กรณีศึกษา เมื่อภาพจำของคนขับรถส่งของ กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

การแทรกซึมของภาพจำผ่านวัฒนธรรมลักษณะนี้ สะท้อนการเติบโตของตลาดเดลิเวอรี่ที่กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกกระแสหลักของสังคม

Delivery man

ภาพจำของคนขับรถส่งของ กับตลาดเดลิเวอรี่ที่เติบโต

ภาพของคนขับรถส่งของกลายเป็นภาพจำที่คนเมืองคุ้นชินบนท้องถนน ถ้าดูตัวเลขการเติบโตของตลาดเดลิเวอรี่ ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ล้วนเติบโตอย่างถ้วนหน้า

แน่นอนว่า ภาพแบบนี้สะท้อนการเติบโตของตลาดเดลิเวอรี่ ที่ในปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือก “กระแสหลัก” ของสังคมคนเมืองและในอีกหลายพื้นที่ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากตัดเรื่องตัวเลขหรือสถิติออกไป เราสามารถมองเห็นการสร้างภาพจำของคนขับรถส่งของผ่านวัฒนธรรมกระแสหลักได้ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวในรายการเกมโชว์ เพลง-มิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์สั้น และอื่นๆ อีกมากมาย

ลองไปดูตัวอย่างกัน

กรณีศึกษาจากจีน

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ คนขับรถส่งของจากแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่เบอร์ 1 ในจีนอย่าง Meituan-Dianping ซึ่งมีออร์เดอร์ส่งอาหารกว่า 25 ล้านรายการต่อวัน กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในโซเชียลมีเดียจีน เนื่องจากมีคนขับรถส่งของไปปรากฏในรายการเกมโชว์ ทั้งร้องเพลง ทำอาหาร หรือแม้กระทั่งอัดคลิปเต้นบนถนนจนเป็นกระแสไวรัลไปทั่วประเทศ

Photo: capture from https://thelowdown.momentum.asia/

ไม่หมดเพียงเท่านั้น ภาพจำของคนขับรถส่งของที่ปรากฏผ่าน “เสื้อสีเหลือง” อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้กลายเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” โดยมีการนำเอาชุดของคนขับรถส่งของ Meituan-Dianping ไปขายบน Taobao แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน และแน่นอนว่า ได้รับความนิยมอย่างสูง

กรณีศึกษาในไทย

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น ในไทยเอง เราก็ได้เห็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมทำนองนี้มาแล้วสักพัก ยกตัวอย่างเช่น Kerry Express ที่มีเพลงเป็นของตัวเองชื่อว่า “ให้เคอรี่มาส่งได้บ่” ซึ่งเนื้อเรื่องของเพลงนี้คือการตกหลุมรักกับคนส่งของในครั้งแรกที่พบ ดังนั้นเธอจึงสั่งของออนไลน์ถี่ขึ้น เพื่อต้องการจะได้พบกับคนขับรถส่งของอีกครั้งเพื่อบอกความในใจ

ปัจจุบันเพลงนี้มียอดรับชมมากกว่า 154 ล้านวิวบน YouTube

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ “ออเดอร์ส่งรัก” ของ Grab ที่นำเสนอ GrabFood บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ และสุดท้ายดูแลดีจนได้สานสัมพันธ์กันต่อ และได้สร้างวลีเด็ดขึ้นมาที่ว่า “รักแท้แพ้ grab” ปัจจุบันมียอดรับชมกว่า 1.2 ล้านวิว

การเล่นกับเพลงจากฝั่ง LINEMAN ก็น่าสนใจ เพราะจับเอากระแสของการแต่งเพลง/ร้องเพลงแบบร่วมสมัยในสังคมไทยมาผสมผสาน โดยมีทั้งการแปลงเพลง และขับร้องใหม่ในรูปแบบเพลงป๊อปที่มีแนวฮิปฮอปและท่อนแรพชนิดที่หาได้ทั่วไปในรายการร้องเพลงในยุคนี้

สรุป

จากกรณีศึกษาภาพจำของคนขับรถส่งของจากจีนถึงไทยสะท้อนภาพของตลาดส่งของเดลิเวอรี่ที่ได้รับความนิยม แต่ถึงที่สุดก็ปฏิเสธได้ยากว่า จริงๆ แล้ว มันคือปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเองแบบ organic หรือทางแบรนด์จงใจให้เกิดขึ้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่สะท้อนจากการนำเอาคนขับรถส่งของมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในลักษณะนี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า เทรนด์การส่งของแบบเดลิเวอรี่ได้กลายเป็น New Normal แห่งยุคสมัยของหลายสังคมไปแล้ว

จากยอดวิว ยอดชม และการตอบรับผ่านสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น มิวสิควิดีโอที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ ถึงที่สุด มันบอกเราอย่างหนึ่งว่า จำนวนของคนขับรถส่งของและลูกค้าที่สั่งซื้อของผ่านออนไลน์มีจำนวนมากพอ ที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องจริง และเป็นภาพที่แสนปกติในสังคมยุคปัจจุบัน

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทลูกในเครือของ Wongnai 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา