Young Leaders ยังไง ให้ได้ทั้งใจ ได้ทั้งงาน เมื่อคนในทีมอายุมากกว่า

รุ่น Boomer เริ่มเกษียณไป คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามา ทำให้คนอายุน้อยที่มีผลงานเตะตาหลายคนกลายเป็นหัวหน้าทีมอย่างรวดเร็ว แต่บางครั้งเหมือนมีตำแหน่งอยู่แค่ลอย ๆ เพราะคนในทีมดันอาวุโสกว่า จะสั่งงานใครก็ต้องเกรงใจไปหมด พอเห็นหน้าเด็ก ๆ ก็ไม่มีใครเคารพ ไปเจอลูกค้าก็บอกขอคุยกับตำแหน่งสูงกว่านี้ ก็เราอยู่นี่ไง จะเอาสูงอีกแค่ไหน ถ้าสูงกว่านี้ก็คงต้องเป็นระดับ C-Level แล้วมั้ง 

เพราะเกิดทีหลังเลยต้องเจ็บปวด งัดทุกเทคนิค งัดทุกวาทศิลป์มาใช้เท่าไร การทำงานก็ยังติดขัดจนเริ่มรู้สึกอึดอัดตลอดเวลา สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ตรงไหนกันแน่แล้วจะแก้ไขยังไงดี

หัวหน้าที่ดีไม่ได้เป็นได้ชั่วข้ามคืน

ไม่ใช่แค่มีตำแหน่งแล้วจะเป็นหัวหน้าได้ราบรื่น เพราะทักษะบริหารคน บริหารงาน ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนพร้อมกับการเลื่อนตำแหน่ง ไหนจะทักษะการสื่อสาร ไหนจะทักษะการจัดการ ก่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้าเลยควรได้รับการฝึกฝนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่มักถูกละเลยจนทำให้เกิดปัญหา

ทักษะการบริหารไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องอาศัยการฝึก (Coaching) ทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อชั่วโมงบินยังน้อย แต่ผลสำรวจกลุ่ม Gen Y ที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูงจาก LinkedIn กลับออกมาตรงกันข้าม เมื่อหัวหน้าหลายคนไม่เคยได้ยินเรื่องการเทรนเรื่องการบริหารจัดมาก่อนด้วยซ้ำ แถมยังมี Gen Y น้อยกว่า 20% ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาสอนทักษะเหล่านี้ให้ ทางออกอย่างหนึ่งของหัวหน้าอายุน้อยก็คือการเข้ารับการเทรนที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบริษัทด้วย 

ส่วนทักษะที่บริษัทควรใส่ใจให้หัวหน้ารุ่นใหม่ได้เรียนรู้ อย่างแรกคือเรื่องการสื่อสารจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้ต้องสื่อสารดีไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทผู้พูดหรือผู้ฟัง หัวหน้าต้องเจอบทสนทนาหลายระดับ ตั้งแต่การมอบหมายงานให้ลูกทีมที่อายุมากกว่า การติเพื่อก่อไม่ให้เสียกำลังใจ ไปจนถึงรายงานจริงจัง แถมยังต้องดึงให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นทีมเดียวกันอีกต่างหาก

ไม่ใช่แค่นั้น หัวหน้าที่ดีไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมากควรต้องได้รับการเทรนให้มองเห็นจุดอ่อนของตัวเองและทีมได้ หัวหน้าที่ได้รับการเทรนโดยผู้เชี่ยวชาญมีแนวโน้มที่จะรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองและกระตุ้นให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นหัวหน้าที่ผลักดันให้ผลงานทีมดีขึ้นแต่ดันขาดความฉลาดทางอารมณ์ก็ทำให้ทีมเสียกำลังใจได้อยู่ดี

หัวหน้ายังต้องมีทักษะการจัดการความเครียดจากงานร้อยแปด เพราะความเครียดทำให้ Productive ลดลงแถมยังทำให้การตัดสินยากขึ้น หัวหน้าอายุน้อยเลยควรที่จะได้รับการเทรนให้ดึงสติ หายใจเข้าออก และหาวิธีรับมือกับปัญหาให้ได้  

สร้างความไว้ใจต่อผู้ใหญ่ในที่ทำงาน

นอกจากหัวหน้าอายุน้อยจะขาดการฝึกทักษะที่แสนจำเป็นจากบริษัทแล้ว อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่และก้าวข้ามได้ยากก็มาจากที่หัวหน้าเหล่านี้ต้องต่อสู้กับมุมมองของผู้ใหญ่ในออฟฟิศบางคนที่ตัดสินไปก่อนแล้ว

Harvard Business Review รวบรวมข้อมูลของของพนักงานในตำแหน่งหัวหน้า (Maneger) มากกว่า 65,000 คน โดยปรับโฟกัสไปที่การเปรียบเทียบกลุ่มหัวหน้าน้อยที่มีอายุ 30 ปีหรือเด็กกว่านั้นจำนวน 455 คน กับกลุ่มหัวหน้าที่อายุมากกว่า 45 ปี จำนวน 4,298 คน ได้ข้อสรุปว่า คนอายุน้อยที่ได้รับการเลื่อนขั้นให้มาเป็นหัวหน้ามักจะต้องเป็นคนเก่งที่มีความสามารถโดดเด่นจากคนอื่น ๆ

44% ของกลุ่มหัวหน้าอายุน้อยเป็นคนที่มีความสามารถอยู่ระดับบน ๆ เมื่อดูเรื่องภาวะการเป็นผู้นำเมื่อเทียบกับหัวหน้าทั้งหมดในการสำรวจ เทียบกับกลุ่มหัวหน้าที่อายุมากกว่าที่มีเพียงแค่ 20% เท่านั้น

ผลสำรวจพอทำให้มองเห็นว่าแม้จะเกิดทีหลังและชั่วโมงบินน้อยกว่าแต่ก็ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าอายุน้อยจะล้มเหลวในการเป็นหัวหน้าไปหมด แต่สิ่งที่ทำให้การเป็นผู้นำท้าทายมากขึ้นอาจมาจากที่ผู้ใหญ่ในที่ทำงานบางคนคิดไปเองก่อนแล้วว่าอายุน้อยแล้วจะต้องมีความสามารถน้อยไปด้วย

ความคิดเห็นของหัวหน้าอายุน้อยมักจะไม่ได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่จากลูกทีมที่มองว่าหัวหน้ายังอ่อนประสบการณ์ ทั้งยังถูกมองว่าใส่ใจแต่เรื่องผลงานแต่ไม่สนใจความต้องการของคนในทีมได้ กลับกัน บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นคนที่มองเรื่องกลยุทธ์และทิศทางของทีมไม่ขาด ตัดสินใจระยะยาวไม่ได้เพราะประสบการณ์น้อยเกินไป แถมยังน่ากระอักกระอ่วนที่จะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนขององค์กรไม่ว่าจะพบลูกค้าหรือการประชุมครั้งสำคัญ

สิ่งที่หัวหน้าอายุน้อยจะทำได้เพื่อเรียกความไว้ใจของคนในทีมอย่างแรก คือ การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องสวมหัวโขนของการเป็นหัวหน้าอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่ใช้อำนาจอยู่ตลอด แม้ว่าทีมจะทำตามแต่ก็ไม่ได้รับความเคารพจากคนอื่นอยู่ดี การแสดงความจริงใจด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในเรื่องที่เปิดเผยได้จะช่วยเรียกความเชื่อไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในทีม

ต่อมาคือเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ควรเตือนตัวเองเสมอว่า “ถ้าอีกคนทำได้ ทำไมอีกคนจะทำไม่ได้” ถ้าเลือกปฏิบัติให้ใครในทีมได้โอกาสหรือสิทธิใดสิทธิหนึ่งเหนือกว่าคนในทีม สุดท้ายทีมก็จะพัง เพราะหัวหน้าเอง ควรทำให้คนรู้และเข้าใจโดยทั่วกันถึงสิทธิที่ไม่เท่าเทียมนั้น

ควรให้ความสำคัญกับทุกคน เป็นหัวหน้าที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองความต้องการของทีมให้สมดุลกับผลงาน การเคารพและเชื่อมั่นในความสามารถและประสบการณ์ของลูกทีมก็จะทำให้คนอื่นมองว่าหัวหน้าเป็นคนที่มาปรึกษาด้วยได้

แม้ว่าแต่ละคนจะต้องการสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันแต่ก็เป็นเรื่องของหัวหน้าที่จะใส่ใจทุกคนตามความต้องการโดยปราศจากความลำเอียง การเข้าข้างและอคติ มาตรฐานที่ใช้กับทุกคนก็ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันแบบไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

แม้ว่าการเป็นหัวหน้าอายุน้อยจะมีความท้าทายและอาจเจอกับอคติมากมายแต่ก็ไม่ใช่ว่าอายุน้อยแล้วจะเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ได้ ข้อมูลของ Harvard Business Review เผยว่า หัวหน้าอายุน้อยมีจุดแข็งอยู่หลายข้อที่เอามาใช้และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างการยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า ความสามารถในการงัดทักษะมาจัดการกับปัญหาใหม่ ๆ รวมทั้งหัวหน้าอายุน้อยยังมีแนวโน้มว่ายอมรับกับคำวิจารณ์ได้ดี เต็มใจที่จะรับคำวิจารณ์ได้บ่อยและเปิดใจกว่า

หากฝั่งหัวหน้าอายุน้อยพยายามอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งสุดท้ายที่จะทำให้การทำงานเป็นเรื่องที่ไม่หินจนเกินไป ก็คงจะต้องเป็นฝั่งลูกทีมที่ช่วยเปิดใจ วางอคติที่อาจไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ลง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากยุคที่รุ่น Boomer เป็นผู้นำมาสู่ยุคของคนรุ่นใหม่ผ่านไปได้อย่างราบรื่น

ที่มา – Forbes, HBR, Entrepreneur, HRHQ

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา