Dapper แบรนด์เสื้อผ้า และเครื่องหนังสัญชาติไทย กับภารกิจปลุกความเนี้ยบให้ผู้ชายยุคใหม่

ตอนนี้แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทยเริ่มปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ และหันมาทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Dapper แบรนด์เสื้อผ้า และเครื่องหนังที่เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 1979

หากนึกไม่ออก Dapper คือแบรนด์เสื้อผ้า และเครื่องหนังสำหรับผู้ชายที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Formal Essential, Smart Casual, Functional, Trendy Fashion, Innovation, และสินค้า Sustainability  ทั้งยังมีประเภทสินค้าที่ครอบคลุมเท่าที่แบรนด์แฟชั่นสำหรับผู้ชายจะมีได้ ตั้งแต่เสื้อผ้าทั้งลำลองและทางการ, กางเกงชั้นใน, กระเป๋า, รองเท้า และสินค้า Accessory เช่น เข็มขัดหนัง, น้ำหอม, นาฬิกา เป็นต้น

Dapper มากับเป้าหมายแบรนด์ Lifestyle ที่ผู้ชายทุก Gen เข้าถึงได้ กับกลยุทธ์ใหม่ใช้ E-Angpao IG filters เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงตรุษจีน รายละเอียดจะเป็นอย่างไร Brand Inside ได้พูดคุยกับ ศิริทิพย์ ศรีไพศาล ผู้อำนวยการธุรกิจ และผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของ Dapper ดังนี้

Dapper

Dapper กับธุรกิจที่เริ่มต้นจากความเนี้ยบ

ศิริทิพย์ เล่าให้ฟังว่า Dapper เกิดจากความพยายามของคุณพ่อ ศิริชัย ศรีไพศาล ต้องการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายสำเร็จรูป ไม่ต้องรอตัดเย็บใหม่ โดยพื้นฐานครอบครัวซึ่งเป็นห้องเสื้อ Tailor-made ทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้ต้องคงคุณภาพระดับ Tailor-made และด้วยสไตล์การเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษที่มีความเนี้ยบ จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ Dapper ที่หมายถึง เนี้ยบ และเป็นระเบียบ จากคุณภาพของสินค้า กับราคาที่เอื้อมถึงได้ ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว มีสาขาเกือบทุกห้างสรรพสินค้า แต่ด้วยระยะเวลาเปลี่ยนไป คุณภาพสินค้าอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ ต้องมีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยวางตำแหน่งแบรนด์เป็น แบรนด์ Lifestyle ที่ผู้ชายทุก Gen เข้าถึงได้

ปัจจุบัน Dapper มีหน้าร้านมากกว่า 50 สาขาทั่วไทย ทั้งพื้นที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เซ็นทรัล โรบินสัน สยามพารากอน เดอะมอลล์  รวมถึงเครือห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ และสาขาแบบ Standalone โดยแบรนด์ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าและกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว DAPPER มีกลยุทธ์ใหม่ ๆ อะไรบ้างที่ทำให้เป็นแบรนด์ที่ครองใจทุก Gen บทความนี้จะสรุปให้ทุกท่านได้ดูกัน

dapper

พัฒนาสินค้าเจาะตลาดลูกค้า Gen Z

โดยกลุ่มลูกค้ามีทุก Generation ตั้งแต่วัยรุ่น 15 ปี จนถึงวัยเกษียณ โดย 50% เป็นผู้ชายอายุตั้งแต่ 30 ปี นับเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่ต้องเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายทุกกลุ่มทุกวัยที่มีความต้องการแตกต่างกัน แต่ชื่นชอบในแบรนด์ DAPPER เหมือนกันดังนั้นการจะเติบโตในอนาคตได้ต้องสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Z ให้ได้

“ในช่วงฤดูร้อนของปี 2023 นี้ Dapper มีแผนเปิดตัว Summer Capsule Collection ซึ่งเป็นการ Collaboration กับแบรนด์ Beach Wear ยอดนิยมของกลุ่มวัยรุ่น การร่วมมือครั้งนี้จะสร้างลุคซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ที่ดึงจุดเด่นของแบรนด์ DAPPER และแบรนด์ที่เรา Collaboration เข้าด้วยกัน สินค้าก็จะมีสไตล์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น และลูกเล่นให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในช่วงซัมเมอร์ ทั้งการออกไปท่องเที่ยว เทศกาลในช่วงนั้น ขอให้ติดตามคอลเลกชันพิเศษที่จะสร้างสีสันให้กับแฟชั่นไทยรับซัมเมอร์ปีนี้“

การที่ Dapper ดำเนินการสู่เป้าหมายครองใจคนทุก Gen ได้ เพราะ Dapper เป็นไม่กี่แบรนด์ในแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายไทยที่มีสินค้าตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ประกอบไปด้วย

Formal Essential สินค้าทางการที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เช่น เสื้อเชิ้ต, เสื้อสูท,  และกางเกงทำงานที่ขายดีมาจนถึงปัจจุบันด้วยแพทเทิร์นที่อิงตามสรีระชายไทยโดยเฉพาะ ทำให้ใส่แล้วเสริมรูปร่างให้ดูดี, กระเป๋าใส่เอกสาร

Smart Casual สินค้าลำลอง เช่น เสื้อเชิ้ตฮาวายพิมพ์ลาย ที่มีลายใหม่คอยอัพเดทในทุก ๆ เดือนให้ลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ได้จับจอง, กระเป๋าสะพายข้าง, กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ

Trendy Fashion สินค้าตามเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้น และเอื้อให้ลูกค้า mix & match ในแบบของตัวเองได้

Functional นอกจากความสวยงาม แบรนด์ยึดหลัก Function และ Fashion ควบคู่กันในทุกสินค้า เช่น กระเป๋าต้องใช้งานได้จริง มีช่องจัดระเบียบในกระเป๋า, ใช้วัสดุที่สามารถลดการเกิดรอยขีดข่วนได้

Innovation นวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้น เช่น ผ้า Bamboo Blend สัมผัสนุ่ม ช่วยลดแบคทีเรีย, ผ้า No More Iron รีดง่าย ยับยาก

Sustainability การใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ค่านิยมของคนในปัจจุบันที่ต้องการความยั่งยืนและลดปริมาณขยะจากการผลิต เช่น Tech Leather ที่นำหนังจากการผลิตมาอัดเป็นหนังชิ้นใหม่

ซึ่งปัจจุบัน Dapper มีการพัฒนาสินค้าสำหรับลูกค้าคนรุ่นใหม่ ทั้งมีแผนพัฒนาสินค้ากลุ่ม Athleisure เสื้อผ้าแอคทีฟแวร์ที่เน้นความคล่องตัวที่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ แต่ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อออกกำลังกายเท่านั้นจนใส่ในชีวิตประจำวันได้ยาก รับกับกระแส Sports Fashion ที่กำลังเติบโตอยู่ในตอนนี้

รวมถึงประเภทสินค้าที่ครบครัน ตั้งแต่เสื้อ, กางเกง, กางเกงชั้นใน, รองเท้า, กระเป๋า, กระเป๋าสตางค์ และสินค้า Accessory เช่น เข็มขัดหนัง, น้ำหอม, นาฬิกา และอื่น ๆ เรียกได้ว่าถ้าไปร้าน DAPPER คุณจะได้สินค้าครบทั้งลุคตั้งแต่หัวจรดเท้ากลับไปอย่างแน่นอน

Dapper
ภาพหน้าร้านจัดแคมเปญ #iFeelDapper CNY และ AR Instagram filters

โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยี AR แจก E-Angbao ช่วงตรุษจีน

หากเจาะไปที่เรื่องเทคโนโลยีจะพบว่า Dapper พยายามสื่อสารแบรนด์ผ่านแคมเปญต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย เช่น แคมเปญ #iFeelDapper เมื่อปี 2022 ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ให้ลูกค้าถ่ายภาพตัวเองกับสินค้าในร้าน Dapper สาขาต่าง ๆ และแชร์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อรับส่วนลด เกิดเป็นคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้บริโภคตัวจริง หรือที่เรียกว่า User-generated Content ช่วยสร้าง WOM (Word-of-Mouth marketing) การบอกต่อถึงแบรนด์, สินค้า และบริการพนักงาน  และเพิ่มการรับรู้ของสาขาต่าง ๆ ของ Dapper ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องบรรยากาศที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จจากการที่ มีลูกค้าซื้อสินค้าโดยร่วมกิจกรรมมากกว่า 1,400 ใบเสร็จ ในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์แรกของแคมเปญ และยังช่วยผลักดันยอดขายเพิ่มจากเดือนก่อนหน้าถึง 30%

ล่าสุด Dapper เปิดตัวแคมเปญตรุษจีนที่ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยเพิ่มความสนุก 2 แบบคือ

  • E-Angpao Games Filter: ที่ให้ลูกค้าร่วมสนุกผ่านการเล่นเกมรับอั่งเปาแล้วแชร์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อแลกรับส่วนลดสินค้า
  • Virtual Try on CNY Collection Filter: ที่ให้ลูกค้าลองสินค้าคอลเลกชันใหม่ ช่วยโปรโมทสินค้าของแบรนด์อีกทาง

ถือเป็นการกระตุ้นยอดขายของ Dapper ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากได้ฐานลูกค้าเดิมมาร่วมสนุก ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าใหม่เข้ามารู้จักแบรนด์มากขึ้น และเพื่อการเกิด O2O (Online to Offline Marketing) โดยลูกค้าอาจจะใช้ฟิลเตอร์ลองเสื้ออยู่ที่บ้าน ดูว่าเหมาะกับสีกับดีไซน์หรือไม่ แล้วไปที่หน้าร้าน ณ สาขา เพื่อลองและซื้อสินค้าจริง หรือช่วยให้ไอเดียกับลูกค้าในการซื้อสินค้า Online ที่ไม่สะดวกไปหน้าร้านว่าใส่ออกมาแล้วจะเป็นประมาณไหน

นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะผสานการสื่อสารกับลูกค้าออนไลน์กับ Dapper Mascot Communication ที่สื่อสารกับลูกค้าด้วยคนจริง ๆ ไม่มีการใช้ระบบอัตโนมัติ แต่มีการโต้ตอบด้วยคาแรคเตอร์บุคลิกแบบ Dapper ทั้งหมด ทำให้ผู้ซื้อได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง ที่ยังคงได้สื่อสารกับคนจริง ๆ ที่มีความเข้าใจในความต้องการและปัญหาของลูกค้า ขณะเดียวกันก็มีสื่อสารในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเสริม Brand Personality ภาพลักษณ์ของแบรนด์

“ความท้าทายของเราคือการกำหนดให้ Dapper เป็นคนแบบไหน พูดจาอย่างไร เพราะลูกค้าในประเทศไทยชอบการ Chat & Shop มากกว่าการกดซื้อเองบนเว็บไซต์ ดังนั้นถ้าเรากำหนดเรื่องนี้ได้ โอกาสสร้างการจดจำ และความไว้ใจในการซื้อสินค้าออนไลน์กับ Dapper ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

Dapper

จำหน่ายในรูปแบบ Omni Channel

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจค้าปลีกประสบปัญหาช่องทางจำหน่าย Dapper คือหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าได้ จึงเดินหน้าพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์เต็มรูปแบบทั้งเว็บไซต์ DAPPER.com และแพลตฟอร์มยอดนิยม Lazada, Shopee, Central Online รวมถึงจัดการระบบคลังสินค้าใหม่เพื่อกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทุเลา Dapper จึงเดินหน้าทำตลาดผ่านช่องทางแบบ Omni Channel หรือการผสานช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เช่น จูงใจให้ลูกค้าเลือกดูสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ก่อนปิดการขายที่หน้าร้านในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

สำหรับหน้าร้านของ Dapper มากกว่า 50 สาขาจะอยู่ในแผนกเสื้อผ้าของห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และ สยามพารากอน เป็นต้น ส่วนหน้าร้านแบบ Stand Alone จะมีอยู่บ้าง เช่น แฟชั่นไอซ์แลนด์, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ที่มีการปรับโฉมใหม่ให้มีความพรีเมียม รวมถึงโฟลว์ของสินค้าทุกประเภทในร้านเมื่ออยู่ร่วมกัน และเอาท์เล็ทมอลล์ พัทยา เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ เพราะหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า และยังกระจายสาขาไปยังพื้นที่ที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า เมื่อเทียบกับหน้าร้าน Stand Alone ที่มีค่าเช่า ใช้เวลาในการเตรียมการเข้าพื้นที่นาน

อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นคือ ถึงแม้จะเป็นหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าแต่ลูกค้าก็ยังได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งระดับพรีเมียม จากดีไซน์หน้าร้าน การจัดVM (Visual Merchandising) และสินค้า เช่น ในตัวเมือง ในสถานที่ท่องเที่ยว หรือต่างจังหวัด ก็จะแตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะสมกับสาขานั้น ๆ

Dapper

ยกระดับงานบริการด้วย WOW service experience

หนึ่งในกลยุทธ์ในการทำธุรกิจในปี 2023 ของ Dapper คือ วางแผนยกระดับงานบริการให้ดีขึ้นอีกระดับทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ผ่านการอบรมพนักงานขายกว่า 150 ชีวิตให้เป็น Super PC หรือพนักงานขายที่เป็นมากกว่าผู้ขาย แต่คือผู้ให้บริการที่น่าประทับใจและมีความเฉพาะเจาะจงกับลูกค้าแต่ละคนได้

“เราให้ความสำคัญกับพนักงานขายมาก โดย Super PC หลัก ๆ จะเป็นเรื่องการสร้าง WOW factors ในบริการให้ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ เช่น ขากางเกงควรตัดยาวเท่าไร และเจาะรูเข็มขัดอย่างไร การบริการหลังการขาย เป็นต้น ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกค้า แต่ละคนจะมีข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน การที่พนักงานจำรายละเอียดตรงนี้ได้ ถึงจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ก็ทำให้เกิด WOW experiences ความประทับใจของลูกค้าต่อแบรนด์ เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่คาดคิดว่าจะได้รับ

จุดเริ่มต้นของการเดินหน้าสร้าง Super PC มาจากการที่ Dapper มีนักขายที่เก่งอยู่หลายคน และพนักงานขายทุกคนของแบรนด์สามารถให้บริการที่ดีให้กับลูกค้าได้อยู่แล้วตามมาตรฐาน แต่หากต้องการให้แบรนด์มีการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นต้องสร้าง Super PC ให้มีมากขึ้น โดยสร้างมาตรฐานใหม่ของการบริการที่เหนือระดับไปอีกขั้น เพื่อมอบ Experience ที่ดีให้กับลูกค้า และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาพรวมธุรกิจ

Dapper
โรงงานผลิตเครื่องหนังของ Dapper ในประเทศไทย

วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยกระดับการบริหาร

ด้วยภาพรวมตลาดเสื้อผ้าผู้ชายแบบ Formal มีขนาดตลาดเล็กลงต่อเนื่อง เช่น จากมีกว่า 20 แบรนด์ เหลือเพียงหลัก 10 แบรนด์ ทำให้บริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีมายกระดับการบริหารจัดการ Sell-Through ให้มีรูปแบบ  Real Time ที่เน้นความเร็วมากขึ้น รวมถึงการทำระบบสมาชิกแบบ Cardless เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

“เราเลิกทำสินค้าเพื่อขายลดราคามานานแล้ว เพราะไม่ต้องการสร้างสินค้าสองเกรดให้ลูกค้า สินค้าทั้งหมดจะมีคุณภาพเดียวกัน ทำให้ตอนนี้เราบริหารสินค้าแค่ 3 เดือน ถ้าเกินกว่านั้นสินค้าที่ยังมีอยู่ในสต็อกจะถูกรวมไซส์ และนำไปเซลแทน ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้สต๊อกเราไม่บวม ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ และเรามีการพัฒนาสินค้าโดยอ้างอิงจากข้อมูลการซื้อของลูกค้าเช่นกัน”

การทำแบบนี้ได้ Dapper มีการพัฒนาระบบสต๊อกแบบ Real Time สามารถดึงข้อมูลสินค้าทุกตัวมาดูได้ ทั้ง สี, ไซส์ และดีไซน์ เพื่อประเมินว่าจะนำไปลดราคา หรือทำเพิ่มเพื่อสร้างยอดขาย และการทำระบบสมาชิกที่อยู่บนออนไลน์ 100% ทำให้บริษัททำ CRM (Customer relationship management) แบบ Personalization ส่งโปรโมชัน, สิทธิพิเศษ เพื่อลูกค้าแต่ละคนได้ และหากลูกค้าจะซื้อสินค้าก็เพียงแจ้งเบอร์โทรศัพท์เพื่อสะสมคะแนน โดยปัจจุบัน Dapper มีข้อมูลสมาชิกอยู่กว่า 2 แสนราย

dapper

ลงลึกในทุกรายละเอียดเสริมแกร่ง Lifestyle Brand

อีกจุดที่เสริมส่งเป้าหมาย แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ผู้ชายทุกเจนเข้าถึงได้ คือการคงคุณภาพ และรายละเอียดการตัดเย็บ รวมถึงการเลือกใช้เนื้อผ้าระดับพรีเมียมที่ทำให้ Dapper ครองใจลูกค้าทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ทั้งยังประกาศไม่ขึ้นราคาสินค้าในปี 2023 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในวิกฤตเศรษฐกิจช่วงนี้

“สินค้าเสื้อผ้าเราใช้โรงงานคุณภาพในการตัดเย็บ ส่วนสินค้าเครื่องหนัง เช่น เข็มขัด, กระเป๋าสตางค์ และรองเท้า จะผลิตโดยฝีมือคนไทยที่โรงงานในประเทศไทย จึงการันตีเรื่องคุณภาพของสินค้า มั่นใจได้ว่า Dapper เป็นสินค้าคุณภาพสูง ไม่มีการลดคุณภาพสินค้า เหมือนกับตลาดเสื้อผ้าที่เริ่มแข่งขันเรื่องราคา และลดคุณภาพเพื่อคงกำไร”

ทั้งนี้ Dapper ยังมีลูกค้าผู้หญิงอีก 30% ที่มักซื้อแทน และซื้อเป็นของขวัญให้ผู้ชายที่รัก หรือหัวหน้าในบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องหนังที่ได้รับความนิยมในการซื้อเป็นของขวัญ ลูกค้าผู้หญิงถือเป็นลูกค้าที่มีปฏิสัมพันธ์ Engagement กับแบรนด์มาก ทั้งทางโซเชียลมีเดียคอยติดตามข่าวสาร ไลค์ แชร์, สอบถามข้อมูลจากแอดมิน และเข้าไปที่สาขาหน้าร้าน ทำให้ลูกค้าเชื่อมันเรื่องคุณภาพ ทำให้พวกเธอกลับมาซื้อซ้ำ และเมื่อนึกถึงสินค้าเพื่อให้ผู้ชาย สินค้า Dapper คือสิ่งที่ทำให้ผู้รับประทับใจแน่นอน

Dapper
ศิริทิพย์ ศรีไพศาล ผู้อำนวยการธุรกิจ และผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของ Dapper

กลับมาที่จุดเริ่มต้นของความเนี้ยบที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกระดับ

ความเนี้ยบที่หลากหลาย จากเดิมที่ความเนี้ยบจะอยู่ที่การแต่งกายแบบทางการ หรือ Formal แต่ปัจจุบันความเนี้ยบหมายถึงเรื่องสไตล์ และการใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า ซึ่ง Dapper มีการทำเสื้อผ้าที่ดูสนุก และสวมใส่ได้ในโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น

“เมื่อก่อนผู้ชายแบบ Dapper หรือ Dapper Men คือคนที่ชื่นชอบการแต่งตัวเนี้ยบ และเน้นสวมใส่เสื้อผ้าทางการ แต่หลังจากนี้เราจะทำให้ความเนี้ยบที่เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้นด้วยการผสานเครื่องแต่งกายแบบ ลำลอง และ ทางการ เพื่อให้พวกเขาสามารถ Mix & Match กับสินค้าที่พวกเขาชื่นชอบได้อย่างลงตัว”

การเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ทาง Brand inside ได้ถามคุณ ศิริทิพย์ ว่าการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เกิดขึ้นและแผนที่กำลังจะเกิดนั้นคุณพ่อ (ศิริชัย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ DAPPER) มีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ก็ได้ความว่า

“การเดินหน้าปรับภาพลักษณ์ Dapper แพรว (ศิริทิพย์) มีโจทย์สำคัญที่ได้มาจากคุณพ่อ (ศิริชัย) คือ มาตรฐาน Dapper ต้องยังคงความเนี้ยบและคุณภาพของสินค้าให้เหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้นี้ที่แบรนด์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 รวมถึงเรื่องของแพทเทิร์นที่ออกแบบเพื่อให้เข้ากับสรีระชายไทยโดยเฉพาะ แต่ตัวแบรนด์ไม่จำเป็นต้องคงรูปแบบเดิม เป็น DAPPER ที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัยและลูกค้า ปัจจุบันจึงเห็น Dapper มีเสื้อผ้าที่ดูสนุก และไม่เป็นทางการเกินไป สามารถใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น”

สรุป

กลยุทธ์ธุรกิจ Dapper ในปี 2023 แสดงให้เห็นถึงองค์กรอายุ 44 ปี ที่ไม่กลัวการปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ พร้อมนำเทคโนโลยีในหลากหลายแง่มุมเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ แต่ยังคงถึงจุดแข็งเรื่องคุณภาพ และการออกแบบสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า คงความเชื่อใจไว้ไม่เสื่อมคลาย

ยิ่ง Dapper มีความหลากหลายของสินค้า และมีการบริหารสต็อกแบบ Real Time ที่หมุนเวียนสินค้าใหม่อย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายแบรนด์อื่นในไทยอย่างชัดเจน และก้าวไปสู่เป้าหมายแบรนด์ Lifestyle ที่ครองใจผู้ชายทุก Gen ได้อย่างมั่นคง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา