ไม่น้อยไป ไม่มากเกิน แค่พอดี รู้จัก “ลากอม” แนวการใช้ชีวิตสไตล์สวีเดนที่มุ่งหาความสมดุล

ท่ามกลางความวุ่นวายของการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานแบบ 9-5 ผู้คนต้องหาความสุขด้วยเวลาอันน้อยนิดที่หยุดพักจากงานทำให้หลายคนหันหน้าเข้าหา Work-Life Balance ที่ทำให้เวลาการใช้ชีวิตและเวลาที่ต้องทำงานไม่ห่างไกลกันมากเกินไป

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตให้สนุกพอ ๆ กับการทำงานให้สำเร็จจนกลายเป็นประเทศที่คนมีความสุขเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างสวีเดน แนวคิดของ Work-Life Balance ถูกรู้จักกันในชื่อ “ลากอม” (Lagom อ่านว่า ลา-กอม) ที่เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวสวีเดนมายาวนาน

ลากอมแปลได้ว่า “ไม่มากเกิน ไม่น้อยไป แค่พอดี” (Not too little, not too much — just right) หากเรียกแบบไทย ๆ ก็อาจพูดได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบทางสายกลาง 

ลากอมกว้างกว่า Work-Life Balance เพราะไม่ใช่แค่หาสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนแค่นั้น แต่ยังหมายถึงการหาสมดุลในทุกเรื่องอย่างการบาลานซ์ระหว่างการอยู่คนเดียวและการเข้าสังคม ลากอมยังเปลี่ยนแปลงตามบริบท เมื่อพูดถึงการเข้าสังคมอาจหมายถึงกาลเทศะ ปริมาณที่เหมาะสมถ้าเป็นเรื่องการกินอาหาร ดีไซน์การออกแบบบ้านแบบน้อยแต่มาก หรือการใช้เหตุผลในการทำธุรกิจ พูดง่าย ๆ ว่าไม่สุดโต่งเกินไปในทุกเรื่อง

ลากอมเป็นเพียงแค่แนวคิดหลักของการใช้ชีวิตไม่ใช่กฎการใช้ชีวิตเหมือนที่เราเห็นตามหนังสือ How To แนวพัฒนาตัวเองที่จั่วหัวว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้เป๊ะจะทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ ตรงกันข้าม ลากอมมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างออกไปตามเงื่อนไขและสภาพชีวิตของแต่ละคนเพราะ “ความพอดี” ของชีวิตเป็นเรื่องของใครของมันที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อรับฟังตัวเอง

การใช้ชีวิตตามหลักของลากอมก็สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ อย่างการตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูดเพื่อรักษาความสัมพันธ์ การออกกำลังกาย การพักเบรกเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงระดับใหญ่ ๆ อย่างการพักจากงานเพื่อเดินทางท่องเที่ยว การหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ ไปถึงการจัดการอารมณ์ ในระดับที่สะดวกสบายและไม่อึดอัดไปสำหรับแต่ละคน ตัวอย่างเช่น 

พักเบรกซักเล็กน้อย

ในสวีเดน จะมีกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Fika” หมายถึงช่วงเวลาของการพักเบรกระหว่างวัน โดยปกติท่ามกลางความวุ่นวายและชีวิตที่เร่งรีบ กาแฟเป็นเครื่องดื่มเติมคาเฟอีนที่ช่วยไม่ให้ง่วงและกระปรี้กระเปร่ามีแรงทำงาน แต่การดื่มกาแฟและกินขนมของ Fika เป็นการพักเบรกจากสิ่งที่เคร่งเครียดเพื่อพูดคุยและเข้าสังคม

งานวิจัยเผยว่า การพักเบรกระยะสั้นจากงานช่วยให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น แถมยังทำให้ทำงานได้ดีขึ้นอีก นอกจากนี้ การศึกษาในปี 2019 ยังพบว่า พนักงานที่ทำงาน 20 นาทีแล้วพัก 5 นาที ก่อนจะกลับมาทำงานอีก 20 นาที จะช่วยให้จดจ่อกับงานได้มากกว่าคนที่ไม่ยอมพักเบรกเลย

ตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูด

ในบทสนทนาหนึ่ง ๆ ก็เป็นพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องทำให้เกิดความสมดุลเช่นเดียวกัน เรามีหน้าที่ทั้ง 2 อย่าง เป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง วิธีการรักษาบาลานซ์ก็คือการตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูดและแสดงอาการว่าเรากำลังรับฟังอยู่ด้วยการถามคำถาม การพูดย้ำสิ่งที่คู่สนทนาพูด หรือแม้แต่ทำหน้าสนใจและสนุกสนามเวลาที่บทสนทนาดำเนินไปได้ดีแทนที่จะพูดเรื่องของตัวเองอยู่คนเดียว

ในทางกลับกัน ถ้าเราได้เจอคนที่เป็นผู้ฟังที่ดีเมื่อเราเป็นผู้พูด ก็จะทำให้รู้สึกว่ามีคนตั้งใจฟัง เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ และให้คุณค่ากับสิ่งที่เราพูดซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและการรู้คุณค่าของตัวเอง

ออกกำลังกายแบบไม่หักโหม

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายมีข้อดีหลายอย่างทั้งช่วยให้นอนหลับสบายและหลับสนิทมากขึ้น ช่วยลดความเครียด และช่วยป้องกันโรค แต่การออกกำลังกายไม่ควรจะหักโหมเกินไปเพราะทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยเกินขีดจำกัดของร่างกาย อาการบาดเจ็บ ร่างกายตื่นตัวจนนอนไม่กลับ ไปจนถึงอารมณ์แปรปรวน ความเครียด และความกดดัน

หลักง่าย ๆ ตามอย่างลากอมก็คือการรับฟังเสียงจากร่างกายตัวเองว่าไหวหรือไม่ไหว ถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไปก็พักผ่อนตามที่ตัวเองต้องการ

เข้าหาธรรมชาติ

ในแต่ละวันเราใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ  สิ่งที่จะตอบแทนคืนให้ธรรมชาติได้ก็คือการมีความรับผิดชอบและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการสนุกกับธรรมชาติรอบตัวเพื่อสร้างสมดุล เพราะการอยู่กับธรรมชาติช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น 

ไม่เครียดเกินและไม่โลกสวยไป

ความเครียดเป็นตัวแทนของความรู้สึกในแง่ลบซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิต ส่วนการโลกสวยเกินไปก็หมายถึงการปฏิเสธอารมณ์แง่ลบทั้งปวง และฝืนทำให้ตัวเองเป็นคนคิดบวกและอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่ไม่สบายใจซึ่งผิดธรรมชาติของมนุษย์ การรักษาความสมดุลระหว่างอารมณ์บวกและอารมณ์ลบเลยเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดแบบลากอม

หา Work-Life Balance

การศึกษาในปี 2018 เผยว่า การหยุดพักผ่อนสั้น ๆ สัก 3-4 วันส่วผลกระทบในแง่บวกต่อสุขภาพ ลดความเหนื่อยล้า ช่วยให้นอนหลับดีและลดความเครียด หรือจะหา Work-Life Balance ด้วยการทำงานลดลง ไม่ต้องหักโหมจนถึงดึกแล้วเลิกงานตรงเวลาแทนซึ่งจะช่วยให้พึงพอใจกับงานที่ทำมากขึ้น

ที่มา – Health, BBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา