MBTI เชื่อถือได้แค่ไหน เป็นไปได้ไหมที่บุคลิกคนเราจะนิยามได้ด้วย 4 ตัวอักษร 

เวลาเข้าไปส่องคนที่น่าสนใจบนโซเชียล หน้าไบโอหลายคนมักมีตัวอักษรเรียงกัน 4 ตัวที่คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น INFP, ISFJ หรือ ESTJ ถึงแม้จะเป็นตัวอักษรแบบไร้บริบท ไร้คำอธิบาย แต่เราก็เข้าใจกันดีว่ามาจากแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพที่เรียกว่า MBTI หรือ Myers-Briggs Type Indicator

MBTI ไม่ได้พบเจอได้แค่บนโซเชียล แต่ยังถูกนำไปใช้ในหลายวงการตั้งแต่แอปหาคู่ แบบทดสอบตอนเข้าเรียน ไปจนถึงสถานการณ์จริงจังอย่างตอนสัมภาษณ์งาน

การที่ MBTI ได้รับความนิยมก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้น่าแปลกใจอะไรเพราะบางคนมองว่าตัวอักษรบอกนิสัยเหล่านี้เป็นวิธีทำความรู้จักคนที่ไม่เคยเจอกันได้ง่ายที่สุด คงจะทำให้พอเดานิสัยใจคอ ความสนใจ กันได้ว่าคนนี้จะศีลเสมอกับเราหรือเปล่า แถมบางที MBTI ยังเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาใหม่ ๆ ได้ด้วย คำถามอยู่ตรงที่ว่าเมื่อคนเราเปลี่ยนไปอยู่ตลอด หนึ่งวันร้อยอารมณ์ แล้ว MBTI ยังจะใช้ได้ผลอยู่ไหม

มาเริ่มกันที่ที่มาที่ไปกันก่อนว่า MBTI วัดจากอะไรบ้างถึงได้ออกมาเป็นตัวอักษรทั้ง 4 นี้

แบบทดสอบบุคลิกภาพนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 โดยคู่แม่ลูกที่มีชื่อว่า Katharine Cook Briggs และ Isabel Briggs Myers เกิดมาพร้อมเจตนาที่ดีที่หวังจะช่วยให้ผู้หญิงที่กำลังจะเข้าสู่โลกการทำงานสามารถหางานที่เหมาะกับตัวเองได้ 

ทั้งคู่อ้างอิงจากทฤษฎีของ Carl Jung ที่เขียนไว้ในหนังสือ Psychological Types ในปี 1940 ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถถูกจัดแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ผู้รับรู้ (Perceiver) และผู้ตัดสิน (Judger) และทั้ง 2 ประเภทนี้ก็แบ่งแยกย่อยลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของ Jung มาจากการสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่าที่จะมาจากการทดลองและการเก็บข้อมูล เขาเองยังยอมรับว่าการแบ่งประเภทแบบนี้ไม่ได้ตายตัว และทุกคนก็เป็นข้อยกเว้นของกฎนี้ได้

แม่ลูก Myers-Briggs ได้นำทฤษฎีของ Jung มาใช้และจัดแบ่งประเภทบุคลิกภาพออกเป็น 4 ประเภทที่เป็นขั้วตรงกันข้าม 

  • Extraversion (E) – Introversion (I) การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คนที่มีบุคลิกแบบ E จะมีพลังจากการเข้าสังคมและปัจจัยภายนอก ส่วน I จะชอบอยู่ในโลกส่วนตัวและจะรู้สึกเหนื่อยหลังจากต้องเข้าสังคมหนัก ๆ 
  • Sensing (S) – Intuition (N) วิธีที่คนเก็บข้อมูล มาจากความรู้สึกหรือจากการสังเกตุรูปแบบ
  • Thinking (T) – Feeling (F) วิธีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มาจากการคิดใคร่ครวญจากข้อมูล หรือจากความรู้สึกและอารมณ์
  • Judging (J) – Perceiving (P) ชอบความเป็นระเบียบและโครงสร้างที่ชัดเจนหรือชอบความยืดหยุ่น

พอสามารถจัดแบ่งบุคลิกภาพเป็น 4 ประเภท เลยทำให้ MBTI สามารถแบ่งคนออกเป็น 16 แบบตามตัวอักษร 4 ตัวที่เราคุ้นเคยกัน แต่ละแบบยังมีชื่อเรียกอีกด้วย เช่น นักวิเคราะห์ นักออกแบบ ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้พิทักษ์ นักผจญภัย

แล้วปัญหาของ MBTI อยู่ตรงไหนกัน?

ผลทดสอบเปลี่ยนได้ ไม่มีวิทยาศาสตร์ยืนยัน

MBTI อาจพอเป็นกรอบคร่าว ๆ ว่าแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะแบบไหนได้ แต่เมื่อดูวิธีการออกแบบการทดสอบและที่มาแล้วก็จะเห็นว่าทฤษฎีของ Carl Jung ที่นำมาใช้ขาดหลักการทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์มารองรับ แถมคู่แม่ลูก Myers-Briggs ก็ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาด้วย จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าการทดสอบนี้แม่นยำและสามารถจัดประเภทคนได้จริง

Jung เองยังได้เขียนไว้ว่าไม่มีคนที่เป็น Extrovert และ Introvert อย่างเดียวแบบ 100% หากมีคนแบบนั้นจริง ๆ ก็คงจะต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช

บุคลิกและความสำเร็จไม่ได้เกี่ยวกัน

ความกำกวมของการทดสอบบุคลิกภาพแบบ MBTI ยังได้ผลไม่เท่าเดิมเมื่อทดสอบซ้ำแถมยังเป็นตัววัดความสำเร็จไม่ได้อีก การศึกษาหลายชิ้นพบกว่า เมื่อทำแบบทดสอบซ้ำแม้ว่าจะห่างกันในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อย่างเช่น 5 สัปดาห์ คน 50% จะได้ผลที่แตกต่างจากเดิม แม้คนเราจะมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปได้แต่ระยะเวลา 5 สัปดาห์เป็นช่วงที่สั้นเกินกว่าจะเห็นปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขนาดนั้น

หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพในช่วงการสมัครงานกันมาบ้างแล้วเพราะหลายบริษัทมองว่า MBTI จะช่วยเฟ้นหาคนที่มีนิสัยที่เข้ากับงานและวัฒนธรรมองค์กรได้ แปลว่าขณะสัมภาษณ์งานอาจได้ผลทดสอบแบบหนึ่ง แต่เมื่อทดสอบซ้ำทีหลังอาจได้ผลที่แตกต่าง 

บริษัทบางแห่งยังเชื่อว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบหนึ่ง ๆ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จกว่าแบบอื่น ๆ  แต่ก็มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีหลักฐานอะไรบอกได้ว่า MBTI และความสำเร็จมีความเกี่ยวข้องกัน

คนเราไม่ใช่สีขาวหรือดำ แต่มีสีสันหลากหลาย

อย่างที่ได้รู้วิธีจำแนกคนออกเป็น 4 ประเภทกันไปแล้ว หลักการของ MBTI ทำให้เกิดการแบ่งแบบขั้วตรงข้ามเหมือนกับแบ่งขาวกับดำ ถ้าไม่เป็น E ก็ต้องเป็น I เท่านั้น หรือถ้าไม่เป็น N ก็ต้องเป็น S ทั้งที่จริงแล้วคนในสังคมเป็นเฉดสีที่หลากหลายอาจเป็นทั้ง E และ I ในคนเดียวกัน แต่ทดสอบเลือกแสดงด้านที่มากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ผลลัพธ์ยังเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และอารมณ์ของผู้ทำขณะที่ลงมือทำแบบทดสอบด้วย

มีแค่คน 30% เท่านั้นที่มีบุคลิกภาพแบบสุดโต่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไปเลย เท่ากับว่า MBTI ขาดความหลากหลายและไม่สามารถวัดบุคลิกภาพของคนอีก 70% ได้ตรงตามความเป็นจริง

Forer Effect: ทำนายกลาง ๆ ไว้ก่อนจะได้รู้สึกว่าตรง

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การทดสอบบุคลิกภาพอาจไม่ได้แม่นยำขนาดนั้นมาจากการที่คนเรามีนิสัยชอบมองหาสิ่งที่มายืนยันตัวตน ความคิด และบุคลิกภาพของเราเอง หลายคนคงเคยเปิดดูเพจทายนิสัยตามกรุ๊ปเลือด หรือพูดให้เป็นปัจจุบันขึ้นอีกหน่อยก็อย่างการทายนิสัยตามวันเกิดหรือราศีที่เราจะเห็นหลายคนเข้ามาคอมเมนต์ (บางครั้งก็เป็นตัวเราเองด้วยซ้ำ) ว่าตรงมาก ตรงจนขนลุกอะไรเทือกนี้

MBTI เองก็เช่นเดียวกัน หลังทำการทดสอบระบบจะประมวลผลออกมาเป็นคุณสมบัติที่ดีของตัวเราและคุณสมบัติที่ยากจะจัดการ นิสัยเชิงบวกจะเขียนในลักษณะที่น่าอ่านด้วยน้ำเสียงชื่นชม ขณะที่คุณสมบัติที่ยังต้องแก้ไขจะถูกโฟกัสน้อยกว่า ทำให้คนอ่านรู้สึกพิเศษและรู้สึกว่าตัวเองมีบุคลิกแบบนี้โดยเฉพาะ ทั้งที่จริงแล้วก็คุณสมบัติที่เขียนไว้ก็เป็นคุณสมบัติกว้าง ๆ ที่พบเจอได้ทั่วไปในสังคม การทายนิสัยลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า Forer Effect ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอดู นักโหราศาสตร์ และการทำนายเชิง Pseudoscience ใช้กัน

ด้วยหตุผลทั้งหมดที่ว่ามาเลยทำให้ MBTI เหมาะจะเป็นการทดสอบเพื่อความบันเทิงมากกว่าจะเชื่ออย่างเอาจริงเอาจังว่าบุคลิกภาพของเราจะถูกจำกัดอยู่ภายใต้ตัวอักษรแค่ 4 ตัว ยิ่งเฉพาะในกระบวนการสมัครงานด้วยแล้ว เพราะว่าบุคลิกภาพไม่สามารถใช้คาดการณ์คุณภาพของงานและความสามารถในการทำงานได้

หากมองหาแบบทดสอบที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการคาดการณ์ความสามารถในการทำงานในช่วงกระบวนการสมัครงานอาจเป็น Predictive Hiring Assessments ที่ถูกออกแบบมาเพื่อคาดพฤติกรรมในการทำงาน ผลลัพธ์ และเกณฑ์ที่สำคัญในการวัดคุณภาพการทำงาน การทดสอบลักษณะนี้ก็อย่างเช่น Chally Assessment ของ GrowthPlay ที่ใช้ทดสอบผู้สมัครตำแหน่งพนักงานขาย 

เพราะแต่ละคนก็ไม่ใช่สีขาวและสีดำ แต่เป็นสีสันหลากหลายที่ปะปนกันในคน ๆ เดียว และคิดไว้ตลอดว่าคนเรามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและไม่มีความจำเป็นต้องนิยามตัวเองให้เป็นแบบใดแบบหนึ่งจาก 16 แบบนี้เท่านั้น

ที่มา – Vox, LinkedIn, LinkedIn 2, Psycom,

อ่านบทความในเกี่ยวกับ Worklife

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา