[วิเคราะห์] KTB-KBank-SCB ประกาศสงครามแพลตฟอร์มดิจิตอลอะไรจะเกิดขึ้น?

หลายปีนี้ใครๆ ก็เบื่อที่จะเดินเข้าสาขาธนาคารแล้วหันมาใช้ Mobile Banking บนมือถือแทน ไม่ว่าจะโอน จ่ายบิล ฯลฯ เลยกลายเป็นช่องทางใหม่ของแบงก์ที่ใครไม่ทำ ให้ง่าย ให้เร็ว ก็แพ้เกมส์นี้ไป

ล่าสุดเราเห็นแบงก์ใหญ่ 3 ค่าย เขย่าโลกดิจิตอลผ่านการปรับโฉม Mobile Banking ให้เหมือนธนาคารอยู่บนมือถือ และต้องทำให้ผู้บริโภคติดใจ ทุกแบงก์เลยตั้งโจทย์เดียวกันในการเป็น Lifestyle Banking

กรุงไทยเขย่าตัวในรอบ 10 ปี ใช้จุดแข็งแบงก์ของรัฐ เพิ่มฟีเจอร์ที่คนอื่นไม่มี และเข้าถึงทุกกลุ่ม

จักรกฤษณ์ กลิ่นสมิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมและวิจัยทางเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ถือเป็นการปฏิรูประบบดิจิตอลของแบงก์ในรอบ 10 ปี และการเปิดตัวโมบายแบงก์กิ้งตัวใหม่ “กรุงไทย NEXT” จะทำให้สร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า เพราะปรับหน้าแอพฯ ใหม่  เพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ให้ใช้ง่ายขึ้น

ตอนนี้ฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด เป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่เราก็พยายามเข้าถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะ Gen Y มากขึ้น กรุงไทย NEXT จึงเป็น Lifestyle Banking ที่มีมากกว่าธุรกรรมโอน-เติม-จ่ายบิล แต่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันเยอะขึ้น เช่น บริการ Krungthai Travel Card ที่นักเดินทางแลกสกุลเงินต่างประเทศเก็บไว้ในบัตรได้ผ่านมือถือ บริการเปิดบัญชีและซื้อขายกองทุน บริการพร้อมเพย์ ขอข้อมูลเครดิตบูโร บริการ Pay Alert ฯลฯ

นอกจากนี้จะมีฟีเจอร์ที่คนอื่นไม่มี เป็น “Killer Feature” จะมีเดือนละอย่าง เช่น เดือนหน้าเป็นเรื่อง Cross Border Payment (การโอนเงินข้ามประเทศ) ก่อนสิ้นปีนี้จะมีกดเงินไม่ใช้บัตร และหลังจากนี้เมื่อ National ID ภาครัฐเกิดขึ้นเราก็จะทำ Digital Lending หรือการกู้เงินออนไลน์ตามมา

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นแบงก์พาณิชย์ของรัฐ กลยุทธ์หลักคือเสนอบริการการเงินให้ประขาชนตามนโยบายของภาครัฐ ทำให้เรามีจุดแข็งคือมีสาขาแบงก์เยอะที่สุดในประเทศ แม้ว่าสาขาจะอยู่ไกลแต่เราก็ต้องมีเพือให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินให้ได้ ขณะเดียวกันเราเชื่อมโยงกับรัฐทำให้มีบริการที่คนอื่นไม่มี เช่น สั่งจองล็อตเตอรี่ จ่ายค่าปรับจราจร ฯลฯ แถมยังเชื่อมกับฐานลูกค้าขนาดใหญ่อย่าง บัตรสวัสดิการอีก 11.4 ล้านคน

และเมื่อโลกดิจิตอลขยับเข้ามาใกล้ชีวิตคนมากขึ้น ถ้าลูกค้าเรายังใช้ไม่เป็นแอพฯ หรืออะไรไม่คล่อง เราก็มีพนักงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ สิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีฐานลูกค้า กรุงไทย NEXT อยู่ที่ 10 ล้านคน

SCB Easy ไม่หยุดความแรง ใส่การตลาด-เพิ่มฟีเจอร์เด่นเพียบ

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า SCB Easy เป็นช่องทางที่ทำให้แบงก์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้า ดังนั้นในแอพฯ ต้องมีฟีเจอร์ที่ใช้ได้จริง มากกว่าฟีเจอร์พื้นฐาน ถอน-โอน-จ่ายบิล ต้องเข้าให้ถึง Lifestyle Banking อย่าง เปิดให้ลูกค้าจองตั๋วหนังของ SF ได้ เลือกรายการผ่อนชำระสินค้าได้เอง ตั้งค่าเปิด-ปิดบัตรเครดิตได้เอง กดเงินสดไม่ใช้บัตร ต่อไปจะมีกดเงินจากบัตรเครดิตโดยไม่ใช้บัตรตามมาภายใน 6 เดือนนี้

SCB Easy มาพร้อมกับ #เป็นทุกอย่างให้คุณ ดังนั้นนอกจากบริการหน้าบ้านที่เข้าถึงลูกค้า ถูกที่ถูกเวลา ไทยพาณิชย์เลยใช้ Big Data มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า สร้างผลิตภัณฑ์การเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้า

เมื่อทุกแบงก์มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เราก็ต้องแก้ Pain Point ของลูกค้าเช่น ให้ลูกค้าทำ E-KYC (ระบุตัวตน) และสามารถเปิดบัญชีผ่านมือถือ การขอรับเอกสารต่างๆ รวมไปถึงการขอสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) ผ่านแอพฯ แต่เรายังต้องใช้การตลาดดึงให้ลูกค้ามาลองใช้ Mobile Banking เช่น การยกเลิกค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่าน SCB Easy (แถมมีแจกรางวัลให้คนที่จ่ายบิลผ่านแอพฯ ด้วย) แต่ตัวแอพฯ ก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ อีกเพียบต่อไป “ธนาคารจะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่ธนาคาร”

ปัจจุบัน SCB เรามีลูกค้าเปิดบัญชีอยู่ 15 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2561 นี้จะมีผู้ใช้ SCB EASY 10 ล้านราย และสิ้นปี 2562 จะมีผู้ใช้งานที่ 12.5 ล้านราย จากตอนนี้ SCB EASY มียอดผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านราย

กสิกรไทย ส่งตระกูล KPlus เจาะทุกเซคเมนท์ พร้อม Kade เชื่อมทุกแพลตฟอร์ม ตั้งเป้าฐานลูกค้า 100 ล้านคน

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เราตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Mass มากที่สุด ตามมอตโต “บริการทุกระดับประทับใจ” และเข้าถึง Lifestyle ของลูกค้ามากขึ้นอย่างโปรโมชั่นร้านค้าเด่นๆ จากเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่

KPlus ไม่ใช่แค่แอพฯ Mobile Banking แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงบริการต่างๆ ของธนาคารให้มาอยู่บนมือถือ ซึ่งเชื่อมกับ KADE หรือ AI-ปัญญาประดิษฐ์ ให้ธนาคารรู้จักและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น อย่างตอนนี้กสิกรไทย ใช้ KADE เสนอสินเชื่อออนไลน์ผ่านมือถือให้ลูกค้า เมื่อลูกค้าสนใจก็สามารถกดสมัครผ่าน KPlus ได้เลย ซึ่งจะช่วยแบงก์คัดกรองความเสี่ยงของลูกค้าที่ขอสินเชื่อด้วย นอกจากนี้ยังมี K+ Market ที่จะเปิดพื้นที่ให้ลูกค้าขายของได้ง่ายขึ้น มีช่องทางกระจายสินค้าให้คนอื่นเห็นมาขึ้นด้วย

ตอนนี้ K PLUS เปิดใช้งานมาแล้ว 5 ปี ณ​ เดือน ก.ย. 2561 มียอดผู้ใช้ 9.4 ล้านราย จากลูกค้า KBank ทั้งหมด 15 ล้านราย แต่เป้าหมายในอนาคตแบงก์มองว่าจะมีฐานลูกค้าถึง 100 ล้านคน นอกจากคนไทยต้องมีบริการให้คนต่างประเทศด้วย ดังนั้นแพลตฟอร์มที่ทำอยู่ทุกวันนี้ต้องต่อยอด และเชื่อมโยงกับมาตรฐานของสากลได้ด้วย

สรุป

ดิจิตอลเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิดลูกค้าไปหมดแล้ว เลยกลายเป็นหน้าที่ของแบงก์ที่ต้องตามใจลูกค้าให้ถูกจุด ขณะเดียวกันต้องวางแผนลงทุน ให้สามารถทำธุรกิจในต้นทุนที่ถูกลงในอนาคต 3 ค่ายแบงก์ใหญ่เลยไม่น้อยหน้าเร่งเครื่องปรับแพลตฟอร์มดิจิตอลหลังบ้านแล้ว ก็ต้องปรับโฉมแอพฯ  Mobile Banking หน้าบ้านให้ใช้ง่ายขึ้นด้วย อย่าง KPlus SCB EAsy ที่แข่งกันลดค่าธรรมเนียมเพิ่มบริการให้เหมือนมีสาขาอยู่บนมือถือ แม้ว่า กรุงไทย NEXT จะตามหลังมา แต่ด้วยความเป็นแบงก์พาณิชย์ของรัฐ ก็มีฟีเจอร์และบริการที่คนอื่นไม่มีเพียบ เช่น ซื้อล็อตเตอร์รี่ จ่ายค่าปรับจราจร ฯลฯ

หลังจากนี้เราคงเห็นบริการใหม่ๆ จากแบงก์พาณิชย์อีกเพียบ เรียกว่าสงครามแพลตฟอร์มดิจิตอลครั้งนี้ผู้ชนะคงจะเป็นลูกค้าอย่างเรา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง