dtac ประกาศยกเลิกวัดผลคนในองค์กรด้วย KPI หันมาใช้การวัดผลรูปแบบใหม่ เน้นดึงจุดแข็งของพนักงานมาใช้ทำงาน เพื่อสานต่อแผนแบรนด์ดิจิทัลเบอร์ 1 ของไทยในปี 2020
dtac ยกเลิก KPI
dtac แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนว่า dtac ได้ยกเลิกการวัดผลการทำงานแบบ KPI (Key Performance Indicator) มาตั้งแต่ต้นปี 2018 แล้ว โดยถือเป็นหนึ่งในแผนของ dtac ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านดิจิทัลในประเทศไทยในปี 2020
คำถามก็คือ ทำไม dtac ถึงยกเลิกการวัดผล KPI
นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ของดีแทค บอกว่า “KPI เป็นนวัตกรรมการวัดผลการทำงานของศตวรรษที่แล้ว”
KPI คือการตั้งเป้าการทำงาน และคาดหวังว่าพนักงานต้องทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านปริมาณ และ performance ยกตัวอย่างเช่น ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง พนักงานทำงานได้ 1 ชิ้น ตามหลักการของ KPI จะคาดหวังว่าพนักงานควรจะทำงานได้ไวขึ้น และรวดเร็วขึ้น ดังนั้น จาก 1 ชิ้นต่อ 1 ชั่วโมง จึงต้องกลายเป็น 2-3 ชิ้นต่อ 1 ชั่วโมง
นาฏฤดี เรียกการวัดผลการทำงานแบบนี้ว่าเป็นการ “เน้นผลของปริมาณ” ในงานเดิมๆ วิธีการแบบนี้ไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และที่สำคัญ ไม่ตอบโจทย์องค์กรในยุคดิจิทัลที่มีความต้องการความสร้างสรรค์สูงมาก
นาฏฤดี ยกงานวิจัยของ Gallup บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาองค์กร โดยศึกษาถึงความพึงพอใจของพนักงานในสหรัฐอเมริกาต่อการวัดผลแบบ KPI ในที่ทำงาน พบว่า มีพนักงานเพียง 14% เท่านั้นที่พึงพอใจกับการวัดผลแบบ KPI ส่วนที่เหลือกว่า 86% ไม่พอใจ
นอกจากปัญหาเชิงบุคคลแล้ว การวัดผลแบบ KPI ยังส่งผลโดยตรงในเชิงโครงสร้างขององค์กรด้วย เพราะการวัดผลแบบ KPI จะทำให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในระดับกลางๆ เนื่องจาก KPI จะทำให้ผลลัพธ์ของการวัดผลออกมาเป็นรูประฆังคว่ำ หมายความว่า คนที่ทำงานด้อยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่ทำงานได้ดีจะไปได้ไกลกว่าคนอื่นๆ และพนักงานส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่กลางๆ
- ถ้ามองในภาพรวมขององค์กรแล้ว จะเหมือนการย่ำอยู่กับที่ เพราะทุกคนในองค์กรจะสนใจทำงานในพื้นที่ของตัวเอง แต่ที่น่าเศร้าคือ ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ไร้นวัตกรรม และแน่นอนต่อไปจะไม่สามารถแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลที่ต้องการความสร้างสรรค์ได้
ยกเลิก KPI แล้ว dtac จะใช้อะไรวัดผลคนในองค์กร?
เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในยุคดิจิทัล การที่ dtac ประกาศยกเลิก KPI จึงสมเหตุสมผล และได้หันมาใช้การวัดผลที่ “จุดแข็ง” ของพนักงานแต่ละคนแทน
นาฏฤดี เสนอทางออกในการวัดผลแบบใหม่ โดยอ้างอิงจากงานของ CliftonStrengths ที่ค้นพบว่า คนที่รู้จุดแข็งของตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่ไม่รู้ถึง 3 เท่า และมากกว่านั้นคนที่รู้จุดแข็งของตัวเอง ถ้าได้เอามาใช้ในการทำงาน จะรู้สึกมีความผูกพันธ์กับงานมากกว่าคนที่ไม่รู้ถึง 6 เท่า
การวัดผลแบบใช้จุดแข็งของพนักงานแต่ละคนอาจเรียกได้ว่าเป็นการวัดผลแบบ OKR (Objectives and Key Results) โดยวิธีการวัดผลแบบใหม่นี้ dtac จะทำให้พนักงานรู้จุดแข็งของตัวเองว่าคืออะไร และวัดผลการทำงานจากจุดแข็งนั้นๆ รวมถึงจะมีการรับ feedback จากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานในระยะสั้นเป็นประจำ จะไม่ทำเป็นรายปีเหมือน KPI อย่างที่เคยเป็นมา
dtac เชื่อว่า วิธีการนี้จะทำให้พนักงานทำงานที่ตอบโจทย์เรื่อง Impact มากขึ้น เนื่องจากพนักงานจะได้ใช้จุดแข็งของตัวเองมาทำตามเป้าหมายของทีมและองค์กรได้อย่างเต็มศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น ทำงานสาย HR แต่มีความสามารถด้านกราฟิก ก็สามารถใช้ความสามารถนั้นมาทำให้งานที่ทำประจำอยู่ดีขึ้น และแน่นอนทักษะเสริมเหล่านี้จะมีผลต่อการวัดผลเงินเดือน โบนัส หรือตำแหน่งของพนักงานคนนั้นด้วย
นาฏฤดี ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าเรายังใช้ KPI วัดผลแบบเดิม เราจะไม่มี LINE MOBILE แบบวันนี้”
-
เปิดตัว LINE MOBILE บนเครือข่าย dtac โปรเริ่ม 249 บาท ย้ำร่วมมือกัน ส่วนตึกทำการอยู่จามจุรีสแควร์
-
dtac เคลียร์ประเด็นร้อน LINE MOBILE ยอมรับทำเอง สร้างมาแข่งกับตัวเอง ใครๆ ก็ทำ คนไทยแค่ไม่คุ้น
-
คำตอบจาก LINE MOBILE หลังเปิดตัว 1 เดือน กับ ความสงสัยการเป็นผู้ให้บริการมือถือดิจิทัล
สรุป
dtac ยกเลิกการวัดผลแบบ KPI ในการทำงาน ถือเป็นองค์กรใหญ่ในไทยที่ออกมาทำเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดนี้เข้าใจได้ เพราะ dtac ต้องการเดินตามเป้าหมายการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านดิจิทัลในประเทศไทยภายในปี 2020
ต้องดูต่อว่า ความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการวัดผลแบบใหม่ขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง dtac ที่มีพนักงานกว่า 4,700 คนจะเป็นอะไร และที่สำคัญ เราจะได้เห็นองค์กรในไทยขนาดใหญ่รายใดยกเลิกการวัดผล KPI แล้วนำระบบแบบใหม่มาใช้อีกบ้าง น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา