โควิด-19 ระบาดจนทำให้หลายประเทศทั่วโลกปิดประเทศ งดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยใช้เหตุผลหลักๆ คือต้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ ดังนั้น เมื่อปิดแหล่งรายได้หลัก ย่อมสร้างผลกระทบหลายภาคส่วน ในห้วงยามวิกฤต ผู้คนย่อมมองหาทางออก และ Travel Bubble คือทางเลือกสำคัญที่หลายประเทศพยายามหยิบมาใช้เพื่อทำให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้
Travel Bubble คือการพยายามหาทางออกให้เศรษฐกิจในหลายประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้บ้างในช่วงที่เกิดโรคระบาดและบรรเทาการล่มสลายของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผูกยึดรายได้และผลกำไรจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นหลัก
การหยิบ Travel Bubble มาใช้ คือการที่รัฐบาลยินยอมให้พลเมืองสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้ โดยไม่ต้องถูกกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันก่อนเข้าประเทศ (ในอังกฤษ มีกฎกักกันโรคหลังโควิด-19 ระบาด กล่าวคือ เมื่อคนเดินทางเข้าประเทศ จะต้องถูกกักกันโรคก่อน เป็นระยะเวลา 14 วัน ภาคเอกชนต่างไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎได้) ส่วนใหญ่มักเป็นการจับคู่กันระหว่างประเทศที่เริ่มมีอัตราการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระดับต่ำ บางแห่งจำกัดไว้เลยว่า ต้องไม่มีคนติดเชื้อยาวนาน 30 วัน เป็นต้น
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอังกฤษเตือน กักกันโรคยาวนานคือฝันร้าย อาจทำธุรกิจล่มสลาย
- ศบค. เห็นชอบหลักการ Travel Bubble กับบางประเทศ เตรียมผ่อนคลายกิจกรรมระยะ 4
- อินโดนีเซียเริ่มใช้ Travel Bubble 4 ประเทศ: จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
- ยังไม่ไว้ใจ ออสเตรเลียอาจปิดพรมแดน ปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจนกว่าจะหมดปี 2020
- มาเลเซียทำข้อตกลงข้ามแดนกับสิงคโปร์ ยุค COVID-19 ล่าสุดชวนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทำ Tralvel Bubble
ประเทศตัวอย่างสำหรับการนำ Travel Bubble มาใช้อันดับแรกๆ ของโลก คือการจับคู่กันระหว่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย นอกจากจะเป็นประเทศที่จัดการโควิด-19 ได้ดีทั้งคู่แล้ว ทั้งสองประเทศยังเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ขณะเดียวกัน ประชาชนของทั้งฝ่ายต่างก็ไปมาหาสู่กันเป็นจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการจับคู่กันอย่างมีกลยุทธ์ เพราะเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ต้องกังวลมาก เป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน และยังมีการเดินทางระหว่างกันจำนวนมาก ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ไปเยือนออสเตรเลียมากถึง 1.2 ล้านคน ขณะที่ออสเตรเลียก็มาเยือนนิวซีแลนด์มากถึง 1.6 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดของออสเตรเลียอยู่ที่ 8,001 คน เสียชีวิต 104 คน รักษาหาย 7,090 คน ขณะที่นิวซีแลนด์ มีผู้ติดเชื้อรวม 1,530 คน เสียชีวิต 22 คน รักษาหาย 1,490 คน
ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด ในปี 2017 World Economic Forum ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้มากเป็น 10% ของ GDP โลก และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากถึง 50% ภายในทศวรรษหน้า ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ยากแล้ว เมื่อคำนึงถึงโรคระบาดในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันได้ และอาจเป็นไปได้ว่าเราต้องใช้ชีวิตแบบที่มีไวรัสระบาดต่อไปจนกว่าจะผลิตวัคซีนได้ ซึ่งก็อาจจะภายใน 2 ปีข้างหน้านี้หรือมากกว่านั้น
แน่นอนว่า การเปิดรับชาวต่างชาติเข้าประเทศอาจสร้างความเสี่ยงในการนำเข้าโควิด-19 มาแพร่ระบาดในไทยบ้างไม่มากก็น้อย การเดินทางออกไปต่างประเทศก็เสี่ยงไม่แพ้กัน แต่การพยายามรักษาสมดุลของเศรษฐกิจให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศหลายๆ แห่ง และประคับประคองธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางไม่ให้ล่มสลายไป ก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลหลายประเทศต้องทบทวนนโยบายในการเปิด-ปิดประเทศ
ขณะนี้ หลายประเทศควมคุมโรคระบาดได้แล้ว ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ตลอดจนประชาชนดูแลสุขอนามัยตนเอง ใส่หน้ากากป้องกันโรค หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่เสี่ยง เหล่านี้ก็ถือว่าป้องกันโรคระบาดได้ระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งการคัดกรองการเข้าประเทศของคนต่างชาติ การเลือกจับคู่ประเทศที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ในระดับเดียวกันหรือดีกว่าย่อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากขึ้น
หลายๆ ครั้งเราจะเห็นหลายประเทศมีสภาพเศรษฐกิจเสียหายร่อแร่เพราะการที่ผู้นำประเทศตัดสินใจช้าเกินไป ไม่ทันเหตุการณ์ หรือไม่ตัดสินใจ จึงทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลงเรื่อยๆ การเห็นปัญหา เห็นทางออก แต่ไม่ตัดสินใจแก้ปัญหา ก็เป็นปัญหาไม่น้อย
ถึงที่สุดแล้ว ผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์ในหลายประเทศจึงตัดสินใจบนพื้นฐานที่คำนึงถึงผลกระทบมหาศาลจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนสูงสุด 1.1 พันล้านคน ผู้คนจะตกงานโดยตรงมากสุด 120 ล้านตำแหน่ง แน่นอนว่า การตกงานของผู้คนจำนวนมากไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคมแต่จะยิ่งแพร่กระจายปัญหาสังคมเป็นลูกโซ่ตามมานับไม่ถ้วน Travel Bubble จึงถือเป็นทางเลือกที่เป็นทางหลักและเป็นช่องทางสำคัญที่จะประคับประคองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ให้แย่ลงกว่าเดิมได้
ที่มา – Asia Nikkei, WEF
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา