อ่านแผนและทิศทาง Grab ประเทศไทย ในวันที่ยังครองเบอร์ 1 ของตลาด ภายใต้ความท้าทายที่มีอีกเพียบ

ภายในครึ่งปีที่ผ่านมา Grab มียอดใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 100% เลยต้องไปจับมือกับพาร์ทเนอร์หน้าใหม่เพิ่ม เพื่อทำ GrabRewards รายล่าสุดคือ Spotify แต่ที่น่าสนใจคือ GrabPay ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโมเดลในอนาคตของ Grab เลยทีเดียว

ธุรกิจโต 100% ในไทย ลุยเพิ่มพาร์ทเนอร์ ขยายบริการ

Grab ประเทศไทยจัดงานแถลงข่าวใน 2 ประเด็นหลักคือ หนึ่ง-ตอกย้ำความสำเร็จในธุรกิจของปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ และสอง-พูดเรื่องการจับมือกับพาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ ในประเทศไทย

ยี วี แตง ผู้อำนวยการบริษัทแกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า “Grab เป็นผู้นำแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้บริการในกว่า 103 เมือง 7 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยมีการขยายบริการจากปีที่แล้ว 5 จังหวัด กลายเป็น 7 จังหวัดแล้วในปีนี้ ส่วนคนขับรถที่อยู่ในแพลตฟอร์ของ Grab เพิ่มขึ้น 226% จากปีที่แล้ว (แต่ Grab เปิดเผยตัวเลขแบ่งเป็นแต่ละประเทศไม่ได้ บอกได้เพียงรวมทั้งภูมิภาคว่ามีอยู่ 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่หลักแสนราย) ส่วนยอดผู้ใช้งานมีอัตราเพิ่มขึ้น 100% ในปีนี้ (และตัวเลขนี้ก็เช่นกัน Grab ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขชัดๆ ได้)”

การเติบโตของ Grab ที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ (แต่มีนโยบายไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้) Grab ก็ยังยืนยันว่า “จะโตในอัตรานี้ต่อไปเรื่อยๆ” เพราะทิศทางในอนาคตของ Grab ประเทศไทยคือ การวางตัวเป็นผู้ให้บริการขนส่ง-เดินทางที่ต้องแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ เป็นต้นว่า ล่าสุดได้มีการไปเปิด GrabRoddaeng (แกร็บรถแดง) ที่เชียงใหม่ โดยร่วมมือกับภาคราชการในท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อส่งแพลตฟอร์มเข้าไปให้บริการ

“ที่สำคัญที่สุด Grab เชื่อว่าการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ต่างกัน แต่ในทุกพื้นที่สามารถใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาได้เหมือนกัน”

ยี วี แตง ผู้อำนวยการบริษัทแกร็บ (ประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเฉพาะบริการขนส่ง-เดินทางทั้งหมดของ Grab ตอนนี้จะประกอบมีตั้งแต่ GrabTaxi, GrabCar, GrabBike, GrabExpress ส่วนล่าสุดได้ส่งแคมเปญ GrabCar + ที่เป็นรถซุปเปอร์คาร์ 3 รุ่น คือ เบนท์ลี่ย์ พอร์ช และเทสล่ามาให้ผู้บริโภคทดลองใช้บริการ แต่จะมีถึงแค่วันที่ 21 กันยายนนี้เท่านั้น

แน่นอนว่าการเติบโตที่ Grab บอกว่าเป็น 100% เท่านี้ จึงทำให้ต้องเพิ่มพาร์ทเนอร์เข้ามา เพื่อทำให้ GrabRewards มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ได้เพิ่มพันธมิตรขึ้นเป็น 150 ราย ส่วนพันธมิตรรายหลักคือ Central, iflix, McDonaldsxCocaCola และนกแอร์ ส่วนรายล่าสุดที่น่าสนใจคือ Spotify ที่ Grab บอกว่าเพียงแค่ใช้บริการ Grab และกรอกคำว่า “SPOTIFYTH” ในช่วงนี้ก็จะได้ใช้บริการฟังเพลงของ Spotify แบบพรีเมี่ยมเป็นเวลา 60 วัน

แคมเปญ GrabCar +

จับตาดู GrabPay อาจเป็นโมเดลธุรกิจหลักในอนาคตของ Grab

อีกหนึ่งบริการของ Grab ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือ ระบบการจ่ายเงิน GrabPay ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาไม่นานนี้ ถือเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ แม้ว่าตอนนี้ในไทยจะยังเป็นบริการจ่ายเงินที่ใส่เลขบัตรเครดิต แต่ต่อไปในอนาคต มีท่าทีสูงว่าจะพัฒนาให้เป็นรูปแบบ e-wallet ของ Grab เอง พูดง่ายๆ คือรูปแบบโมเดลจะคล้ายกับบัตร e-wallet ของทรูหรือบัตรสะสมเงินเอาไว้ใช้จ่ายแบบสตาร์บัคส์นั่นเอง

เมื่อถามต่อว่าจะมีการไปพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ (ในแง่ของการทำ payment ต่างๆ) Grab ระบุว่า “มีความเป็นไปได้” เพราะต่อไปในอนาคตธุรกิจต้องดำเนินไปในทิศทางนี้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือจะไม่ได้ทำแค่ให้บริการแพลตฟอร์มขนส่ง-เดินทางเท่านั้น แต่ขยายบริการไปในภาคการเงินด้วย

ทีนี้ ถ้าดูจากสถิติของการใช้ GrabPay ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าอันดับ 1 เป็นของสิงคโปร์ที่มีผู้ใช้งาน GrabPay มากที่สุด แต่ถ้าดูสถิติของประเทศที่มีการเติบโตของการชำระเงินแบบไร้เงินสดบนแพลตฟอร์ม GrabPay มากที่สุดนั้นก็คือประเทศไทย

ยี วี แตง ผู้อำนวยการบริษัทแกร็บ (ประเทศไทย)

คู่แข่งในประเทศไทยและความท้าทาย

แม้ว่าบริการเรียกรถร่วมโดยสารอย่าง Grab จะมีคู่แข่งในตลาดไม่ว่าจะเป็น Uber ที่แม้จะเข้ามาในภูมิภาคนี้แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรืออย่างล่าสุด LINE TAXI ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดในไทย หรือเอาที่สดๆ ร้อนๆ อย่าง uberMOTO ที่เพิ่งกลับมาในตลาดไทยอีกครั้ง ก็ดูเหมือนว่า Grab จะไม่หวั่น เพราะสิ่งหนึ่งที่ Grab ยืนยันและย้ำว่าเป็นจุดเด่น นอกจากการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้แล้ว คือเป็นธุรกิจที่ขอทำงานร่วมกับภาคราชการและท้องถิ่นในกรส่งบริการ ตัวอย่างเช่น การเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐในเมียนมาร์ โดยมีทั้งภาคราชการ ธนาคาร และท้องถิ่นที่ได้ร่วมมือกัน

สำหรับการแข่งขันในประเทศไทย Grab มองว่า “ไม่ว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกกี่ราย สุดท้ายก็เป็นเรื่องดีของผู้บริโภค เพราะการแข่งขันของธุรกิจคือการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดมาให้กับผู้บริโภค”

แต่ในแง่กฎหมาย เมื่อถาม Grab ประเทศไทย ยังดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้คือ “อยู่ในกระบวนการ” ทำให้ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนในเรื่องนี้มากนัก แต่ถ้าดูจากการดำเนินธุรกิจของ Grab ในหลากหลายประเทศ เราจะเห็นว่าถึงที่สุดแล้ว Grab จะเข้าหาภาครัฐและดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ แต่ถึงอย่างไร นี่ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามองกันต่อไปแบบยาวๆ

สรุป

Grab ประเทศไทยแถลงข่าวบอกเล่าถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของการทำตลาดในไทย ตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 100% ในรอบ 6 เดือนของปี 2017 เป็นเครื่องชี้วัดว่าต้องขยายพาร์ทเนอร์เพิ่ม และมากกว่านั้นบริการก็น่าจะขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย (ในส่วนนี้ Grab มีแต่แผนว่าจะขยาย แต่รายละเอียดยังไม่เปิดเผย)

แต่สิ่งที่น่าสนใจของ Grab ถ้าวิเคราะห์จากแนวโน้มของโมเดลธุรกิจ ทำให้มองได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว Grab จะไม่เป็นแค่บริษัทที่ส่งแพลตฟอร์มและนวัตกรรมที่เป็นบริการด้านการขนส่ง-เดินทางเท่านั้น แต่จะกลายเป็นบริษัทที่ลงไปเล่นในตลาดนวัตกรรมการเงินผ่านแพลตฟอร์ม GrabPay ที่หลังจากนี้เราจะได้เห็นการรุกหนักทำตลาดมากขึ้นอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา