ถึงเวลาเลิกพกเงินสดไป “ห้างเซ็นทรัล” เพราะต่อไปจะจ่ายผ่าน QR Code ได้ทุกร้านค้า

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN จับมือ 6 ธนาคาร เดินหน้าติดตั้ง QR Code Payment ในร้านค้าของเครือเซ็นทรัลกว่า 32 สาขา กระตุ้นสังคมไทยไปสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัว

Photo: Shutterstock

เลิกพกเงินสดไปห้าง! เซ็นทรัลจับมือ 6 ธนาคารดัน QR Code ใช้จริง

ถือเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ที่ต้องจับตามอง เมื่อค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของไทย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้นำด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของไทยร่วมมือกับ 6 ธนาคารได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อติดตั้ง QR Code Payment ในร้านค้าของเครือเซ็นทรัล ทั้งในเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซ่า และเซ็นทรัลเฟสติวัล

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บอกว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการยกระดับประสบการณ์ของวงการค้าปลีก ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด”

ตัวเลขที่น่าสนใจ ปกรณ์ ให้ข้อมูลว่า วงการค้าปลีกไทยตอนนี้ใช้เงินสดกันมากถึง 75% ส่วนอีก 25% ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต-เดบิตและ QR Code ที่เพิ่งเริ่มมาเมื่อปลายปี 2017

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ล้วนเป็นภาพที่ปกรณ์ต้องการจะให้ประเทศไทยไปให้ถึง อย่างเช่นในประเทศสวีเดนมีการใช้เงินสดในช่วง 5 ปีที่ผ่าน ลดลง 50% และในปี 2020 อัตราการใช้เงินสดจะลดลงเหลือ 0.5% เท่านั้น ส่วนในวงการค้าปลีกจีนมีการใช้จ่ายผ่าน QR Code ในอัตราที่สูงมาก เช่น 68% ในร้านสะดวกซื้อชำระเงินผ่าน QR Code ส่วนในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป คิดเป็น 63% และอีก 62% ในห้างสรรพสินค้า

  • สำหรับประเทศไทย พูดง่ายๆ คือ รอบนี้เซ็นทรัลผลักดันเต็มที่เพื่อให้คนไทยไม่ต้องพกเงินสดไปซื้อของในทุกห้างของเครือเซ็นทรัล โดยเฉพาะร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

ไตรมาสแรกปีนี้ เริ่มต้นที่รายเล็ก-รายย่อยในเครือเซ็นทรัลก่อน 4,000 ร้านค้า

แผนการกระจาย QR Code Payment ในห้างของเครือเซ็นทรัล ทั้งในเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซ่า และเซ็นทรัลเฟสติวัลกว่า 32 สาขาทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกับ 6 ธนาคารในไตรมาสที่ 1 ของปี 2018 จะขยายติดตั้งการใช้ QR Code Payment ไปใน 4,000 ร้านค้ารายเล็ก-รายย่อย

เฟสแรสจะแบ่งเป็น

  • ร้านค้าแบรนด์แฟชั่น 822 แบรนด์
  • ร้านค้าไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ 805 แบรนด์
  • ร้านค้าแบบ Kiosk และผู้เช่ารายย่อยกว่า 1,500 ร้านค้า ได้แก่ Giordano, Guy Laroche, Swatch, Havaianas, Kyo Roll En, Simply W, Mezzo Coffee, Sfree, DOITUNG, Poli-Chem Car
    Wash, The Rink Ice Area และ Pororo Aquapark Bangkok

ส่วนแบรนด์ร้านค้ารายใหญ่ เซ็นทรัลจะไม่ผลักดันมากในเฟสแรก เพราะเชื่อว่ามีศักยภาพในการปรับตัวอยู่แล้ว แต่จะช่วยส่งเสริมผ่านโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ ในเฟสต่อไปของปีนี้

Photo: Shutterstock

ประเด็นคือ หลังจากนี้ธนาคารจะแข่งกันในภาคค้าปลีกเดือดขึ้น

ประโยชน์อย่างแรกที่จะได้รับคือ ผู้บริโภค จะสะดวกมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย เพราะจ่ายเงินด้วย QR Code สะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินไปห้างเซ็นทรัล ร้านค้าผู้ประกอบการ (โดยเฉพาะร้านเล็ก-รายย่อย) จะลดต้นทุนในการจัดเก็บเงินสด ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทอนหรือเงินปลอม เพราะจ่ายผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด และสองปัจจัยนี้จะส่งผลต่อ วงการค้าปลีก โดยรวมที่จะเติบโตขึ้นอีกจากความสะดวกสบายและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะได้จากการจ่ายเงินผ่าน QR Code

ส่วนวงการที่จะแข่งกันหนักขึ้นคือ วงการการเงินและการธนาคาร เพราะจริงอยู่ที่ประเทศไทยใช้ QR Payment มาตรฐานเดียว คือสามารถชำระเงินผ่าน QR Code ได้ทุกธนาคาร แต่ในด้านการแข่งขันจะไปตกอยู่ที่ “โปรโมชั่น” ของแต่ละธนาคาร ว่าจะส่งโปรอะไรออกมาเอาใจผู้บริโภค และแม้กระทั่งตัวร้านค้าก็ต้องเลือกว่าจะอยู่กับค่ายไหน สีไหน จะได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุด เพราะฉะนั้น ธนาคารแต่ละรายจะต้องแข่งกันทำโปรโมชั่นออกมาอย่างแน่นอน

สรุปเป้าหมายและก้าวต่อไปของ เซ็นทรัลไร้เงินสด

การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของค้าปลีกรายใหญ่กับ 6 ธนาคารในการผลักดันให้ติดตั้ง QR Code Payment จะเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการค้าปลีกไทยที่ต่อจากนี้ไป โดยเฉพาะหากไปห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพกเงินสดออกจากบ้าน ทุกอย่างทำบนมือถือได้ทั้งหมด

เป้าหมายที่ CPN หรือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) วางไว้คือ

  • เพิ่มยอด traffic คนเดินห้าง จากแต่เดิมทุกสาขาทั่วประเทศรวมกัน มี traffic วันละ 1 ล้านคน แต่หลังจากนี้ ที่จะมีการจ่ายเงินผ่าน QR Code เชื่อว่าห้างในเครือเซ็นทรัลจะเพิ่ม traffic ได้อีกถึง 10% ต่อวัน หรือคิดเป็นวันละ 1.1 ล้านคนเป็นอย่างน้อย
  • ยอดผู้ใช้ Mobile Banking จากเดิม 26 ล้านคนทั่วประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนได้ในปี 2018
  • วงการค้าปลีกจะเติบโตขึ้นอีก 10 – 20%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา