รู้จัก 3 บริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ใช่ Baidu, Alibaba และ Tencent

ถ้าพูดถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน หลายคนย่อมรู้จัก “BAT” กันเป็นอย่างดี เพราะมันคือชื่อย่อของ 3 บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่

  • Baidu (ไป่ตู้) เสิร์ชเอนจินเบอร์ 1 ของจีน เทียบได้กับ Google
  • Alibaba (อาลีบาบา) อีคอมเมิร์ซเบอร์ 1 ของจีน เทียบได้กับ Amazon
  • Tencent (เทนเซ็นต์) โซเชียลมีเดียเบอร์ 1 ของจีน เทียบได้กับ Facebook

แน่นอนว่า 3 บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง BAT ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ธุรกิจหลักของตัวเองเท่านั้น เพราะพวกเขาขยายขอบเขตของธุรกิจออกไปในระดับโลกอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง (ลองดูการลงทุนของ Alibaba กับ Tencent ในปี 2017 เป็นตัวอย่าง) จนดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีบริษัทเทคโนโลยีจีนหน้าไหนจะกล้ามาท้าทายได้อีกแล้ว

แต่นั่นไม่ใช่ความจริง เพราะขณะนี้บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนกำลังเข้าสู่ยุคถัดไป … เมื่อ BAT ไม่เซ็กซี่แล้ว ไปทำความรู้จักกับบริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่หน้าใหม่อย่าง “TMD” กันดีกว่า

Toutiao
Toutiao

Toutiao แอพอ่านข่าวสุดยิ่งใหญ่ มีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคนต่อวัน

Toutiao (อ่านออกเสียงว่า โถวเถี่ยว) หรือในชื่อเต็มคือ Jinri Toutiao ซึ่งแปลตรงตัวว่า “พาดหัวข่าวของวันนี้”

Toutiao คือแอพพลิเคชั่นอ่านข่าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจีน มีผู้ใช้งานต่อวันมากกว่า 200 ล้านคน มีผู้ผลิตคอนเทนต์กว่า 1.2 ล้านแห่งบนแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ในแอพมีตั้งแต่ข่าวสารบ้านเมือง ธุรกิจ ไปจนถึงการรีวิวสินค้า หรือแม้กระทั่งสอนเลี้ยงหมู!

ความล้ำหน้าของแอพพลิเคชั่นอ่านข่าวรายนี้ คือการใช้ Machine Learning มาเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมการอ่านข่าว ดูวิดีโอ และรับชมโฆษณาของผู้บริโภค โดยเบื้องหลังของเทคโนโลยีที่ใช้ คือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัท Bytedance (บริษัทแม่ของ TikTok ที่มีมูลค่ากิจการกว่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แซงหน้า Uber ไปแล้ว)

Zhang Yiming ผู้ก่อตั้ง Toutiao เคยให้สัมภาษณ์ถึงความมุ่งมั่นในการสร้างแอพพลิเคชั่นว่า “ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ผลิตและส่งต่อข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

The Wall Street Journal รายงานว่า เอาเข้าจริงแล้ว ความพยายามในการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคชาวจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หน้าเก่าอย่าง BAT ก็พยายามทำมานานแล้ว เพียงแต่ว่า Toutiao คือผู้ที่ทำได้โดดเด่นกว่ารายอื่นในตลาด มีข้อมูลเปิดเผยว่า Toutiao เก็บข้อมูลการเสพข่าวของคนจีนเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม และเมื่อบริษัทได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว จึงค่อยเปิดตัวแอพพลิเคชั่นอ่านข่าวลงมาเล่นในตลาด

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนมีความเข้มงวดเรื่องข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างมาก Toutiao ไม่พลาดในจุดนี้ เพราะได้จ้างพนักงานกว่า 4,000 คนมาควบคุม (monitor) และเซ็นเซอร์ข้อมูลไม่ให้หมิ่นเหม่และกระทบต่อสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนห้ามทุกประการ

Meituan-Dianping
Meituan-Dianping

Meituan-Dianping แอพรวบรวมไลฟ์สไตล์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน

Meituan-Dianping (อ่านออกเสียงว่า เหมยเถียน-เดียนปิง หรือ เหมยถวน-เตี่ยนผิง) แอพพลิเคชั่นที่เป็นแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจีน เนื่องจากมีผู้ใช้งานมากกว่า 320 ล้านคน และมีการประเมินว่าหากนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นอาจมีมูลค่ากิจการสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีบริการตั้งแต่สั่งอาหารเดลิเวอรี่ รีวิวร้านอาหาร ซื้อตั๋วหนัง และโปรโมชั่นส่วนลดสินค้าหลากหลายประเภท

เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Meituan-Dianping มาจากการสนับสนุนของรุ่นพี่อย่าง Tencent และ Alibaba โดยในปี 2015 ได้เกิดการควบรวมกิจการของ Meituan และ Dazhong Dianping

แต่ก็ไม่พ้นต้องมีดราม่า เพราะไม่เกิน 3 ปีให้หลัง พี่ใหญ่อย่าง Alibaba ขายหุ้นใน Meituan-Dianping ทิ้ง และลงทุนใน Ele.me แพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นการเสริมแกร่งธุรกิจ New Retail ของ Alibaba เช่น Koubei สตาร์ทอัพรับชำระเงินค้าปลีกของทางแบรนด์ให้ครบวงจรมากขึ้น และแน่นอนว่าถือเป็นการประกาศตัวเป็นคู่แข่งของ Meituan-Dianping อย่างเป็นทางการในเวลาเดียวกันนั่นเอง

  • ดราม่าครั้งนั้นทำให้ตลาดเดลิเวอรี่ในจีนกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่คือ Tencent ที่หนุนหลัง Meituan-Dianping กับ Alibaba ซึ่งสู้ศึกนี้ด้วย Ele.me ที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามา

อย่างไรก็ตาม แผนของ Meituan-Dianping หลังจากนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ และโดรนเดลิเวอรี่ (drone-delivery) เพื่อเร่งศักยภาพของแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์และเติมเต็มบริการส่งอาหารให้ล้ำหน้าไปอีกขั้น แต่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะ Meituan-Dianping ยังได้ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ (ชัดเจนว่าเอาไว้สู้กับ Alibaba บ้าง) และรวมถึงบริการเรียกรถ (เพื่อสู้กับ Didi Chuxing เพราะไม่ต้องการให้ครอบครองตลาดเรียกรถจีนแต่เพียงผู้เดียว)

Didi Chuxing
Didi Chuxing Photo: Shutterstock

Didi Chuxing แอพเรียกรถสุดยิ่งใหญ่ ที่ขอท้าชน Google และ Tesla

Didi Chuxing (อ่านออกเสียงว่า ดีดี้ ชูซิง) แอพพลิเคชั่นเรียกรถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจีน และต้องบอกว่ามีวันนี้เพราะพี่ให้ เนื่องจากในปี 2015 Didi Chuxing เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของ Didi ที่หนุนหลังโดย Tencent กับ Kuaidi ที่หนุนหลังโดย Alibaba จนกลายมาเป็น Didi Chuxing ในที่สุด

การควบรวมในครั้งนั้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากต้องการฆ่า Uber ให้ตายสนิทในจีน และแน่นอนว่าประสบความสำเร็จ เพราะในปี 2016 Uber เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องขายกิจการในจีนให้กับ Didi Chuxing ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน Didi เป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 3 ของโลก มีมูลค่ากิจการ 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามหลังเพียง Uber ที่มีอยู่ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และ Bytedance 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์

แต่ทว่าความฝันของ Didi ไม่ใช่การเป็นแอพพลิเคชั่นเรียกรถเท่านั้น เพราะ Cheng Wei ซีอีโอของ Didi ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ช่วยใน Alibaba เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สิ่งที่ Didi ต้องการจะเป็น คือการสร้างระบบขนส่งมวลชนและยานพาหนะแห่งอนาคต

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของ Didi จึงจำเป็นต้องทะเยอะทะยาน เพราะคิดการใหญ่ Didi บอกเองเลยว่า ต้องการท้าชน Google และ Tesla ในสนามรบของการแข่งขันเรื่อง “รถยนต์ไร้คนขับ” โดยในปัจจุบัน Didi มีแล็บปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาเรื่องระบบความปลอดภัยและการขับขี่รถยนต์ (AI-based security and driving systems for cars) ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย พร้อมทั้งมีวิศวกรที่มีความสามารถสูงและเคยทำงานในแผนกพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของ Google และ Uber มาร่วมงานด้วย

ชัดเจนว่า ศึกครั้งนี้ Didi ไม่ต้องการแพ้ ไม่ว่าจะทั้งในประเทศจีนหรือในระดับโลก

สรุป: บริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่ได้เข้าสู่ยุคใหม่แล้ว

บริษัทเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่หน้าเก่าคือ Baidu, Alibaba และ Tencent
ส่วนบริษัทเทคโนโลยีจีนยักษ์ใหญ่หน้าใหม่คือ Toutiao, Meituan-Dianping และ Didi Chuxing

ถ้าพูดว่า 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หน้าเก่าอย่าง BAT ยิ่งใหญ่มาจากยุคดอทคอม
ก็อาจจะพูดได้ว่า 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หน้าใหม่อย่าง TMD ยิ่งใหญ่มาจากยุคของมือถือ (แอพพลิเคชั่น)

แต่ไม่ว่าจะหน้าเก่า หรือหน้าใหม่ ความเหมือนที่สัมผัสได้คือ “กลิ่นอาย” ของความเป็นบริษัทเทคโนโลยีจีนที่ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม นั่นคือ “การไม่ยึดมั่นถือมั่นทำในสิ่งใดสิ่งเดียว” หากแต่มองหา “ความเป็นไปได้ใหม่ๆ” อยู่เสมอ

และเมื่อเจอ…ก็พร้อมที่จะกระโดดลงไปเล่นอย่างทันท่วงที

ข้อมูลอ้างอิง – Quartz, DicoverchinaTechinasiaSouth China Morning PostEntrepreneurTechcrunchCB Insights

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา