LINE MAN จัดหนัก ปีแรกลูกค้า 5 แสน ไม่บริหารงานทั้งหมดเองแต่ Outsourcing ให้ผู้เชี่ยวชาญทำแทน

ยุคนี้เป็นยุคแห่งการ Outsourcing หรือการกระจายงานที่องค์กรคิดว่าไม่ถนัด และไม่มีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานประจำให้องค์กรอื่นทำให้ ซึ่งอีกตัวอย่างที่ดีก็คือ LINE หลังใช้กลยุทธ์นี้จนปั้นบริการส่งอาหาร และพัสดุ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ภาพจาก Facebook ของ LINE MAN

1 ปี กับยอดผู้ใช้ 5 แสนราย

พูดได้เต็มปากว่าเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะ LINE MAN บริการส่งอาหร และพัสดุภายในเขตกรุงเทพฯ เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนพ.ค. 2559 หรือครบ 1 ปีไปหมาดๆ แต่การครบหนึ่งปีนั้นมากับยอดผู้เข้าใช้งานกว่า 5 แสนคน/เดือน จากยอดผู้ใช้งาน LINE ทั้งหมด 41 ล้านคนในประเทศไทย

แต่ตัวบริการดังกล่าวจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ไปจับมือกับพาร์ทเนอร์กลุ่ม Startup อย่าง Lalamove ยักษ์ใหญ่ด้านการขนส่ง ผ่านมอเตอร์ไซค์ในสายส่งจำนวนมาก, ALPHA FAST สายส่งที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำธุรกรรมต่างๆ และ Wongnai แพลตฟอร์มที่รวมร้านอาหารในประเทศไทยไว้กว่า 2 แสนร้าน

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ LINE (คนกลาง)

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ LINE เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของบริการ LINE MAN มาจากความต้องการแก้ปัญหาการดำรงชีวิตของคนกรุงที่เร่งรีบ ประกอบกับตลาดส่งอาหาร หรือ Food Delivery ยังไม่ค่อยมีผู้เล่นมากนัก ทำให้ LINE ที่ตอนนั้นมีผู้ใช้บริการราว 3 ล้านคนกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้

จากอาหาร สู่งานไปรษณีย์ และบริการใหม่

“คนไทยกินอาหารทุกวัน เราเลยเริ่มจากตรงนี้ก่อน ผ่านการจับมือกับ Wongnai เพื่อดึงข้อมูลร้านอาหารในกรุงเทพ 30,000 ร้านได้ในทันทีที่เปิดให้บริการ ยิ่งช่วงนั้นตลาด Food Delivery แทบจะไม่เติบโต เพราะมีผู้เล่นเพียงรายเดียว แต่พอเราเข้ามาก็ทำให้ตลาดนี้คึกคัก และมีคู่แข่งหันมาพัฒนาบริการในลักษณะเดียวกันจำนวนมาก”

บริการส่งอาหารเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถสั่ง Street Food เจ้าดังมาสั่งที่บ้านได้ง่าย // ภาพจาก Facebook ของ LINE MAN

ปัจจุบัน LINE MAN มี 4 บริการประกอบด้วย

  • ส่งอาหาร มี Wongnai เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมร้าน และ Lalamove เป็นผู้ช่วยส่ง ครอบคลุมกรุงเทพ และนนทบุรี ค่าบริการเริ่มต้น 55 บาท คิดเพิ่ม 7.2 บาท/กม. ไม่รวมค่าอาหาร
  • แมสเซ็นเจอร์ มี Lalamove เป็นผู้ช่วยส่ง คิดค่าบริการเริ่มต้น 48 บาท คิดเพิ่ม 7.2 บาท/กม. หากต้องการให้กลับมาส่งพัสดุที่ต้นทางอีกครั้ง (Round-Trip) คิดเพิ่ม 75 บาท
  • ซื้ออาหารที่เซเว่น-อีเลฟเว่น มี Lalamove เป็นผู้ช่วยส่ง คิดค่าบริการเริ่มต้น 55 บาท คิดเพิ่ม 9 บาท/กม. ไม่รวมค่าสิ่งของที่ฝากซื้อ
  • ส่งพัสดุ มีค่าเข้ารับพัสดุเบื้องต้น 30 บาท และเลือกวิธีจัดส่งได้คือ ส่งด่วนด้วย ALPHA FAST ค่าบริการเริ่มต้น 35 บาท ถึงที่หมาย (กรุงเทพ และปริมณฑลเท่านั้น) ในวันรุ่งขึ้น หรือเลือกไปส่ง EMS ที่ไปรษณีย์ไทยในวันถัดไป ค่าบริการเริ่มต้น 37 บาท

ส่วนการใช้งานนั้น ส่งอาหารคิดเป็น 70% ของการใช้งานทั้งหมด รองลงมาเป็นแมสเซ็นเจอร์, ซื้ออาหารที่เซเว่น-อีเลฟเว่น และส่งพัสดุที่เพิ่งให้บริการในเเดือนเม.ย. 2560 ซึ่ง LINE MAN จะมีบริการใหม่อย่างน้อยปีละ 1 บริการหลังจากนี้

ภาพจาก Facebook ของ LINE MAN

ปั้น O2O ต่อยอดธุรกิจระยะยาว

ขณะเดียวกันการที่ LINE มีผู้ใช้บริการในระบบ 41 ล้านคน น้อยกว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่มี 44 ล้านคน ดังนั้นการต่อยอดจากผู้ใช้บริการที่อยู่บนโลกออนไลน์ ให้เชื่อมต่อโลกออฟไลน์ หรือ O2O ก็น่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มาก เช่น LINE MAN, LINE Giftshop หรือ LINE Pay ที่เป็น E-Wallet ใช้จ่ายตามร้านค้าต่างๆ ได้

สรุป

การเดินเกมของ LINE ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วหากจะขยับอะไรใหญ่ๆ ล้วนแต่หาพาร์ทเนอร์ หรือคู่ค้าในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันทั้งนั้น และจะว่าเป้นการ Outsourcing ก็คงไม่แปลก แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจในยุคนี้ที่แต่ละองค์กรควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองถนัดมากกว่า และอะไรที่ไม่ถนัด หรืออะไรที่ประหยัดค่าใช้จ่าย การ Outsourcing ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา