ว โดยมีประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน ส่วนการออกสินค้าใหม่ก็อาจจะรอให้แบรนด์ใหญ่ที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศบุกเบิกตลาดไปก่อน 1-2 ปี เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้าและพร้อมที่จะเปิดรับสินค้าใหม่ ๆ และมีกลุ่มลูกค้าเพียงพอ 

ศิริทิพย์ ศรีไพศาล มองกลุ่มลูกค้าของ DAPPER ว่าเป็นคนที่ใส่ใจในการดูแลตัวเองและการแต่งตัว แต่อาจจะไม่ใช่กลุ่ม Trend Setter ที่เป็นผู้ริเริ่มการแต่งตัวแบบใหม่ ส่วนในอนาคต มองว่าเสื้อผ้าจะไร้เพศ (Genderless) และลูกค้าจะไม่ซื้อสินค้าเฉพาะแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น เพราะต้องการความหลากหลาย กลยุทธ์ของ DAPPER จึงเป็นการออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะกับการ Mix and Match ได้ง่ายและสร้างได้หลายลุค และระมัดระวังการเสนอขายที่มากเกินไปจนแบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ขาดความจริงใจกับลูกค้า 

ที่มา – DAPPER

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา