Happy Fresh ปรับแผนการตลาด ทุ่ม 200 ล้าน บุกตลาดออฟไลน์ มั่นใจขยายอีก 500% ไม่หวั่นแม้มีคู่แข่งเพิ่ม

ธุรกิจให้บริการซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่ดูจะตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองอย่างมาก เจ้าแรกที่มาเปิดในไทยตั้งแต่ปี 2015 อย่าง Happy Fresh ที่มีฐานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ ปีนี้มีคู่แข่งเพิ่มเข้ามาอีกหลายแห่ง ที่ชัดๆ คือ honestbee ที่ฐานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ โดยเป็นบริการตัวกลางเลือกซื้อและจัดส่งสินค้าประเภทคล้ายกัน แต่ด้วยความไม่ประมาท Happy Fresh ปรับตัวด้วยการส่งผู้จัดการคนใหม่ ปรับแผนการตลาด และลงทุน 200 ล้านในปีนี้ เพื่อตอกย้ำความเป็นเจ้าแรกและผู้นำในตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์

ปรับกลยุทธ์การตลาดรองรับความเปลี่ยนแปลง

ในบรรดาธุรกิจกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ไทย Happy Fresh เป็นเจ้าแรกที่มาเปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการมุ่งเน้ตอบโจทย์คคนเมืองและลดการสิ้นเปลืองเวลาในการออกไปซื้อสินค้าจากตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ต้องยอมรับว่า Happy Fresh เป็นผู้ครองตลาดในปัจจุบัน เพราะมีรายการสินค้าบนแพลตฟอร์มจำหน่ายมากที่สุด เนื่องมาจากไปผูกกับซุปเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ในไทย เช่น Gourmet Market (The Mall Group), Tesco Lotus, Big C และยังมีพันธมิตรอีกกว่า 10 แห่ง ได้แก่ Bei Otto German Delicatessen, Company B, Sunshine Market, Jagota Gourmet Experience, Food Glorious Food, Wine Now และกลุ่มร้านค้าเฉพาะอีกมากมาย เช่น สินค้าออร์แกนิก สินค้าอาหารและเครื่องดื่มนำเข้า

ด้วยเครือข่ายที่กว้างขวาง Happy Fresh เลยมั่นใจว่าในปีนี้จะทุ่มงบอีก 200 ล้านบาท เพื่อขยายฐานลูกค้าและทำให้กลุ่มพาร์ทเนอร์ธุรกิจโตขึ้นอีก 5 เท่าในสิ้นปีนี้ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูยอดของ Happy Fresh ในปี 2016 เทียบกับปี 2015 ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้ามาเปิดตัวในไทย Happy Fresh ได้ทำยอดเติบโตไว้ 4-5 เท่าเช่นกัน ก็น่าจับตามองว่าปีนี้จะโตได้เท่าที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

ที่น่าสนใจคือ Happy Fresh เตรียมบุกตลาดออฟไลน์ เพราะก่อนหน้านี้ Happy Fresh บุกตลาดออนไลน์อย่างหนักทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google หรือโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆ แต่หลังจากนี้การทำตลาดบนออนไลน์จะยังคงอยู่ แต่จะเน้นสร้างการรับรู้ผ่านทางออฟไลน์มากขึ้น เช่น ประชาสัมพันธ์ในแหล่งสำคัญตามจุดต่างๆ ในเมือง หรือทำ Event เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ภายใต้สโลแกน Bangkok’s #1 online supermarket

มร.เบนจมิน โคลล์แมนน์ กรรมการผู้จัดการ Happy Fresh ประเทศไทย

มร.เบนจมิน โคลล์แมนน์ กรรมการผู้จัดการ Happy Fresh ประเทศไทย บอกว่า ตลาดในไทยน่าสนใจมาก เท่าที่เห็นกันอยู่นี้นับเป็นเพียง 1% เท่านั้นในตลาดการซื้อสินค้าของชำหรือสินค้าประจำวัน อย่างในอเมริกายอดของการสั่งซื้อสินค้าผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์อยู่ที่ 10% หรือจีนที่ 15% ดูแล้วตลาดยังไปได้อีกไกลอีกแน่นอน เพียงแค่ต้องทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้ เพราะสินค้าของเราเพิ่มขึ้นทุกวัน

“ถ้าเลือกซื้อสินค้าผ่าน Happy Fresh จะเห็นได้ว่ามีสินค้ามากกว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะเรารวบรวมมาไว้ที่นี่หมดแล้ว อย่างเช่นใน Tesco Lotus แต่เดิมมีสินค้าร่วมกับเรา 8,000 รายการ ตอนนี้เพิ่มเป็น 20,000 รายการแล้ว และแม้ว่า Tesco Lotus จะทำบริการขายออนไลน์ แต่ต้องบอกว่ารายการสินค้าของ Happy Fresh มีมากกว่าทาง Tesco Lotus เสียอีก”

ด้านเป้าหมายยังคงชัดเจนว่าเป็นกลุ่มครอบครัวสมัยใหม่ คนวัยรุ่น แต่ไม่ใช่แม่บ้านที่มีเวลาในแต่ละวันไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองแน่ๆ กลุ่มเป้าหมายจึงยังเป็นกลุ่มที่ทำงานหนัก ไม่อยากเผชิญรถติด ต้องการความสะดวกสบาย และต้องการประหยัดเวลา จากสถิติแล้วพบว่า ลูกค้าเป็นผู้หญิงกว่า 70% อีก 30% เป็นผู้ชาย ในจำนวนทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็น คุณแม่สมัยใหม่ ครอบครัวสมัยใหม่ และคนวัยทำงานรุ่นใหม่ๆ

ปีนี้ยังเพิ่ม Personal Shoppers (พนักงานเลือกซื้อสินค้า) และพนักงานจัดส่งเพื่อรองรับตลาดที่จะเติบโตขึ้น โดยจากเดิมมีพนักงานทั้งหมดกว่า 100 คน จะเพิ่มให้เป็น 200-300 คน โดยพนักงานจะต้องเข้ารับการอบรมที่ Happy Fresh Academy เป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อให้เกิดความชำนาญในการเลือกซื้อสินค้า

ด้านการสั่งซื้อ โดยภาพรวมยอดสั่งซื้อในปีที่ผ่านมาอยู่ประมาณหลักร้อยออร์เดอร์ต่อวัน แต่ตั้งเป้าว่าก่อนสิ้นปีนี้จะทำให้ยอดสั่งซื้อแต่ละวันอยู่ที่หลักพัน ส่วนการสั่งซื้อสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Happy Fresh” ได้แล้ววันนี้ทั้งระบบแอนดรอยด์ ผ่านทาง Google Play Store บนระบบ iOS ผ่านทาง Apple App Store หรือสั่งซื้อสินค้าโดยตรงบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทที่ Happy Fresh ไม่มียอดสั่งซื้อขั้นต่ำ สั่งได้ตั้งแต่ 100 – 20,000 บาท ราคาส่งเริ่มต้นที่ 60 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง ส่วนราคาของเหมือนกันกับราคาในซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกประการ แต่อาจมีส่วนลดก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่น

ไม่หวั่นคู่แข่ง สนใจบริการลูกค้าของตัวเองเป็นหลัก

แม้ว่า Happy Fresh จะเปิดตัวมาเป็นเจ้าแรก และทำตลาดในไทยมาแล้วกว่า 2 ปี แต่การเกิดขึ้นของคู่แข่งอย่าง honestbee ก็น่าจับตามอง ด้าน Happy Fresh บอกว่า “ไม่ได้สนใจคู่แข่งแต่สนใจกับการให้บริการต่อลูกค้าก็พอ” อย่างไรก็ตาม ถ้าลองวิเคราะห์ดูจะเห็นว่า Happy Fresh มีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่าด้วยการผูกกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอย่าง The Mall Group, Tesco Lotus และ Big C ทำให้ตลาดมีความหลากหลาย ในขณะที่ honestbee ที่เน้นเจาะตลาดกำลังซื้อสูง แต่ความหลากหลายต่ำกว่า เพราะเน้นพาร์ทเนอร์ที่เป็นสินค้าค่อนไปทาง Exclusive products

นอกจากนั้น ถ้าดูเชิงพื้นที่ Happy Fresh ที่ทำตลาดมาก่อนบอกว่านอกจากในเขตเมืองอย่างสุขุมวิท สีลม สาธร เป็นหัวใจหลัก ปีนี้ได้ขยายไปหาพาร์ทเนอร์แถบชานเมืองมากขึ้น แต่สิ่งที่เหมือนกันยังคงเป็นการส่งสินค้าอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา