กรณีศึกษา: ทำไมบริการเดลิเวอรี่ในเมืองจีนถึงร้อนแรง อัตราเติบโตแซงอีคอมเมิร์ซไปแล้ว

ศึกบริการเดลิเวอรี่ในจีนกำลังร้อนแรง ?

ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก Analysys บริษัทวิจัยด้านการตลาดของจีน เปิดเผยว่า ตลาดแพลตฟอร์มบริการในจีน (China’s local-services market) มีมูลค่าในปี 2018 อยู่ที่ 2.36 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.5 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเติบโตของตลาดนี้ในจีนสูงถึง 56.3%

ตัวเลขอัตราการเติบโตของตลาดแพลตฟอร์มบริการในจีนที่เพิ่มขึ้น 56.3% ถือว่าสูงมาก เพราะหากเทียบกับตลาดอีคอมเมิร์ซจีนในปีเดียวกัน พบว่ามีอัตราเติบโตเพียง 23.9% เท่านั้น

  • พูดง่ายๆ ก็คือ ในปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของตลาดแพลตฟอร์มบริการในจีน สูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซจีนถึง 2 เท่า

อันที่จริงแล้วตลาดแพลตฟอร์มบริการในจีน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 63.9% เป็นตลาดที่ให้ลูกค้าใช้งานบนแพลตฟอร์มและได้ส่วนลดไปซื้อสินค้าหรือบริการในร้านออฟไลน์ (ให้นึกภาพ Groupon ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารและแจกโปรโมชั่น) และอีกส่วนคือตลาดการสั่งของแบบ On Demand เช่น สั่งอาหารเดลิเวอรี่ (ให้นึกภาพ LINE MAN หรือ GrabFood บ้านเรา) โดยส่วนนี้ครองสัดส่วนอยู่ทั้งหมด 36.1%

บทความนี้จะถอดรหัสว่า เหตุใดบริการเดลิเวอรี่จีนถึงร้อนแรง และเติบโตอย่างรวดเร็ว?

ก่อนอื่นที่ต้องรู้คือ บริการเดลิเวอรี่ในจีนมี 3 รายใหญ่ที่สู้กันอย่างดุเดือด

  1. Meituan-Dianping (เหมยเถียน-เดียนปิง): สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์เบอร์ 1 ของจีน มูลค่าคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สตาร์ทอัพรายนี้มีดราม่ากับพี่ใหญ่ Alibaba จนทำให้ถอนหุ้นออกทั้งหมด และในปัจจุบันหนุนหลังโดย Tencent
  2. Ele.me (เอ้อ-เลอ-มา): บริการเดลิเวอรี่ที่ Alibaba เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันมาแรง มีผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 167 ล้านราย
  3. Baidu (ไป่-ตู้): ถือว่าเป็นเบอร์ 3 ของตลาดเดลิเวอรี่จีน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ในระยะยาวตลาดเดลิเวอรี่จีนอาจเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น

คำถามคือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บริการเดลิเวอรี่จีนร้อนแรง และเติบโตอย่างรวดเร็ว?

คำตอบแรกก็คือ จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการอันมหาศาล โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ของจีน (mega-cities) ที่มีมากถึง 6 เมืองได้แก่ เซี่ยงไฮ้, กวางโจว, ปักกิ่ง, เซินเจิ้น, อู่ฮั่น และเฉิงตู โดยแต่ละเมืองต่างก็มีจำนวนประชากรมากกว่าเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา และนี่ยังไม่นับรวมถึงเมืองรองของจีนที่มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนอีกประมาณ 50 แห่ง

จำนวนประชากรได้เปรียบจริงๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือความเป็นค้าปลีกของจีนที่ผสมผสานการทำงานแบบออนไลน์-ออฟไลน์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว (ศัพท์เท่ๆ ในจีนที่นิยามโดย Alibaba คือคำว่า New Retail) ปัจจุบันนี้คนจีนก่อนที่จะเดินทางไปร้านอาหารนอกบ้าน มักจะจองโต๊ะผ่านแอพพลิเคชั่น เพราะได้ทั้งความสะดวก และได้ทั้งส่วนลดโปรโมชั่น

แต่ทีนี้ ถ้าพูดถึงตลาดเดลิเวอรี่ ลองดูกรณีศึกษาของ Ele.me สตาร์ทอัพเดลิเวอรี่ของจีนที่ Alibaba ซื้อมาเรียบร้อยแล้ว จะเห็นภาพได้ชัดว่าทำไมบริการเดลิเวอรี่ของจีนถึงเติบโตอย่างรวดเร็ว

ในปัจจุบันพูดได้เลยว่า คนจีนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปร้านออฟไลน์ก็สามารถได้รับสินค้าและบริการอย่างครบถ้วน เพราะถ้าต้องการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ ด้วยพลังของ Alibaba ที่หนุนหลัง Ele.me ก็สามารถสั่งผ่าน Hema ให้ส่งของถึงบ้านภายใน 30 นาที หรือถ้าต้องการสั่งกาแฟ Starbucks ก็ไม่ต้องไปหน้าร้าน แต่สั่งผ่านแอพในเครือของ Alibaba ได้เลย หรือแม้กระทั่งว่าถ้าต้องการยารักษาโรค ก็สามารถสั่งผ่าน Taobao และรอรับที่บ้านภายใน 30 นาทีได้เช่นกัน

  • นี่คือความต่างของวิธีคิดแบบจีน กับวิธีคิดแบบตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด

แอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์มบริการท้องถิ่นของจีนมีเกือบทุกอย่าง ทำได้เกือบทุกสิ่ง ครอบจักรวาล แนวคิดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดแบบ “ซุปเปอร์แอพ” ซึ่งจุดมุ่งหมายก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความต้องการเป็นทุกอย่างเพื่อลูกค้าในทุกช่วงเวลา หรือเรียกง่ายๆ ก็คือต้องการเป็นบริการที่ “เดลิเวอรี่ทุกสิ่งอย่าง” นั่นเอง

ในขณะที่แอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์มของฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่จะยึดถือกับแนวคิด “ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า ในหนึ่งแอพของตะวันตกจะมีสินค้าหรือบริการเฉพาะด้าน ไม่ครอบจักรวาลเหมือนพี่จีน

ข้อมูล – Alizila, National Bureau of Statistics of China, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา