[วิเคราะห์] ศึกซุปเปอร์แอพ “Grab” vs. “Go-Jek” ใครจะเป็นผู้ชนะในภูมิภาคนี้?

ก่อนอื่น ซุปเปอร์แอพคืออะไร?

ซุปเปอร์แอพ (Super App) คือแอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมสินค้าและบริการในหลากหลายหมวดหมู่ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเป็นแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้งานต้องการเปิดใช้งานเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยก็ 1 ครั้งต่อวัน

ต้นกำเนิดของซุปเปอร์แอพมาจากประเทศจีน นำโดยสองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือแอพพลิเคชั่น WeChat ที่แม้ว่าจะช่วงแรกจะเกิดขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารข้อความ แต่ปัจจุบันสามารถจ่ายเงินค่าอาหาร ซื้อของออนไลน์ จองตั๋วภาพยนตร์ เรียกรถ เล่นเกม ฯลฯ เรียกได้ว่าเข้าแอพเดียวครบทุกความต้องการ

  • ดังนั้นจึงไม่แปลก ถ้าดูจากโมเดลของพี่จีน หลายๆ แอพพลิเคชั่นที่เมื่อยิ่งใหญ่ได้ถึงระดับนึง ก็มักจะมองหาช่องทางในการเป็น “ซุปเปอร์แอพ” กันทั้งนั้น

หนึ่งในตลาดที่น่าสนใจคือ “ตลาดแอพพลิเคชั่นเรียกรถ” ในแถบบ้านเรา ที่จนถึงตอนนี้ชัดเจนว่ามีรายใหญ่อยู่เพียง 2 เจ้าคือ Grab และ Go-Jek และเนื่องจากทั้ง 2 รายต่างก็ประกาศชัดว่าต้องการเป็น “ซุปเปอร์แอพ”

ดังนั้นเราลองไปวิเคราะห์กันว่า ศึกซุปเปอร์แอพครั้งนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ

Grab
Grab Photo:Shutterstock

Grab vs. Go-Jek จากแอพเรียกรถ สู่ซุปเปอร์แอพ

แน่นอนว่าในปัจจุบัน Grab ได้เปรียบมากกว่า Go-Jek ในด้านการรับรู้ตัวแบรนด์ เนื่องจาก Grab ให้บริการใน 8 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา และไทย ส่วน Go-Jek ให้บริการเพียง 4 ประเทศในอาเซียนเท่านั้นคือ อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย

  • ส่วนมูลค่ากิจการในปัจจุบัน Grab ก็มีสูงกว่า โดยอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (Grab คือสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
  • ในขณะที่ Go-Jek มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ความยิ่งใหญ่ของ Grab นอกจากข่าวใหญ่ที่ทุกคนทราบดีคือ การเข้าซื้อกิจการ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าไปเปิดดูผู้สนับสนุนเบื้องหลัง Grab จะพบว่าเป็นบริษัทรายใหญ่ของโลกที่แข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีมากมาย เช่น SoftBank Group ที่มีวิสัยทัศน์เรื่องการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ 1 ของโลก นอกจากนั้นยังมี Microsoft ที่มาร่วมลงทุน รวมถึงบริษัทรถยนต์รายใหญ่อย่าง Toyota หรือสตาร์ทอัพเรียกรถยักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง Didi Chuxing ก็มาเป็นผู้สนับสนุน Grab ด้วยเช่นกัน

บริการของ Grab ในไทย
บริการของ Grab ในไทย

ถ้าไปดูบริการของ Grab นอกจากการเรียกรถแล้ว ในปัจจุบัน Grab มีบริการที่ขยายความครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวันอย่างมาก ได้แก่

  • GrabTaxi บริการเรียกรถแท็กซี่
  • GrabCar บริการเรียกรถบ้าน
  • GrabBike บริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
  • GrabExpress บริการส่งพัสดุและสิ่งของ
  • GrabFood บริการสั่งอาหาร
  • GrabRent บริการให้เช่ารถยนต์และจักรยานยนต์พร้อมคนขับ
  • GrabVan บริการเช่ารถตู้

นอกจากนั้นยังมีบริการด้านการเงินคือ GrabPay ที่เป็นกระเป๋าเงินให้ผู้ขับและผู้โดยสารชำระเงินผ่านกันทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในจุดนี้ยังนำไปสู่ธุรกิจใหม่ อย่างเช่นการให้กู้ยืมเงิน ดูตัวอย่างล่าสุดได้จากการจับมือในไทยที่ไปร่วมกับ KBank เพื่อทำเรื่องฟินเทค ชัดเจนว่าเส้นทางของ Grab คือการเดินทางไปสู่ความเป็นซุปเปอร์แอพทั้งสิ้น

Go-Jek
Go-Jek Photo: Shutterstock

มาดูทางด้านของ Go-Jek กันบ้าง รายนี้มีต้นกำเนิดจากอินโดนีเซีย และแม้เป็นยักษ์ในบ้านเกิดของตัวเองมานาน เนื่องจากไม่ได้มีแผนจะขยายออกไปนอกประเทศอย่างจริงจัง แต่ในจุดนี้เข้าใจได้ เพราะเพียงแค่ตลาดอินโดนีเซียก็ใหญ่มหาศาลแล้ว GDP ของอินโดนีเซียประเทศเดียวคิดเป็น 40% ของ GDP รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม จุดพลิกผันที่ทำให้ Go-Jek ต้องเดินทางออกนอกบ้าน เป็นเพราะการรุกคืบหนักของ Grab จากการเข้าซื้อกิจการของ Uber ในภูมิภาคนี้ นั่นเองจึงทำให้ Go-Jek จำเป็นต้องกระโดดออกจากบ้านเกิด เพื่อมาต่อสู้ในตลาดระดับภูมิภาค

พูดให้ชัดๆ ก็คือการตัดสินใจออกนอกบ้านของ Go-Jek เป็นทั้งความสำคัญและความจำเป็น เพราะหากไม่ออกมาต่อสู้ ในไม่ช้าก็อาจจะถูก Grab บุกเข้าไปในบ้านเกิด และทำให้ Go-Jek พ่ายแพ้ได้ในที่สุด

ทีนี้ไปดูผู้สนับสนุนหลักของ Go-Jek กันบ้าง เพราะไม่ธรรมดาเช่นกัน เนื่องจากต่างเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น Google (ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจาก Google ไม่ผ่านหน่วยงานลงทุน เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้ง) และ Tencent โดยล่าสุด Go-Jek ระดมทุนจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

บริการของ GET ในไทย
บริการของ GET ในไทย

ด้านบริการของ Go-Jek (ในไทย Go-Jek ใช้ชื่อบริการว่า GET) มีหลากหลายเช่นกัน นอกจากจะเรียกรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นจุดเด่นที่สุดแล้ว ยังมีบริการ Go-Mart ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ, Go-Clean บริการทำความสะอาด, Go-Glam บริการแต่งหน้าทำผม หรือแม้กระทั่ง Go-­Massage บริการนวด ฯลฯ

แต่ปัญหาใหญ่ของ Go-Jek คือยังไม่คล่องตลาดในต่างประเทศ ดูได้จากบริการทั้งหมดที่ว่ามานั้น ยังให้บริการแบบครบวงจรเพียงแค่ในอินโดนีเซียเท่านั้น อย่างในไทยที่ Go-Jek (ในนาม GET) เข้ามาให้บริการมีเพียงแค่ 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ เรียกรถมอเตอร์ไซค์ สั่งอาหาร และส่งของเดลิเวอรี่ ส่วนบริการที่สำคัญและต่อยอดไปสู่ธุรกิจใม่ๆ ได้อีกมากอย่าง Go-Pay ที่ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่เปิดบริการ ตอนนี้คนไทยที่ใช้ GET จึงสามารถชำระได้แค่เพียงเงินสดเท่านั้น

ที่สุดแล้ว การเป็นซุปเปอร์แอพ = จะเหลือผู้ชนะเพียงรายเดียว?

เส้นทางการเป็นซุปเปอร์แอพของทั้ง 2 รายต่างมีความชัดเจน แต่ถ้าถามว่าใครจะเป็นผู้ชนะ นักวิเคราะห์มองว่าในท้ายที่สุดการชนะในความเป็นซุปเปอร์แอพอาจหมายถึง การเหลือผู้ชนะเพียงรายเดียวในตลาดซุปเปอร์แอพที่มีฐานรากมาจากธุรกิจเรียกรถ-ขนส่ง

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นการแข่งขันย่อมดุเดือดอย่างแน่นอน ปัจจุบันยอดการดาวน์โหลดของ Grab ยังเหนืออยู่กว่าเล็กน้อย เนื่องจากการทำตลาดนอกประเทศมานานกว่า โดยมียอดอยู่ที่ 139 ล้านครั้ง ในขณะที่ Go-Jek อยู่ที่ 108 ล้านครั้งเท่านั้น (นี่ขนาดที่ Go-Jek ยังบุกตลาดนอกอินโดนีเซียได้ไม่นานเท่าไหร่ แต่ยอดดาวน์โหลดก็ใกล้เคียงกันแล้ว)

แต่ถึงที่สุด หากต้องการเป็นซุปเปอร์แอพแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งสำคัญของ Grab ย่อมหนีไม่พ้นการเจาะเข้าไปในตลาดอินโดนีเซียเพื่อต่อสู้กับ Go-Jek อย่างทัดเทียม เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนด้านของ Go-Jek ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากจำเป็นต้องบุกตลาดนอกอินโดนีเซียอย่างเกรี้ยวกราดมากกว่านี้ โดยเติมบริการให้ครบวงจร เพื่อแข่งกับ Grab นั่นเอง

[แถม] วิวาทะผู้บริหาร Grab vs. Go-Jek ?

ไม่นานมานี้ มีวิวาทะของผู้บริหาร Grab และ Go-Jek ที่พูดถึงเรื่องความเป็นซุปเปอร์แอพ และค่อนข้างเดือดอยู่พอสมควร

โดย Nadiem Makarim ผู้ก่อตั้ง Go-Jek ได้บอกว่า อันที่จริงแล้ว คำว่า “ซุปเปอร์แอพ” Go-Jek ใช้มาก่อน และการที่ Grab พยายามจะใช้คำว่าซุปเปอร์แอพ เป็นเพียงการลอกเลียนแบบเท่านั้น

  • “มันน่าสนใจมากนะที่ Grab เริ่มพยายามที่จะดึงเอาคำว่าซุปเปอร์แอพออกไปจากเรา ผมเลยรู้สึกว่า ขอโทษทีนะ ธุรกิจของคุณปีแรกๆ ก็ลอกเลียนแบบมาจาก Uber ทีนี้พอผ่านไปอีก 3 ปี คุณก็จะมาลอกเลียนแบบ Go-Jek ต่ออีกใช่ไหม?

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้กลับของ Anthony Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab บอกผ่านนิตยสาร Fortune ทางอีเมลมาเพียงว่า “การมีความคิดที่ดีไม่ได้รับประกันความสำเร็จเสมอไปนะครับ”

ปล. อันที่จริงแล้ว 2 คนนี้เป็นเพื่อนกันสมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ดเสียด้วยซ้ำ การต่อสู้ทางธุรกิจในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการสู้กับอดีตมิตรสหายของตัวเองด้วยกันทั้งคู่

ข้อมูล – Fortune, Zdnet, The Jakartapost

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา