ส่องสิทธิแรงงานไทย: ลาพักร้อนได้ขั้นต่ำ 6 วัน น้อยเบอร์ต้นๆ ของโลก เกือบที่โหล่ในอาเซียน

ส่องสิทธิแรงงานไทย ลาพักร้อนได้ขั้นต่ำ 6 วัน น้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกือบที่โหล่ในอาเซียน ยุโรปลาได้ 20 วันขึ้นไป สหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายรองรับ

สิทธิแรงงานไทย ก้าวหน้าแค่ไหน เทียบกับที่อื่น

ก่อนหน้านี้ Brand Inside เคยทำบทความรวบรวมประเทศที่มีข้อบังคับห้ามติดต่องานนอกเวลาทำงาน เพื่อสร้างบทเรียนให้กับแรงงานไทย ให้รู้ว่าตอนนี้โลกก้าวไปถึงไหนในเรี่องสิทธิคนทำงาน

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิของคนทำงาน คือ การกำหนดจำนวนวันลาขั้นต่ำโดยได้รับเงินเดือน (paid leave) เพราะสะท้อนว่าประเทศให้ความสำคัญกับสิทธิของคนทำงานมากแค่ไหน

ในกรณีของไทย กฎหมายคุ้มครองสิทธิให้คนทำงานสามารถลาพักร้อนได้ขั้นต่ำ 6 วัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปี สามารถยกวันลาไปสะสมในปีอื่นได้ ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541

คำถามคือ แล้วกฎหมายแรงงานของไทยให้ความคุ้มครองคนทำงานในแง่นี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน? คำถามนี้อาจตอบได้ง่ายๆ ด้วยการเปรียบเทียบจำนวนวันลาขั้นต่ำที่ยังได้รับเงินเดือนกับประเทศอื่นๆ

บางประเทศให้พัก 25 วัน ขั้นต่ำ อเมริกาไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

ต้องย้ำก่อนว่า ตัวเลขวันลาขั้นต่ำ หมายถึงตัวเลขที่กฎหมายระบุให้ธุรกิจต้องให้สิทธิแรงงานลาได้ไม่น้อยกว่าจำนวนวันที่ระบุ แต่อาจให้มากกว่านั้นได้ และที่สำคัญคือในหลายๆ ประเทศ จำนวนวันที่ลาได้จะแตกต่างออกไปตามจำนวนปีที่ทำงาน โดยในที่นี้จะยึดตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นสำคัญ

Business Insider เคยนำเสนอเรื่องนี้เอาไว้ โดยยกเอาจำนวน ‘วันลาขั้นต่ำ’ ตามกฎหมายของหลายๆ มาเปรียบเทียบกัน (ข้อมูลจาก OECD) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

  • กลุ่ม 25 วัน: ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน ลักเซมเบิร์ก สเปน (22 วัน) โปรตุเกส (22 วัน)
  • กลุ่ม 20 วัน: สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เบลเยียม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา* (18 วัน)
  • กลุ่ม 15 วัน: โคลอมเบีย ชิลี เกาหลีใต้ เวียดนาม* (12 วัน)
  • กลุ่ม 10 วัน: แคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์* (7 วัน)
  • กลุ่ม 5 วัน: จีน* เม็กซิโก (6 วัน) ไทย* (6 วัน)
  • ไม่กำหนดจำนวนวันลาขั้นต่ำ: สหรัฐอเมริกา

*ประเทศที่ทาง Brand Inside สืบค้นเพิ่มเติม โดยเป็นประเทศในภูมิเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เพื่อให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเรื่องสิทธิแรงงานทั้งบริบทระดับโลกและระดับภูมิภาค

ในอาเซียน กัมพูชามีวันลาขั้นต่ำ 18 วัน มากที่สุดในภูมิภาค โดยกฎหมายระบุให้หยุดได้เดือนละ 1.5 วัน ส่วนฟิลิปปินส์มีวันลาขั้นต่ำ 5 วัน น้อยสุดในภูมิภาค ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับไทย

เห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว (โดยเฉพาะในยุโรป) ไทยมีจำนวนวันลาขั้นต่ำตามกฎหมายน้อยกว่าพอสมควร และแม้จะมองในมุมภูมิภาคไทยก็อยู่ในอันดับหลังๆ

ที่มา – Business Insider, mom.sg, thuvianphapluat, ILO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา