จนถึงตอนนี้ โลกเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลาร่วมปีแล้ว มีหลายสิ่งเกิดขึ้นมาตลอดทางตั้งแต่การปิดกั้นพรมแดน การต่อสู้กับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จนถึงความร่วมมือจนสามารถผลิตวัคซีนได้รวดเร็วในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ในวิกฤติมาตลอดเช่นกัน คือ การกระทบกระทั่งทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐฯ บนเวทีองค์การอนามัยโลก (WHO) ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดและยังคงอยู่จนถึงตอนนี้
Brand Inside จะพาผู้อ่านชมบทวิเคราะห์ ประมวลภาพความขัดแย้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาระหว่างสองมหาอำนาจว่าแต่ละฝ่ายออกหมัดใส่กันอย่างไร และกระทบต่อโลกในแง่การจัดการกับวิกฤติในครั้งนี้อย่างไร
นอกจากนี้ยังชวนมองภาพในอนาคตว่าจีนและ WHO ควรมีท่าทีอย่างไรต่อไป และสหรัฐฯ ในยุค Joe Biden ต้องทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการแก้วิกฤติสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
จีน สหรัฐ และความขัดแย้งที่คุกรุ่นยาวนาน
จีนและสหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจที่วางมวยใส่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในช่วงที่จีนเริ่มมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและเริ่มเพิ่มบทบาททางการเมืองของตนเองจนพัฒนาไปเป็นนโยบายระหว่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ร้อนระอุที่สุดในยุคของ Donald Trump เขามักมีนโยบายต่อจีนอย่างรุนแรงและขัดต่อคุณค่าพื้นฐานแบบเสรีนิยมที่เคยเป็นแกนหลักของนโยบายสหรัฐฯ ตั้งแต่เริ่มวาระ Trump ก็มีนโยบายกระทบกระทั่งกับจีนมาตลอด จนมาถึงจุดสูงสุดหลังจาก Trump ประกาศสงครามการค้า ขึ้นกำแพงภาษี
ความขัดแย้งลามไปถึงการแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมจากจีนด้วยเหตุผลว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง จนถึงขนาดที่ Google ต้องเลิกทำธุรกิจกับ Huawei สงครามการค้าในด้านหนึ่งจึงทวีความเข้มข้นเป็นพิเศษในหมวดเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่จีนสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด จนในช่วงปลายปี 2020 สหรัฐฯ ผ่านร่าง Holding Foreign Companies Accountable Act ทำให้บริษัทจีนมีสิทธิถูกถอนหุ้นจากตลาดหุ้นได้ทันที
ในขณะที่โลกกำลังวุ่นอยู่กับการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความร้อนแรงของความขัดแย้งของจีน-สหรัฐฯ ทำให้บรรยากาศใน WHO ร้อนระอุ เพราะจีนมีท่าทีปกปิดข่าวและไม่โปร่งใส ส่วน WHO มีการจัดการโรคระบาดล่าช้าในช่วงแรกและมีท่าทีเข้าข้างจีน จนร้อนไปถึงสหรัฐฯ ในยุค Trump ที่มีการตอบโต้อย่างรุนแรง
WHO และท่าทีที่ไม่น่าประทับใจ
ในช่วงเริ่มแรกของการระบาด มีภาพที่น่ากังวลของสภาพความเป็นอยู่ในเมืองอู่ฮั่นแพร่กระจายตามอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีรายงานกลุ่มการติดเชื้อครั้งแรงในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 จำนวน 27 รายในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย โดยทาง WHO ออกมาชื่นชมการจัดการของจีนว่าทำงานได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และน่าประทับใจ
Today I met with Xi Jinping, President of #China, in Beijing to discuss next steps in battle against the new #coronavirus outbreak. @WHO appreciates the seriousness with which ?? is taking this outbreak & the transparency authorities have demonstrated. https://t.co/WGadkXEpP5 pic.twitter.com/dqVMBXKXrM
— Tedros Adhanom Ghebreyesus (@DrTedros) January 28, 2020
แต่คำกล่าวของทาง WHO สวนทางกับความเป็นจริงหลายประการ เช่น
- จีนประกาศการค้นพบรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ในเว็บไซต์ทางการตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม แต่กว่าจะส่งข้อมูลให้ WHO กลับใช้เวลาดำเนินการถึง 2 สัปดาห์
- กว่าจีนจะทำการล็อคดาวน์เมืองอู่ฮันก็ปาเข้าไปวันที่ 23 มกราคม 2020 และยังมีความล่าช้าในการงดทำการบินออกนอกประเทศ
- เอกสารของทางการจีนระบุว่า มีรายงานการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2019 แต่จีนมีท่าทีปกปิดข่าว
WHO ยังออกมาแถลงให้คำแนะนำในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2020 ว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ไม่สลักสำคัญอย่างการจำกัดการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศหลังจากที่จีนเริ่มถูกโดดเดี่ยวจากสังคมระหว่างประเทศ ตั้งแต่การจำกัดเที่ยวบินเข้า-ออกจีน ไปจนถึงการแบนนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ Tedros Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังทวิตแนะนำเรื่องดังกล่าวลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกด้วย
ยังมีการดำเนินการอีกอย่างหนึ่งที่น่าจับตามอง (แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้) คือการรีบเปลี่ยนชื่อเชื้อไวรัสเป็นโควิด-19 เพื่อหลีกเลี่ยงความเชื่อมโยงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง พันธุ์สัตว์ หรือกลุ่มคน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการตีตรา
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้อย่างในกรณีของโรค MERS (Middle East Respiratory Syndrome) หรือไวรัส Ebola ที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำอีโบล่าในประเทศคองโก
We now have a name for the disease caused by the novel coronavirus: COVID-19.
Having a name matters to prevent the use of other names that can be inaccurate or stigmatizing. #COVID19https://t.co/HTNjm27BHw
— Tedros Adhanom Ghebreyesus (@DrTedros) February 11, 2020
ในขณะที่ความวิตกกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มปะทุไปทั่วโลก WHO กลับประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดช้ามาก (วันที่ 11 มีนาคม 2020) จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระดับสากล ถึงขนาดที่รัฐบาลบราซิลออกมาวิจารณ์อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ WHO กลับมีท่าทีเข้าข้างจีนอย่างชัดเจนในกรณีไต้หวัน แม้ไต้หวันจะรับมือการระบาดได้ดีจนได้รับการสรรเสริญจากทั่วโลก แต่ WHO มีท่าทีชัดเจน ไม่ยอมรับตัวตนในสังคมระหว่างประเทศของไต้หวันจนถึงขนาดที่ว่าไม่ยอมรับคำแนะนำและข้อมูลจากไต้หวัน ทั้งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรับมือวิกฤติการระบาดในระดับโลกอย่างมาก
คำถามคือ ทำไม WHO มีท่าทีที่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางจีนขนาดนี้?
จีน และอิทธิพลในองค์การอนามัยโลก
อิทธิพลของจีนใน WHO ที่เห็นได้ชัดคือ การมีส่วนตั้งคนในอาณัติของตนไปเป็นผู้อำนวยการโลกได้ถึง 3 สมัยติดต่อกันคือ Magaret Chan (2 สมัยก่อนหน้า) และ Tedros Ghebreyesus (ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน)
ต้องไม่ลืมว่าประเทศจีนมีอิทธิพลในแอฟริกาจากการขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจจำนวนมาก และ Tedros เองก็เป็นบุคคลในรัฐบาลอำนาจนิยมของเอธิโอเปียที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการสนับสนุนของต่างประเทศทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจในการฟาดฟันกับประเทศจีน
แม้จีนจะไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่มอบให้ WHO (สหรัฐฯ อเมริกามอบให้ WHO 893 ล้านดอลลาร์ส่วนประเทศจีนมอบให้ 86 ล้านดอลลาร์) แต่จีนมีความดึงดูดเพราะมีแนวโน้มร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ และจีนยังสนับสนุนทุกนโยบายของ WHO อย่างแข็งขัน
นอกจากนี้ จีนยังมีอำนาจเหนือประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเทศที่เป้าหมายหลักทางนโยบายของ WHO ที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขโลก การมีจีนสนับสนุนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาฟังและปฏิบัติตามวาระทางนโยบายของ WHO
แน่นอนว่าท่าทีที่ชัดเจนของ WHO ทำให้อเมริกา (พูดให้ถูกต้องคือ Trump) เลือดขึ้นหน้าสุดๆ
สหรัฐ และนโยบายตอบโต้ WHO
Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มออกมาทวิตข้อความโจมตี WHO อย่างดุเดือดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยเน้นการตั้งคำถามพุ่งตรงไปถึงการปกปิดข้อมูล ความล่าช้า และความพยายามสร้างเรื่องราวแบบใหม่เกี่ยวกับที่มาของโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของจีน และชี้ว่าสิ่งที่ WHO เยินยอจีนเป็นไปในทางตรงข้ามเสมอ
การเมืองเรื่องโควิดไปถึงจุดที่เผ็ดร้อนที่สุดเมื่อ Trump กล่าวหาว่า WHO เป็นหุ่นเชิดของจีน และมีการส่งจดหมายเกี่ยวกับการทำงานของ WHO ไปถึง Tedros โดยตรง ส่วน Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศของ Trump ก็ออกมากล่าวหาว่า WHO ถูกจีนซื้อไปแล้ว
หลังจากนั้นก็มีมาตรการระงับเงินสนับสนุนลงกว่า 1 ใน 4 จากที่เคยบริจาคอยู่เดิม และขู่พาสหรัฐฯ ออกจาก WHO
- จนในวันที่ 8 กรกฎาคม 2020 สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก WHO อย่างเป็นทางการ
การหันหลังให้ WHO ของ Trump ส่งผลกระทบโดยรวมต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกในมิติด้านสาธารณสุขเพราะมันเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร การออกมาประกาศกร้าวว่าจะถอนตัวออกจากองค์กรก็ไม่ต่างอะไรกับการประกาศตัดงบสนับสนุน ไม่ต่างอะไรกับการเอาชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นตัวประกัน
ผลที่ร้ายแรงต่อโลกของนโยบายของ Trump ส่งผลให้ Joe Biden รีบพาอเมริกากลับเข้า WHO ทันทีตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว และเตรียมทำงานกับ COVAX ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการวิจัยวัคซีนอีกด้วย
ต่อจากนี้ เราจะได้เห็นบทบาทอเมริกาที่สร้างสรรค์ขึ้น และกลับสู่ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้
ภาคต่อหลังจากนี้ต้องไม่ใช่การเมืองเรื่องโควิด แต่เป็นความร่วมมือเรื่องโควิด
การเมืองเรื่องโควิดจึงควรถูกพิจารณาใหม่ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ไม่ควรนำชีวิตคนมาเดิมพันในเกมการเมือง และไม่ควรใช้องค์กรอย่าง WHO ที่กำลังทำหน้าที่แก้ไขวิกฤติที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตคนนับล้านมาเป็นเวทีเชือดเฉือนกัน เพราะโควิด-19 ไม่ได้เคารพต่อพรมแดน อุมการณ์ หรือพรรคการเมืองใดๆ
หลังจากนี้ WHO ควรทำผลงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็นว่า จีนไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลครอบงำองค์กรจริงๆ ที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าโรคระบาดและการเมืองจากมหาอำนาจโลกทั้งสองฝั่งรุนแรง ทำให้กำหนดจุดยืนองค์กรไม่ชัดเจน
ตอนนี้ โควิด-19 ระบาดยาวนานกว่า 1 ปีแล้ว ทิศทางการเมืองโลกเริ่มคลี่คลายให้เห็นภาพมากขึ้น วัคซีนเริ่มทยอยผลิตให้ได้ใช้แล้ว ต่อจากนี้ ต้องทำให้เห็นว่า WHO เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสือกระดาษอย่างที่ถูกปรามาส
ในส่วนของจีน เป็นไปได้ว่าจะถูกเพ่งเล่งด้วยสายตาหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส เพราะจีนในปีที่ผ่านมา มีทีท่าและภาพลักษณ์แข็งกร้าวมากกว่าทุกๆ ปีก่อนหน้านี้ ทำให้หลายประเทศไม่ชอบจีนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นจากการที่หลายประเทศจับมือกันสร้างภาคีต้านจีน
นอกจากนี้จีนใช้ความแข็งกร้าวจัดการต่อชาวอุยกูร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน, ผู้สื่อข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่นำเสนอข่าวจีน และท่าทีที่มีต่อสหรัฐฯ ตลอดจนการรับมือโรคระบาดที่ล้มเหลวจนทำให้โควิดระบาดไปทั่วโลก
จีนต้องยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว มากกว่าการพยายามสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่ หันมาช่วยโลกและประเทศต่างๆ รับมือโรคระบาดมากกว่าการชุลมุนอยู่กับความขัดแย้งเดิมๆ เร่งสร้างพันธมิตรใหม่และรักษาพันธมิตรเดิมผ่านการช่วยเหลือเรื่องการจัดการโควิดมากขึ้น เพื่อไม่ให้จีนอยู่ในสถานะที่แย่ลงไปกว่านี้
สหรัฐฯ ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะตอนนี้สหรัฐฯ มีปัญหาในการจัดการโรคระบาดอย่างหนักจนติดเชื้อมากสุด อันดับ 1 ของโลก ติดเชื้อกว่า 25.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4 แสนคน สิ่งแรกที่ต้องทำคือควบคุมโควิด-19 ให้ได้ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของทีมบริหารภายใต้การนำของ Biden
จากนั้น ต้องเร่งชิงบทบาททูตสันติภาพโลก ช่วยประเทศที่อ่อนแอและมีศักยภาพในการจัดการโควิดต่ำ โดยอาจจะใช้การทูตวัคซีนแบบเดียวกับที่จีน อินเดีย และญี่ปุ่นเดินหน้าเริ่มทำอยู่ก็ได้
บทบาทระดับโลกอีกอย่างที่สำคัญคือ การเข้ามามีบทบาทนำเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรระหว่างประเทศอย่าง WHO และองค์กรอื่นๆ ทั้งสหรัฐและจีนควรเร่งแก้ปัญหาระดับโลกก่อนคำนึงผลประโยชน์แห่งชาติของสองฝ่าย และค่อยๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านความร่วมมือในหลายๆ กรอบ
สรุป
สังคมระหว่างประเทศในยุค Biden จะมีทิศทางไปในด้านความร่วมมือมากขึ้น เพราะทั้งสองประเทศผ่านยุคที่ความสัมพันธ์ตกต่ำถึงขึ้นสุดมาแล้วในยุค Trump และน่าจะเห็นได้ว่านโยบายระหว่างประเทศที่แข็งกร้าวไม่สร้างอะไรเลยนอกจากผลเสียต่อตัวเองและประเทศอื่นๆ ในสังคมโลก
สหรัฐฯ จีน และโลกบอบช้ำจากโควิดและความขัดแย้งสองฝั่งมาหนึ่งสมัยแล้ว ต่อจากนี้น่าจะมีทิศทางที่ประนีประนอมต่อกันมากขึ้น
อ้างอิง – NYTimes (1) (2), Washington Post (1) (2), Reuters (1) (2) (3), DW, FP, BBC, The Atlantic, The Diplomat, The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา