จะสู้คู่แข่งโลจิสติกส์? honestbee แตกไลน์ธุรกิจ ส่ง GOODSHIP มาดีลขนส่งกับอีคอมเมิร์ซโดยตรง

หลังจากที่ honestbee นำบริการซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์มาเปิดตัวในไทยได้ 6 เดือนแล้ว วันนี้ได้สานต่อธุรกิจไปทำโลจิสติกส์ขนส่งพัสดุ เน้นโมเดลแบบ B2B จะตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซ แต่คำถามคือจะสู้กับคู่แข่งในตลาดที่ทำด้านนี้โดยตรงไหวหรือเปล่า?

ทีมงาน Rider ของ honestbee และ GOODSHIP

ส่งบริการใหม่ GOODSHIP ทำโลจิสติกส์แข่งตลาดอีคอมเมิร์ซ

honestbee เปิดตัวในไทยมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่ได้เข้ามาทำตลาด Online Grocery หรือเอาที่เข้าใจง่ายอาจจะเรียกว่า บริการสั่งซื้อและส่งของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออนไลน์

แต่ก่อนที่จะไปดูว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง เราชวนไปดูบริการใหม่ที่ honestbee ส่งมาหมาดๆ เลยก็คือ GOODSHIP โดยตัวนี้เป็นซับแบรนด์ของ honestbee ที่จะช่วยส่งพัสดุให้กับลูกค้าอีคอมเมิร์ซที่ไม่มีโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง

ธีรีสา มัทวพันธุ์ Country Head ของ honestbee ที่ดูแลด้าน GOODSHIP โดยตรง เล่าให้ฟังว่า “ส่วนใหญ่อีคอมเมิร์ซมักจะเน้นไปที่การสร้างเว็บไซต์ที่ดึงดูดลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่มีอีคอมเมิร์ซน้อยรายนักที่จะมีการขนส่งที่ดี จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เรารู้เลยว่า ถ้าทำอีคอมเมิร์ซ ต่อให้ Retail ดีแค่ไหน เว็บไซต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าขนส่งไม่ดีก็คือจบ”

GOODSHIP จึงจะเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ โดยจะเน้นไปที่การทำโลจิสติกส์กับธุรกิจบริษัทหรือ B2B เป็นหลัก เป็นเสมือน Third Party ที่จะเข้ามาช่วยเหลืออีคอมเมิร์ซทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบริษัท SME และสตาร์ทอัพที่ยังขาดบริการขนส่งสินค้า

ซ้าย-ธีรีสา มัทวพันธุ์ Country Head ของ honestbee ขวา-บุญเท คำมณีวงษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย honestbee

แต่คำถามสำคัญคือ ในตลาดโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้เล่นหน้าอื่นๆ เสียเมื่อไหร่ และที่สำคัญรายอื่นๆ ยังทำโลจิสติกส์ขนส่งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น KERRY EXPRESS หรือ Lalamove หรือแม้กระทั่ง LINE MAN แต่ honestbee คือธุรกิจที่แตกไลน์มาจากบริการจัดซื้อและส่งสินค้าแบบ Online Grocery

แล้วแบบนี้ จุดเด่นของ GOODSHIP คืออะไร?

GOODSHIP บอกว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อคือ

  1. การส่งพัสดุในวันเดียวหรือวันถัดไป (Same Day and Next Day) แต่ต้องไม่ลืมว่ารายอื่นในตลาดก็มีข้อเสนอนี้เช่นเดียวกัน
  2. ความยืดหยุ่นกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะต่อให้มีเรทการ์ดระบุราคาค่าขนส่ง แต่ GOODSHIP เชื่อเรื่องการปรับให้เข้ากับธุรกิจที่เข้ามาจับเป็นพาร์ทเนอร์ พูดให้ง่ายคือ GOODSHIP จะเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าอีคอมเมิร์ซโดยตรง เพื่อสร้างเรทราคาที่ไม่ตายตัวและเหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ
  3. การเติมเต็มช่องว่างให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ข้อนี้จะมองว่าเป็นจุดแข็งก็ได้ที่ต้องการเน้นเฉพาะ B2B (เพราะถ้าลงเล่นใน C2C ไม่รอดแน่)

ก่อนหน้าการเปิดตัวในวันนี้ GOODSHIP ของ honestbee ได้มีการเปิดตัวให้บริการกับพาร์ทเนอร์ล่วงหน้าไปก่อนคือ Nu Skin, SE-ED Books, aCommerce, Aramex, Siam Outlet, City-Link และ OfficeMate แถมบอกว่าปริมาณการส่งพัสดุแต่ละวันมากกว่าการส่งสินค้าอุปโภคบริโภครวมกันเสียอีก (แต่ไม่ได้บอกตัวเลขชัดเจน) ส่วนเป้าหมายที่วางไว้คือจะต้องมีการรับส่งสินค้าวันละ 50,000 ออร์เดอร์ใน 12 เดือนข้างหน้าให้ได้

และแน่นอน ในขั้นแรกคนขับรถส่งของ GOODSHIP ก็คือคนของ honestbee เพราะต้องการให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้รับบริการที่ดี พนักงานขับรถทุกคนจะเป็นพนักงาน Full Time และได้รับการอบรมมาอย่างดี ซึ่งตอนนี้มีประมาณหลักร้อยคน (ในส่วน GOODSHIP ยังไม่รับพนักงานส่งของ Part Time เหมือนบริการของ honestbee)

เหล่าพาร์ทเนอร์ของ GOODSHIP

นอกจากดูตัวบริการใหม่ GOODSHIP ที่ส่งมาแล้ว ไปดูตัวธุรกิจหลักของ honestbee กันต่อเลย

6 เดือนที่ผ่านมาธุรกิจของ honestbee เป็นอย่างไรบ้าง?

ที่จริงแล้ว honestbee ก็รู้ตำแหน่งแห่งที่ในตลาดของตัวเองดี ด้วยการวางธุรกิจไว้เป็นบริการซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์พรีเมี่ยม ดูได้จากพาร์ทเนอร์ที่มีอยู่

บุญเท คำมณีวงษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย honestbee ระบุว่า “เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดแล้ว honestbee เป็นเบอร์ 1 ในตลาด Online Grocery ของไทย” แต่แน่นอนว่าตัวเลขในส่วนนี้ไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่เท่าที่รู้คือ

เมื่อคิดมูลค่าสัดส่วนของ Online Grocery ในตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมดของไทยนั้นคิดเป็นเพียง 3% ของมูลค่ารวมทั้งสิ้นที่ 2.52 ล้านล้านบาท หรือ 74,000 ล้านเหรียญเท่านั้น

อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ Online Grocery ทุกรายในตลาดคิดเป็นสัดส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยที่ 3% เท่านั้น ซึ่ง honestbee ระบุว่าตัวเองเป็นที่ 1 ของตลาด แต่คำว่าที่ 1 ของตลาดหมายความใน Volume เท่านั้น

ความน่าสนใจคือ ถ้าดูจากตำแหน่งแห่งที่ของ honestbee ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะถ้าดูยอดการสั่งซื้อของ honestbee ในแต่ละบิล ด้วยความที่สินค้าส่วนใหญ่เป็นพรีเมี่ยม การไต่ขึ้นสู่ราคาระดับสูงไม่ใช่เรื่องยาก และเมื่อถามต่อว่าผ่านมาแล้ว 6 เดือน ยอดการสั่งซื้อต่อบิลของ honestbee เป็นอย่างไร? honestbee ตอบทันทีว่า “ยังอยู่ในยอดเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก” ซึ่งยอดการสั่งซื้อเดิมต่อบิลก็อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทนั่นเอง ส่วนเรื่องตัวคนเลือกซื้อสินค้าหรือ Shopper ก็มีการทำงานกันวันละไม่ต่ำกว่า 400 – 500 คน

ส่วนในแง่การเติบโต honestbee ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขตรงๆ แต่ระบุเพียงว่า “โตขึ้น 100% ทุกเดือน” ส่วนมูลค่าของบริษัทเปิดเผยไม่ได้ เพราะบริษัทไม่ได้คิดจะระดมทุนแบบธุรกิจสายสตาร์ทอัพรายอื่นๆ

สรุป

การส่ง GOODSHIP ของ honestbee ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่จะมาช่วยเรื่องการขนส่งให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยจะทำในลักษณะ B2B เชื่อมต่อกับธุรกิจต่างๆ ที่เป็นออฟไลน์และออนไลน์ แต่ต้องไม่ลืมว่าคู่แข่งในตลาดก็ไม่น้อย หรืออย่างการที่ GOODSHIP ไปจับมือกับ OfficeMate แต่เมื่อไม่นานมานี้ OfficeMate ก็เพิ่งจับมือกับ KERRY EXPRESS แต่เข้าใจว่าในเชิงธุรกิจแล้ว มีการแยกลำดับชั้นของการส่งอีกที แต่ทีนี้ ถ้าคู่แข่งดีลได้ในสเกลที่ใหญ่กว่า ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจเหมือนกัน

ส่วนตัว honestbee ที่เป็น Online Grocery แม้จะบอกว่าเป็นเบอร์ 1 ในแง่ Volume ของตลาดไทย แต่ด้วยตำแหน่งแห่งที่ของ honestbee ที่มีความเป็นพรีเมี่ยม การขยายธุรกิจออกไปคงไม่ง่าย เพราะการบริการยังคงจำกัดพื้นที่อยู่เพียงกรุงเทพและปริมณฑล (มีแผนจะขยายบริการออกไปในต่างจังหวัด เพียงแต่ต้องรอเฟสต่อไปของธุรกิจ) อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ honestbee ก็กำลังเดินหน้าไปในขณะที่คู่แข่งโดยตรงอย่าง Happy Fresh ซึ่งเน้นตลาดแมสกว่าก็กำลังขยายกิจการออกไปเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา