นิยามความสำเร็จแบบใหม่ เมื่อการฝืนทำงานหนักไม่ดีต่อใจ เน้นสร้าง Impact จากงานจะดีกว่า

ทุกวันนี้เราวัดความสำเร็จในการทำงานกันจากอะไร ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความสุขในการทำงาน หรือปริมาณงานที่ทำได้ในแต่ละวัน เวลาที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งมากยิ่งได้รับการชื่นชมจากบริษัท 

โลกการทำงานหมุนรอบคำว่า Productivity ความสำเร็จวัดที่วัดจากปริมาณงานที่ทำได้ ยิ่งทำได้หลายชิ้นก็ยิ่งดี หรือยิ่งปล่อยให้เวลางานกินเวลาชีวิตได้มากเท่าไรก็ยิ่งดูเป็นคนขยันมากขึ้นเท่านั้น เวลาที่เหลือก็ต้องเอาไปใช้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดจะได้ทำงานได้ดีขึ้น ต่อให้เลิกงานแล้วยังต้องหาหนังสือมาอ่าน หรือไม่ก็เรียนคอร์สออนไลน์จนดึกดื่น 

แนวคิดทำงานให้คุ้มเวลาอาจทำให้ทำงานได้มากจริง พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดดได้จริง แต่ก็ต้องแลกกับความรู้สึกผิดเวลาที่อยากใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยหรือพักผ่อนบ้าง แถมยังเครียดสะสมเพราะหมกมุ่นอยู่แต่กับงาน นานวันเข้าหลายคนเริ่มเอะใจว่าการวัดความสำเร็จแบบนี้ยังเวิร์คอยู่หรือเปล่า 

Productivity แบบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

เวลาเป็นความกังวลอันดับต้น ๆ ของมนุษย์เรา ลองคิดว่า อายุเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ได้ราว 80 ปี หรือ 40 สัปดาห์หรือต่อให้อยู่ถึงอายุหลักร้อยก็มีเวลาเพียง 5,200 สัปดาห์ พอรู้แบบนี้แล้วคงรู้สึกหนักใจขึ้นไม่มากก็น้อย…

ความกังวลเรื่องเวลาของมนุษย์มีมายาวนานและยิ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญขึ้นอีกในยุคที่คนเราเริ่มใช้นาฬิกากันแพร่หลายมาจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่คนงานเริ่มและเลิกทำงานพร้อมกันเพื่อคุมเครื่องจักรให้เป็นระบบ

พอคนงานจำเป็นต้องมาทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน โรงงานเลยเป็นแหล่งที่ทำให้การจัดตารางเวลาถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับแนวคิดการทำงานให้คุ้มค่ากับเวลา ยิ่งทำงานได้มากในเวลาที่น้อยเท่าไรก็ยิ่งดี ก่อนที่แนวคิดนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ยึดถือกันในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ทำให้เรารู้จักกับคำว่า “การจัดการเวลา” (Time Management) ที่เป็นทักษะที่พบเจอได้บนประกาศรับสมัครงานเกือบทุกตำแหน่ง

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนี่เองที่กลายเป็นต้นตอของความเครียดและความกดดันในชีวิต Oliver Burkeman  นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ Four Thousand Weeks อธิบายว่าเพราะกับดักของการทำงานให้คุ้มค่าทำให้รู้สึกว่าเราควรทำงานให้ได้มากกว่านี้อีกอยู่ตลอดเวลา

เคยไหมที่ไล่ตอบอีเมลเพราะคิดว่าพอหมดวันจะไม่มีงานค้างอยู่ในกล่องข้อความอีกต่อไป แต่กลับพบว่ายิ่งตอบอีเมลไปเท่าไรก็ได้รับอีเมลที่ตอบกลับมาวนไปอยู่อย่างนั้น หมายความว่า Productivity อาจทำให้ทำงานเสร็จมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เหลือเวลาว่างให้ทำสิ่งที่อยากทำมากขึ้นตาม และก็ไม่ได้ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

ยังมีคำอธิบายทางจิตวิทยาที่อธิบายได้อีกว่าทำไมเราถึงไม่มีทางรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ในปัจจุบัน เพราะมนุษย์ทุกคนมีอาการที่เรียกว่า “Hedonic Adaptation” เป็นนิสัยของการปรับตัวให้เคยชินกับความสำเร็จและการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตจนทำให้รู้สึกเฉยชากับสิ่งที่ทำสำเร็จ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรามักจะคิดว่าตัวเองจะมีความสุขขึ้นเมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง แต่พอได้เลื่อนตำแหน่งจริง ๆ ก็พบว่าไม่ได้มีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนขนาดนั้น 

กับดักของความขยันทำงานที่นิยามแบบเก่าเลยเป็นอาการที่ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จขนาดแค่ไหน ทำงานได้มากเท่าไร ก็จะยังรู้สึกว่าตัวเองต้องทำให้ได้มากกว่าเดิมอยู่เรื่อยไป ไม่รู้สึกพอใจสักที พอจะพักก็รู้สึกผิด กลัวตามไม่ทันคนอื่น เหมือนหนูปั่นจักรที่หยุดไม่ได้เพราะสังคมบอกให้ต้องเก่งขึ้นทุกวัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนิยามความสำเร็จของงานแบบใหม่ ที่แม้การทำตัว Productive จะไม่ได้หายไปแต่ก็ไม่ทำให้สุขภาพจิตพัง

Productivity แบบใหม่ ไม่เน้นทำมาก แต่เน้นสร้าง Impact

เมื่อแนวคิดการใช้เวลาให้คุ้มค่าทำให้หยุดพักไม่ได้ ผู้คนเลยหันหาความสมดุลของชีวิตแทนที่จะยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อให้งานสำเร็จแบบเมื่อก่อน มีแนวคิดตั้งแต่ Work-Life Balance ไปจนถึงการทำงานแบบพอเอาตัวรอดอย่าง Minimun Modays หรือ Quiet Quitting ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ให้เลิก Productive ไปเลย แต่ให้ขยันในเวลาที่ควรจริงจัง และหยุดในเวลาที่ควรพักผ่อน

ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Orgvue บริษัทซอฟต์แวร์ในสหราชอาณาจักรเสนอว่า แทนที่จะวัดความสำเร็จในการทำงานจากปริมาณงานและชั่วโมงการทำงาน ให้เปลี่ยนมาเป็นการวางแผนงานในภาพใหญ่ แยกย่อยออกมาเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายดีกว่า

เริ่มจากการทำความเข้าใจกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรในระยะยาวเพื่อหาวิธีที่จะเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้เพื่อเดินทางไปถึงเป้าหมายของงาน สรุปง่าย ๆ ก็คือ สรุปแผนการที่จะทำให้บริษัททำตามเป้าและเอาชนะคู่แข่งได้แล้วทำตามแผนนั้น 

เมื่อกลยุทธ์ถูกวิเคราะห์ออกมาเป็นเป้าหมายใหญ่ เป้าหมายใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นเป้าหมายย่อยก็จะได้เกณฑ์ที่วัดผลงานได้จริง อาจเพิ่มกรอบเวลาเข้าไปด้วย ไม่ใช่เพื่อวางแผนว่าจะทำยังไงให้ได้งานมากที่สุดแต่เพื่อให้รู้ว่าควรจะทำอะไรให้เสร็จตอนไหน เหมือนเป็นการวัดความสำเร็จจาก Impact ของงานแทนที่จะวัดจากปริมาณงานที่ทำได้

นอกจากนี้ บทความบน Harvard Business Review ยังเสนอนิยามใหม่ของ Productivity และใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในยุคที่ทำงานกันแบบ Hybrid Work โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ ความสุขในการทำงาน การทำงานร่วมกัน และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่วัดจากปริมาณงาน

เมื่อเข้าออฟฟิศก็เน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและการระดมความคิด ขณะที่ช่วงทำงานที่บ้าน เราก็ควรจะออกแบบชีวิตตัวเองได้บ้างแบบไม่ละเเลยเรื่องครอบครัว การออกกำลังกาย และใช้เวลาว่างกับงานอดิเรก การงีบหลับช่วงสั้น ๆ หากรู้สึกเหนื่อย ไปจนถึงการกำหนดขอบเขตของงานและชีวิต ไม่ใช่นั่งทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนแค่เพราะทำไหว

ต่อมาคือการทำงานร่วมกัน เป็นการสมดุลของการจัดตารางชีวิตตัวเองไปพร้อมกับการจัดตารางเพื่อทำงานร่วมกัน ให้คนในทีมสามารถออกความเห็นได้ว่าทำงานร่วมกันเวลาไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตกลงกันว่าวันไหนที่จะเป็นวันปลอดการประชุม ไปจนถึงสร้างบรรยากาศการประชุมที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ 

สุดท้าย แทนที่จะเน้นอยู่กับงานนาน ๆ ยิ่งดี เปลี่ยนมาเป็นการสร้างสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิด Impact จากงานที่ทำไปพร้อมกับแสดงความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยจะดีกว่าไหม หากทำงานแบบ Hybrid Work การทำงานคนเดียวเหมาะกับการทำงานรูทีนมากกว่า ส่วนการเข้าออฟฟิศควรเป็นพื้นที่ให้ระดมสมองและแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะการใช้ความคิดร่วมกันหลาย ๆ คนเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ การทำความรู้จักกับคนอื่นที่อยู่นอกทีมก็ยิ่งทำให้มีหูตาที่กว้างไกลขึ้น

แม้เราจะหันเข้าหาสมดุลชีวิตมากขึ้น แต่ไม่ใช่ล้มเลิกแนวคิดเรื่อง Productivity ทิ้งไปไม่เหลือ แต่เป็นการหาวิธีที่จะทุ่มเทกับงานให้บรรลุเป้า ได้โดยที่ไม่ทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต ไม่ทำให้ไฟในการใช้ชีวิตมอดลง เป็นการหยุดเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่และพร้อมที่จะกลับมาทำงานอย่างกระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง แทนที่จะเป็นการทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตให้งานอย่างเดียว

ที่มา – Harvard Business Review, BBC,  Forbes 

อ่านบทความเรื่อง Work-Life เพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา