ปี 2020 โควิดพิสูจน์ศักยภาพไต้หวัน แข็งแกร่งเหนือใคร ทั้งการทูต ทั้งเศรษฐกิจ

ปี 2020 คือปีแห่งโรคระบาดที่แท้จริง ทุกประเทศต่างวุ่นวายอยู่กับการรับมือโควิด-19 รอบแล้วรอบเล่า แต่ไต้หวันสามารถรับมือได้อย่างดีและยังเผื่อแผ่ความช่วยเหลือไปให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

Tsai Ing-wen ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน
Tsai Ing-wen (ไช่ อิงเหวิน) ประธานาธิบดีไต้หวัน

ไม่ใช่แค่ความแข็งแกร่งในการจัดการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้อยู่หมัดเท่านั้น แต่มันยังทำให้การทูตของไต้หวันเบ่งบานมากยิ่งขึ้น และช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตตามไปด้วยในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังติดกับดักโควิดทำให้จมอยู่กับการแก้ปัญหาควบคุมโรคพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไปด้วย

ปัจจุบันคนติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกจำนวน 77 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้ว 1.7 ล้านคน คิดเป็น 2.207% จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อรวม 776 คน เสียชีวิต 7 คน ไต้หวันสามารถควบคุมโควิดระบาดได้ ผลิตหน้ากากได้วันละ 10 ล้านชิ้นและบริจาคให้หลายประเทศที่ขาดแคลนหน้ากาก ชาวไต้หวันเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติขณะที่ประเทศอื่นๆ ต้อง lockdown บ้าง เริ่มฉีดวัคซีนบ้างและยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ผ่อนคลายข้อบังคับเข้มงวดทั้งหลาย

David Lee ครูสอนภาษาอังกฤษเด็กในไทเปให้ข้อมูลว่า เขาไม่สามารถไปต่างประเทศได้แต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตในไต้หวันได้ดี ไม่ว่าจะไปดูกีฬาบาสเก็ตบอล เบสบอล และยังไปคอนเสิร์ตกับเพื่อนได้อีก เขาบอกว่าเขารู้สึกดีกับบรรยากาศนี้เพราะไต้หวันไม่มีการ lockdown

Taipei Taiwan ไทเป ไต้หวัน
ภาพจาก Shutterstock

การทูตไต้หวันแข็งแกร่ง จัดการโควิด-19 ระบาดได้ สร้างพันธมิตรได้ทั่วโลก

ไต้หวันไม่เพียงแต่รับมือโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด ไม่ทำให้ประเทศบอบช้ำทั้งจากการล็อคดาวน์และการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ภายใต้โปรเจกต์ “Taiwan can help” และ “Taiwan is helping” ไต้หวันสามารถช่วยบริจาคหน้ากากให้กับประเทศที่ขาดแคลนได้มากถึง 54 ล้านชิ้น และยังจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นส่งไปให้ความช่วยเหลือกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และยังร่วมประชุม virtual เป็นร้อยครั้งกับ 40 ประเทศเพื่อแบ่งปันความรู้ในการจัดการโควิดระบาด

ความสำเร็จในการจัดการรับมือกับโควิดได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของไต้หวัน เพราะไม่เพียงทำให้ประเทศตัวเองอยู่รอดพ้นวิกฤตได้ ยังทำให้ทั่วโลกยอมรับในศักยภาพที่แข็งแกร่งของไต้หวันไปด้วย การแบ่งปันประสบการณ์สู้โควิดของไต้หวันถือเป็นการสร้างพันธมิตรประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และอีกหลายประเทศด้วยกัน ทำให้ไต้หวันสามารถเข้าร่วมสมัชชาอนามัยโลกได้ (World Health Assembly: WHA)

Taipei Taiwan People wear face masks ไต้หวัน
ภาพจาก Shutterstock

การต่อสู้ของไต้หวันเพื่อเข้ามาร่วมอยู่ใน WHA ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานมาก นับตั้งแต่ปี 2009 ที่เริ่มเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ โดยรัฐบาลไต้หวันสมัยประธานาธิบดีหม่า อิงจิว เข้ามาร่วมวงด้วย ภายใต้ชื่อ “Chinese Taipei” ตามที่ตกลงกับรัฐบาลจีนไว้ ภายใต้การนำของมาร์กาเรต ชานที่ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกสองสมัย 2006-2017 เคยเป็นผู้อำนวยการสาธารณสุข ฮ่องกง 1994-2003 เธอเรียกไต้หวันว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ซึ่งไต้หวันก็คาดว่าจะค่อยๆ ร่วมอยู่ในองคาพยพที่สำคัญของเครือข่ายคณะกรรมาธิการองค์การอนามัยโลกได้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

ในปี 2016 ไต้หวันได้รับเชิญให้เข้าร่วมสมัชชาอนามัยโลกอีกครั้ง คนรุ่นใหม่ไต้หวันเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียกชื่อมากขึ้น เขาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้ Chinese Taipei พวกเขาต้องการให้เรียกชื่อ Taiwan และอ้างอำนาจอธิปไตยที่มีเหนือจีนตามมติองค์การสหประชาติ มาตรา 2578 ไช่ อิงเหวินยืนยันตามสิทธิในการปกครองไต้หวันเป็นประเทศหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน

ปี 2020 รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ประณามที่ไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมสมัชชาอนามัยโลก โดยเห็นว่าโควิด-19 ระบาด โลกยิ่งต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อต้านภัยคุกคามดังกล่าว จากนั้น องค์การอนามัยโลกจึงประกาศเชิญไต้หวันร่วมสมัชชาอนามัยโลกในฐานะผู้สังเกตการณ์

WHO ยื่นข้อเสนอให้ไต้หวันเป็นผู้สังเกตการณ์ใน WHA
WHO ยื่นข้อเสนอให้ไต้หวันเป็นผู้สังเกตการณ์ใน WHA

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไต้หวันก็มีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวันได้มากถึง 5.58 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แม้ว่าในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันได้รับผลกระทบอยู่บ้างในมิติด้านการท่องเที่ยว หลังจากทั่วโลก lockdown เพื่อควบคุมโรคระบาด

แต่ในปี 2020 นี้ ไต้หวันก็ยังสามารถลงทุนได้มากกว่า 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.17 แสนล้านบาท สร้างงานได้มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google, Microsoft และ Amazon ก็หันมาลงทุนในไต้หวันมากยิ่งขึ้น เพราะคำนึงถึงความสำคัญในแง่ซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีระดับสูง

ที่มา – South China Morning Post, The Diplomat, U.S. Department of State, WHO (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา