ประเทศไทยยังไงดี? ประชาชนเกือบครึ่ง ‘รายได้’ น้อยกว่า ‘ค่าครองชีพ’ ที่ต้องแบกแต่ละเดือน

สะท้อนภาพประเทศไทยปี 2565! ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ครัวเรือนไทยต้องแบกรับเฉลี่ยอยู่ที่ 18,145 บาท แต่คนเกือบครึ่งมีรายได้ไม่มากพอที่จะจุนเจือค่าครองชีพตรงนี้

ค่าใช้จ่ายพุ่ง คือเรื่องที่คนไทย (และทั่วโลก) พูดถึงในช่วงนี้ เพราะแน่นอนว่าเศรษฐกิจโลก ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างชะงัก จากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าอื่น ๆ สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของธุรกิจพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งก็กลับมากระทบกับชีวิตประจำวันของคนทุกคน

ช่วงที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18,145 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2565 จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และที่สำคัญคือรายจ่ายกว่า 45% ไปกองอยู่ที่ “ค่าที่พักอาศัยและพลังงาน” กับ “ค่าโดยสารและโทรศัพท์”

ทั้งนี้ ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย

  • ค่าโดยสาร โทรศัพท์ 4,235 บาท
  • ที่พักอาศัย พลังงาน 4,018 บาท
  • เนื้อสัตว์ 1,768 บาท
  • ทานอาหารในบ้าน 1,622 บาท 
  • ทานอาหารนอกบ้าน 1,247 บาท
  • ผัก ผลไม้ 1,012 บาท
  • แพทย์ 978 บาท
Bangkok Retail กรุงเทพ ค้าปลีก
ภาพจาก Shutterstock

และค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่เหลือ คือ

  • หนังสือ สันทนาการ 760 บาท
  • ข้าว แป้ง 675 บาท
  • เครื่องปรุง 430 บาท
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ 396 บาท
  • นม ไข่ 389 บาท
  • เสื้อผ้า 375 บาท
  • บุหรี่ เหล้า เบียร์ 240 บาท

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ครัวเรือนไทยเกือบครึ่งมีรายได้น้อยกว่าค่าครองชีพเฉลี่ย เพราะกว่า 40% มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 16,852 บาท น้อยกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายนที่ 18,146 บาท 

Bangkok Bus รถเมล์ กรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ แบ่งครัวเรือนไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่ 20% ที่จนที่สุด ไปจนถึง 20% ที่รวยที่สุด โดยแต่ละกลุ่ม (ซึ่งประกอบด้วยคน 20% ของประชากร) มีรายได้เฉลี่ย ดังนี้

  • คนจนสุด 20% 11,135 บาท
  • คนรายได้น้อย 20% ถัดมา 16,852 บาท
  • คนมีรายได้ 20% ตรงกลาง 22,106 บาท
  • คนรายได้สูง 20% ถัดมา 29,211 บาท
  • คนรวยสุด 20% 57,461 บาท

ต้องกล่าวด้วยว่า รายได้ครัวเรือนของคนไทย 5 กลุ่ม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นตัวเลขล่าสุดปี 2564 แต่ ‘สมมติ’ คร่าว ๆ ว่าต่อให้ครัวเรือนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 5% คนไทยกลุ่มนี้ที่มีจำนวนกว่าครึ่งก็จะยังมีรายได้ไม่เกินค่าใช้จ่ายอยู่ดี

อ่านบทความอื่นๆ ใน Cost of Living Series ได้ที่นี่

ที่มา – สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา