เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จีนสั่งแบนสร้างตึกสูงเสียดฟ้า ต่อไปสร้างได้แต่ตึกที่เป็นมิตรกับผู้คน

จีน ตึกระฟ้า china urban
Chinese high-rise buildings Photo by Pat Whelen on Unsplash

จีนกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากที่ รัฐบาลกลางของจีนออกคำสั่งในเดือนเมษายนเพื่อลดการสร้างตึกสูงเสียดฟ้าในจีน เพราะพบว่าตึกระฟ้าเหล่านี้นำไปสู่ปัญหามากมาย โดยเฉพาะในวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

ในเดือนเมษายน จีนได้ออกคำสั่งรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการชะลอและยับยั้งการสร้างตึกสูง รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างที่มีขนาดใหญ่เกินไป โดยมีคำสั่งดังนี้

  • การสร้างตึกที่สูงกว่า 100 เมตร จะต้องทำการศึกษาถึงความจำเป็นในการสร้างอย่างรอบด้าน
  • การสร้างตึกที่สูงกว่า 250 เมตร จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด
  • การสร้างศูนย์บันเทิง (Entertainment Complex) ที่มีพื้นที่มากกว่า 30,000 ตารางเมตร จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ออกมาให้คำแนะนำผ่านวารสาร Qiushi ของพรรคคอมมิวนิสต์ว่า เราไม่สามารถเร่งพัฒนาความเป็นเมืองโดยอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ละเมืองควรพิจารณาถึงความหนาแน่นของประชากรในเมือง โดยเฉพาะในมหานคร (เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้) ก็ควรสร้างมาตรฐานเฉพาะออกมา

จีนเอาจริงเรื่องลดการสร้างตึกระฟ้า

ไห่หลงเจียง มณฑลที่อยู่สุดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ติดกับประเทศรัสเซีย เป็นมณฑลล่าสุดที่ตอบรับคำสั่งจากรัฐบาลกลางว่าจะไม่อนุญาตให้มีการสร้างตึกที่มีความสูงเกิน 500 เมตร ซึ่งขณะนี้ตึกที่สูงที่สุดในไห่หลงเจียงคือ อาคาร 1 ของ R&F Center มีความสูงเพียง 270 เมตร

โดยก่อนหน้านี้ มีหลายมณฑลที่ประกาศนโยบายออกมาสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาลกลาง

ส่วนกรณีที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ตึก China Resource Hubei Landmark ในมหานครเซิ่นเจิ้น ซึ่งในตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะว่าจะสร้างให้มีความสูง 830 เมตร

นี่เป็นโปรเจกต์ล้มยักษ์ที่จะสร้างเพื่อเอาชนะตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่าง Burj Khalifa ในมหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ที่มีความสูง 828 เมตร แต่ในภายหลัง สถิตินี้ก็ยังไม่ได้ถูกทำลายเพราะตึก China Resource Hubei landmark ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้ ถูกตัดทอนเหลือแค่ 500 เมตร เท่านั้น

จีนเจ้าแห่งตึกระฟ้า

จีน Shanghai Tower
Shanghai Tower Photo by JM Dav on Unsplash

ประเทศจีนเรียกได้ว่าเป็นประเทศเจ้าแห่งการสร้างตึกระฟ้าอย่างแท้จริง จากรายงานของ Council on Tall Buildings and Urban Habitat องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและก่อสร้างตึกระฟ้า พบว่า

  • Shanghai Tower ในมหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นตึกที่สูงที่สุดอันดับ 2 โดยมีความสูง 623 เมตร
  • 5 ใน 10 ตึกที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในประเทศจีน
  • 44 ใน 100 ตึกที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในประเทศจีน

Song Yingchang นักวิจัยด้านเมืองและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตึกระฟ้าเกิดจากการเร่งรัดพัฒนาความเป็นเมือง จนผู้คนอพยพเข้าเมืองมาแสวงโอกาสในการทำงานที่ดีกว่า ส่งผลให้อุปสงค์ในที่พักอาศัยสูงขึ้นบนที่ดินจำนวนเท่าเดิม

นอกจากนี้ ตึกระฟ้าถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน ตึสูงหลายๆ ตึกเป็นความฟุ้งเฟ้อเพื่อแสดงสถานะของประเทศจีน มากกว่าความจำเป็นด้านที่พักอาศัยสังเกตได้จากการสร้างตึก Goldin Finance 117 สูง 600 เมตร ในมหานครเทียนจิน ทั้งๆ ที่ยังมีที่ดินให้ใช้สอยอีกจำนวนมาก

ที่น่าสนใจคือ จีนมีจำนวนประชากรมหาศาล และมีการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเห็นได้โดยอ้อมจากการที่ เกือบครึ่งหนึ่งของตึกที่สูงที่สุดในโลกตั้งอยู่ในประเทศจีน และนี่เป็นข้อเท็จจริงที่น่าตกใจมาก

แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เหตุใดจีนถึงต้องการยุติความคลั่งไคล้ในการสร้างตึกระฟ้า

ตึกระฟ้ามีค่าใช้จ่ายมหาศาลและไม่ยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงยอมหันหลังให้กับตึกสูงในครั้งนี้ของทางการจีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองและชนบทบอกว่าเป็นเพราะ “เมืองใหม่ๆ จะต้องหันไปสร้างอาคารที่เหมาะสมต่อการใช้งาน มีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความสวยงามเชิงศิลป์ มากกว่าที่จะสร้างตึกที่เน้นสูงเข้าว่าเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินให้สูงที่สุด”

Beijing China จีน
ภาพตึกในกรุงปักกิ่งจาก Unsplash

กรณีที่เป็นจุดพลิกผันให้เกิดนโยบายยับยั้งการสร้างตึกสูงในจีนคือ โปรเจกต์การสร้างตึก Goldin Finance 117 ในมหานครเทียนจิน หนึ่งในตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จที่สูงที่สุดในโลก สูง 600 เมตร ซึ่งปัจจุบันเจ้าของโครงการประสบกับภาวะล้มละลาย และไม่มีใครรับช่วงต่อโครงการเพราะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าตึกที่สร้างไม่เสร็จนั้นทำลายภูมิทัศน์เมือง มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และมีต้นทุนต่อเนื่องนานัปการ

Song Yingchang กล่าวว่าปัจจุบันมีการหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิกฤติการระบาดของไวรัส Covid-19 การสร้างตึกสูงที่แออัดนั้นมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยมากกว่า และการควบคุมการระบาดก็ทำได้แย่กว่า

ที่มา – SCMP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน