ครบรอบ 1 ปี อู่ฮั่น ย้อนมองการเมืองเรื่องโควิด จีน-สหรัฐ ผ่านเวที WHO

จนถึงตอนนี้ โลกเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลาร่วมปีแล้ว มีหลายสิ่งเกิดขึ้นมาตลอดทางตั้งแต่การปิดกั้นพรมแดน การต่อสู้กับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จนถึงความร่วมมือจนสามารถผลิตวัคซีนได้รวดเร็วในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ในวิกฤติมาตลอดเช่นกัน คือ การกระทบกระทั่งทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ บนเวทีองค์การอนามัยโลก (WHO) ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดและยังคงอยู่จนถึงตอนนี้ 

Brand Inside จะพาผู้อ่านชมบทวิเคราะห์ ประมวลภาพความขัดแย้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาระหว่างสองมหาอำนาจว่าแต่ละฝ่ายออกหมัดใส่กันอย่างไร และกระทบต่อโลกในแง่การจัดการกับวิกฤติในครั้งนี้อย่างไร 

นอกจากนี้ยังชวนมองภาพในอนาคตว่าจีนและ WHO ควรมีท่าทีอย่างไรต่อไป และสหรัฐฯ ในยุค Joe Biden ต้องทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการแก้วิกฤติสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

จีน สหรัฐ และความขัดแย้งที่คุกรุ่นยาวนาน

จีนและสหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจที่วางมวยใส่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในช่วงที่จีนเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและเริ่มเพิ่มบทบาททางการเมืองของตนเองจนพัฒนาไปเป็นนโยบายระหว่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ 

ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ร้อนระอุที่สุดในยุคของ Donald Trump เขามักมีนโยบายต่อจีนอย่างรุนแรงและขัดต่อคุณค่าพื้นฐานแบบเสรีนิยมที่เคยเป็นแกนหลักของนโยบายสหรัฐฯ ตั้งแต่เริ่มวาระ Trump ก็มีนโยบายกระทบกระทั่งกับจีนมาตลอด จนมาถึงจุดสูงสุดหลังจาก Trump ประกาศสงครามการค้า ขึ้นกำแพงภาษี

ภาพจาก The White House

ความขัดแย้งลามไปถึงการแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมจากจีนด้วยเหตุผลว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง จนถึงขนาดที่ Google ต้องเลิกทำธุรกิจกับ Huawei สงครามการค้าในด้านหนึ่งจึงทวีความเข้มข้นเป็นพิเศษในหมวดเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่จีนสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด จนในช่วงปลายปี 2020 สหรัฐฯ ผ่านร่าง Holding Foreign Companies Accountable Act ทำให้บริษัทจีนมีสิทธิถูกถอนหุ้นจากตลาดหุ้นได้ทันที

ในขณะที่โลกกำลังวุ่นอยู่กับการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความร้อนแรงของความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ ทำให้บรรยากาศใน WHO ร้อนระอุ เพราะจีนมีท่าทีปกปิดข่าวและไม่โปร่งใส ส่วน WHO มีการจัดการโรคระบาดล่าช้าในช่วงแรกและมีท่าทีเข้าข้างจีน จนร้อนไปถึงสหรัฐฯ ในยุค Trump ที่มีการตอบโต้อย่างรุนแรง

WHO และท่าทีที่ไม่น่าประทับใจ

ในช่วงเริ่มแรกของการระบาด มีภาพที่น่ากังวลของสภาพความเป็นอยู่ในเมืองอู่ฮั่นแพร่กระจายตามอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีรายงานกลุ่มการติดเชื้อครั้งแรงในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 จำนวน 27 รายในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย โดยทาง WHO ออกมาชื่นชมการจัดการของจีนว่าทำงานได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และน่าประทับใจ

แต่คำกล่าวของทาง WHO สวนทางกับความเป็นจริงหลายประการ เช่น

  1. จีนประกาศการค้นพบรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ในเว็บไซต์ทางการตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม แต่กว่าจะส่งข้อมูลให้ WHO กลับใช้เวลาดำเนินการถึง 2 สัปดาห์
  2. กว่าจีนจะทำการล็อคดาวน์เมืองอู่ฮันก็ปาเข้าไปวันที่ 23 มกราคม 2020 และยังมีความล่าช้าในการงดทำการบินออกนอกประเทศ
  3. เอกสารของทางการจีนระบุว่า มีรายงานการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2019 แต่จีนมีท่าทีปกปิดข่าว

WHO ยังออกมาแถลงให้คำแนะนำในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 ว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ไม่สลักสำคัญอย่างการจำกัดการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศหลังจากที่จีนเริ่มถูกโดดเดี่ยวจากสังคมระหว่างประเทศ ตั้งแต่การจำกัดเที่ยวบินเข้า-ออกจีน ไปจนถึงการแบนนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ Tedros Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังทวิตแนะนำเรื่องดังกล่าวลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกด้วย

ยังมีการดำเนินการอีกอย่างหนึ่งที่น่าจับตามอง (แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้) คือการรีบเปลี่ยนชื่อเชื้อไวรัสเป็นโควิด-19 เพื่อหลีกเลี่ยงความเชื่อมโยงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง พันธุ์สัตว์ หรือกลุ่มคน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการตีตรา

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้อย่างในกรณีของโรค MERS (Middle East Respiratory Syndrome) หรือไวรัส Ebola ที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำอีโบล่าในประเทศคองโก

ในขณะที่ความวิตกกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มปะทุไปทั่วโลก WHO กลับประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดช้ามาก (วันที่ 11 มีนาคม 2020) จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระดับสากล ถึงขนาดที่รัฐบาลบราซิลออกมาวิจารณ์อย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ WHO กลับมีท่าทีเข้าข้างจีนอย่างชัดเจนในกรณีไต้หวัน แม้ไต้หวันจะรับมือการระบาดได้ดีจนได้รับการสรรเสริญจากทั่วโลก แต่ WHO มีท่าทีชัดเจน ไม่ยอมรับตัวตนในสังคมระหว่างประเทศของไต้หวันจนถึงขนาดที่ว่าไม่ยอมรับคำแนะนำและข้อมูลจากไต้หวัน ทั้งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤติการระบาดในระดับโลกอย่างมาก

คำถามคือ ทำไม WHO มีท่าทีที่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางจีนขนาดนี้?

จีน และอิทธิพลในองค์การอนามัยโลก

อิทธิพลของจีนใน WHO ที่เห็นได้ชัดคือ การมีส่วนตั้งคนในอาณัติของตนไปเป็นผู้อำนวยการโลกได้ถึง 3 สมัยติดต่อกันคือ Magaret Chan (2 สมัยก่อนหน้า) และ Tedros Ghebreyesus (ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน)

ต้องไม่ลืมว่าประเทศจีนมีอิทธิพลในแอฟริกาจากการขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจจำนวนมาก และ Tedros เองก็เป็นบุคคลในรัฐบาลอำนาจนิยมของเอธิโอเปียที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการสนับสนุนของต่างประเทศทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจในการฟาดฟันกับประเทศจีน

แม้จีนจะไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่มอบให้ WHO (สหรัฐฯ อเมริกามอบให้ WHO 893 ล้านดอลลาร์ส่วนประเทศจีนมอบให้ 86 ล้านดอลลาร์) แต่จีนมีความดึงดูดเพราะมีแนวโน้มร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ และจีนยังสนับสนุนทุกนโยบายของ WHO อย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ จีนยังมีอำนาจเหนือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเทศที่เป้าหมายหลักทางนโยบายของ WHO ที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขโลก การมีจีนสนับสนุนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาฟังและปฏิบัติตามวาระทางนโยบายของ WHO

แน่นอนว่าท่าทีที่ชัดเจนของ WHO ทำให้อเมริกา (พูดให้ถูกต้องคือ Trump) เลือดขึ้นหน้าสุดๆ

สหรัฐ และนโยบายตอบโต้ WHO

Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มออกมาทวิตข้อความโจมตี WHO อย่างดุเดือดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยเน้นการตั้งคำถามพุ่งตรงไปถึงการปกปิดข้อมูล ความล่าช้า และความพยายามสร้างเรื่องราวแบบใหม่เกี่ยวกับที่มาของโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของจีน และชี้ว่าสิ่งที่ WHO เยินยอจีนเป็นไปในทางตรงข้ามเสมอ

การเมืองเรื่องโควิดไปถึงจุดที่เผ็ดร้อนที่สุดเมื่อ Trump กล่าวหาว่า WHO เป็นหุ่นเชิดของจีน และมีการส่งจดหมายเกี่ยวกับการทำงานของ WHO ไปถึง Tedros โดยตรง ส่วน Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศของ Trump ก็ออกมากล่าวหาว่า WHO ถูกจีนซื้อไปแล้ว

หลังจากนั้นก็มีมาตรการระงับเงินสนับสนุนลงกว่า 1 ใน 4 จากที่เคยบริจาคอยู่เดิม และขู่พาสหรัฐฯ ออกจาก WHO 

  • จนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2020 สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก WHO อย่างเป็นทางการ

การหันหลังให้ WHO ของ Trump ส่งผลกระทบโดยรวมต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกในมิติด้านสาธารณสุขเพราะมันเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร การออกมาประกาศกร้าวว่าจะถอนตัวออกจากองค์กรก็ไม่ต่างอะไรกับการประกาศตัดงบสนับสนุน ไม่ต่างอะไรกับการเอาชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นตัวประกัน 

ผลที่ร้ายแรงต่อโลกของนโยบายของ Trump ส่งผลให้ Joe Biden รีบพาอเมริกากลับเข้า WHO ทันทีตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว และเตรียมทำงานกับ COVAX ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการวิจัยวัคซีนอีกด้วย 

ต่อจากนี้ เราจะได้เห็นบทบาทอเมริกาที่สร้างสรรค์ขึ้น และกลับสู่ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้

ภาคต่อหลังจากนี้ต้องไม่ใช่การเมืองเรื่องโควิด แต่เป็นความร่วมมือเรื่องโควิด

การเมืองเรื่องโควิดจึงควรถูกพิจารณาใหม่ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ไม่ควรนำชีวิตคนมาเดิมพันในเกมการเมือง และไม่ควรใช้องค์กรอย่าง WHO ที่กำลังทำหน้าที่แก้ไขวิกฤติที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตคนนับล้านมาเป็นเวทีเชือดเฉือนกัน เพราะโควิด-19 ไม่ได้เคารพต่อพรมแดน อุมการณ์ หรือพรรคการเมืองใดๆ

หลังจากนี้ WHO ควรทำผลงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็นว่า จีนไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลครอบงำองค์กรจริงๆ ที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าโรคระบาดและการเมืองจากมหาอำนาจโลกทั้งสองฝั่งรุนแรง ทำให้กำหนดจุดยืนองค์กรไม่ชัดเจน 

ตอนนี้ โควิด-19 ระบาดยาวนานกว่า 1 ปีแล้ว ทิศทางการเมืองโลกเริ่มคลี่คลายให้เห็นภาพมากขึ้น วัคซีนเริ่มทยอยผลิตให้ได้ใช้แล้ว ต่อจากนี้ ต้องทำให้เห็นว่า WHO เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสือกระดาษอย่างที่ถูกปรามาส

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

ในส่วนของจีน เป็นไปได้ว่าจะถูกเพ่งเล่งด้วยสายตาหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส เพราะจีนในปีที่ผ่านมา มีทีท่าและภาพลักษณ์แข็งกร้าวมากกว่าทุกๆ ปีก่อนหน้านี้ ทำให้หลายประเทศไม่ชอบจีนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นจากการที่หลายประเทศจับมือกันสร้างภาคีต้านจีน

นอกจากนี้จีนใช้ความแข็งกร้าวจัดการต่อชาวอุยกูร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน, ผู้สื่อข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่นำเสนอข่าวจีน และท่าทีที่มีต่อสหรัฐฯ ตลอดจนการรับมือโรคระบาดที่ล้มเหลวจนทำให้โควิดระบาดไปทั่วโลก 

จีนต้องยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว มากกว่าการพยายามสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่ หันมาช่วยโลกและประเทศต่างๆ รับมือโรคระบาดมากกว่าการชุลมุนอยู่กับความขัดแย้งเดิมๆ เร่งสร้างพันธมิตรใหม่และรักษาพันธมิตรเดิมผ่านการช่วยเหลือเรื่องการจัดการโควิดมากขึ้น เพื่อไม่ให้จีนอยู่ในสถานะที่แย่ลงไปกว่านี้

Joe Biden v.s. Kamala Harris
ภาพจาก The White House

สหรัฐฯ ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะตอนนี้สหรัฐฯ มีปัญหาในการจัดการโรคระบาดอย่างหนักจนติดเชื้อมากสุด อันดับ 1 ของโลก ติดเชื้อกว่า 25.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน สิ่งแรกที่ต้องทำคือควบคุมโควิด-19 ให้ได้ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของทีมบริหารภายใต้การนำของ Biden

จากนั้น ต้องเร่งชิงบทบาททูตสันติภาพโลก ช่วยประเทศที่อ่อนแอและมีศักยภาพในการจัดการโควิดต่ำ โดยอาจจะใช้การทูตวัคซีนแบบเดียวกับที่จีน อินเดีย และญี่ปุ่นเดินหน้าเริ่มทำอยู่ก็ได้ 

บทบาทระดับโลกอีกอย่างที่สำคัญคือ การเข้ามามีบทบาทนำเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรระหว่างประเทศอย่าง WHO และองค์กรอื่นๆ ทั้งสหรัฐและจีนควรเร่งแก้ปัญหาระดับโลกก่อนคำนึงผลประโยชน์แห่งชาติของสองฝ่าย และค่อยๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านความร่วมมือในหลายๆ กรอบ 

US China WHO COVID-19

สรุป

สังคมระหว่างประเทศในยุค Biden จะมีทิศทางไปในด้านความร่วมมือมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศผ่านยุคที่ความสัมพันธ์ตกต่ำถึงขึ้นสุดมาแล้วในยุค Trump และน่าจะเห็นได้ว่านโยบายระหว่างประเทศที่แข็งกร้าวไม่สร้างอะไรเลยนอกจากผลเสียต่อตัวเองและประเทศอื่นๆ ในสังคมโลก

สหรัฐฯ จีน และโลกบอบช้ำจากโควิดและความขัดแย้งสองฝั่งมาหนึ่งสมัยแล้ว ต่อจากนี้น่าจะมีทิศทางที่ประนีประนอมต่อกันมากขึ้น

อ้างอิง – NYTimes (1) (2), Washington Post (1) (2), Reuters (1) (2) (3), DW, FP, BBCThe Atlantic, The Diplomat, The Guardian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน