เป็นโสด (ที่ไทย) มันโหดร้าย! ค่าครองชีพตัวคนเดียวสุดแพง ค่าแรงแสนถูก เมื่อเทียบกับเมืองนอก

เป็นโสดที่ไทยมันโหดร้าย ค่าครองชีพสูงกว่ารายได้ แทบไม่มีเงินเก็บ แถมไม่มีใครช่วยเฉลี่ยภาระการครองชีพ แล้วประเทศอื่นสถานการณ์เป็นอย่างไร Brand Inside จะพาไปชม

บอกเลยว่าเป็นโสดที่ไทยมันยาก! อยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะค่าครองชีพคนไทยไม่ใช่ถูกๆ เทียบกับรายได้ที่ได้รับแต่ละเดือน ที่สำคัญคือเมื่อไม่มีคนอยู่ด้วย ค่าครองชีพที่ต้องแบกรับก็จะสูงกว่า

รายได้เฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่เดือนละ 18,504 บาท โดยต้องหมดไปกับค่าครองชีพโดยเฉลี่ย (ไม่รวมค่าที่พัก) 18,167 บาท และค่าเช่าที่พักใจกลางเมืองที่ 13,777 บาท แต่ถ้าหากเลือกที่จะพักนอกเมืองค่าเช่าจะอยู่ที่ 7,197 โดยเฉลี่ย จากข้อมูลของ Numbeo ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพระดับโลก

หมายความว่า ค่าใช้จ่ายรวมใน 1 เดือน จะอยู่ที่ 25,364 – 31,944 บาท ‘มากกว่ารายรับ’ ถึง 6,860 – 13,440 บาท ขึ้นอยู่กับที่พักอาศัยที่เลือก

รายได้และค่าครองชีพที่ยกมาคือค่าเฉลี่ย หมายความว่าจะมีหลายคนที่มีรายได้และค่าครองชีพมากกว่าค่าเฉลี่ย และมีหลายคนที่มีรายได้และค่าครองชีพน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

Bangkok Face Mask 2020 กรุงเทพ คนใส่หน้ากาก
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลค่าครองชีพของไทยบน Numbeo มาจากค่าเฉลี่ยในกรุงเทพมหานคร พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้ตัวเลขออกมาค่อนข้างสูง ดังนั้น ค่าครองชีพและรายได้ในต่างจังหวัดจะต่ำกว่าข้อมูลดังกล่าว

ต่างประเทศค่าครองชีพสูง แต่ค่าแรงสูงกว่า แถมเงินเหลือเก็บ

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้ง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน จะพบว่าแม้ค่าครองชีพจะสูงกว่าจริงๆ แต่รายได้ในประเทศเหล่านั้นก็สูงกว่าด้วย ที่สำคัญคือสูงมากพอที่จะทำให้ประชากรมีเงินเหลือเก็บสูงในแต่ละเดือนไม่เหมือนประเทศไทยที่เงินเก็บติดลบ

สถานการณ์การครองชีพใน 1 เดือน ของประเทศต่างๆ ในเอเชียมีดังนี้

สิงคโปร์

  • รายได้ 137,991 บาท
  • ค่าครองชีพรวมที่พัก 82,730 – 105,441 บาท
  • เหลือเก็บ 32,470 – 55,181 บาท (23.53 – 39.98% ของเงินเดือน)

ญี่ปุ่น 

  • รายได้ 92,390 บาท
  • ค่าครองชีพรวมที่พัก 50,804 – 62,405 บาท
  • เหลือเก็บ 29,985 – 41,586 บาท (32.45 – 45.01% ของเงินเดือน)
Tokyo Japan โตเกียว ญี่ปุ่น
ภาพจาก Shutterstock

ไต้หวัน

  • รายได้ 47,134 บาท
  • ค่าครองชีพรวมที่พัก 36,595 – 41,711 บาท
  • เหลือเก็บ 5,423 – 10,539 บาท (11.5 – 22.36% ของเงินเดือน)

ข้อมูลค่าครองชีพและรายได้ของต่างประเทศทั้งหมดมาจากแหล่งเดียวกัน คือ Numbeo สืบค้นในวันเดียวกันคือ 29 มีนาคม 2565 อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนในวันเดียวกันจากธนาคารแห่งประเทศไทย คือ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 25.06 บาท 100 เยน ต่อ 27.77 บาท และ 1 ดอลลาร์ไต้หวัน ต่อ 1.18 บาท

สรุป

ต่างประเทศมีค่าครองชีพสูงจริงอย่างที่หลายคนว่าไว้ แต่ค่าแรงก็สูงยิ่งกว่า ทำให้คนที่อยู่ตรงค่าเฉลี่ยมีเงินเหลือเก็บสบายๆ ไม่เหมือนประเทศไทยที่รายได้ต่ำกว่าค่าครองชีพซึ่งหมายความว่าคนจำนวนมากมีความเป็นอยู่ ‘ใต้เส้นค่าเฉลี่ย’ ต้องยอมลดสภาพความเป็นอยู่ลงต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพทั่วไป ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นไม่ต้องทำแบบนั้น

อ่านบทความอื่นๆ ใน Cost of Living Series ได้ที่นี่

อ้างอิง – Numbeo

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน