รู้จัก Cheng Wei ซีอีโอ Didi Chuxing ผู้หยุด Uber

ตลาดแอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคงเป็นตลาดจีน ที่แอปพลิเคชั่นกลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว หมายเลขหนึ่งในตลาดโลกอย่าง Uber บุกเข้าจีนตั้งแต่ปี 2014 แต่กลับถูกบริษัท Didi Chuxing หยุดไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง แม้จะพยายามชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างหนักด้วยการจ่ายโบนัสให้คนขับจำนวนมากแล้วก็ตาม

นิตยสาร Forbes ฉบับเดือนธันวาคมลงบทความประวัติของ Cheng Wei ซีอีโอของ Didi ผู้นำบริษัทหยุดยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไว้ได้ เป็นอีกบทความที่ควรค่าแค่การอ่าน

Cheng เป็นนักเรียนระดับกลางๆ เรียนจบคณะบริหารธุรกิจจาก Beijing University of Chemical Technology นับว่าจบจากมหาวิทยาลัยระดับรองๆ ของจีน เมื่อจบมาแล้วจึงเข้าทำงานนับสิบอย่าง จนกระทั่งได้มาเป็นเซลล์ขายโฆษณาให้กับ Alibaba ในปี 2005

การงานใน Alibaba เติบโตอย่างรวดเร็ว Cheng ได้เป็นผู้จัดการของ Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba และได้ทำงานกับ Wang Gang ที่กลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Didi ในเวลาต่อมา โดยทั้งสองคนได้พูดคุยกันว่าอยากก่อตั้งบริษัทของตัวเอง แต่ก็คิดไอเดียกันอยู่นานว่าจะทำอะไร จนกระทั่งมาจบลงที่แอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ในที่สุด

เวอร์ชั่นแรกของ Didi พัฒนาโดยจ้างโปรแกรมเมอร์แบบสัญญาจ้าง ตัวแอปพลิเคชั่นไม่ได้รับความนิยมนักเพราะแท็กซี่มีงานล้นมืออยู่แล้ว ช่วงแรก Cheng ต้องจ้าง “นักโดยสาร” มาเรียกแท็กซี่ให้เดินทางไปมา เพื่อให้แท็กซี่เห็นว่ามีการใช้งานแอปจริง จนกระทั่งปลายปี 2012 เกิดพายุหิมะในจีน ผู้คนหันมาเรียกรถผ่าน Didi มากขึ้นจนมีการใช้งานเกิน 1,000 ครั้งต่อวันเป็นครั้งแรก

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทลงทุนอย่าง GSR Ventures ลงทุนใน Didi เป็นครั้งแรกด้วยเงินลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ จากนั้น Tencent ก็ติดต่อ Didi เพื่อลงทุน แม้ว่าทั้งสองผู้ก่อตั้งจะลังเลเพราะมาจาก Alibaba ทั้งคู่ แต่ Tencent ก็ตีมูลค่า Didi ไว้ถึง 60 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าบริษัทลงทุนอื่นๆ ถึงสองเท่าตัว ทำให้ทั้งสองตกลง Tencent ลงเงิน 15 ล้านดอลลาร์และกลายเป็นพันธมิตรรายสำคัญ ทุกวันนี้ Tencent ช่วยโปรโมท Didi ผ่าน WeChat อย่างหนัก ทางด้าน Alibaba เองแม้จะไปลงทุนกับแอป Kuaidi คู่แข่งเอาไว้ แต่เมื่อ Uber จะบุกจีน ทั้งสองบริษัทก็ตกลงควบรวมกัน และซีอีโอของ Kuaidi ก็ลาออกไปหลังการควบรวมสำเร็จ

เมื่อ Uber บุกจีนอย่างจริงจัง ศึกระหว่างสองบริษัทก็เป็นศึกนองเลือด ทั้งสองบริษัททุ่มเงินเพื่อชิงตลาดทั้งคนขับรถและผู้โดยสารอย่างหนัก ฝั่ง Didi เองขาดทุนสูงสุดกว่า 200 ล้านบาทในวันเดียว ผู้บริหาร Didi ทำใจว่าการขาดทุนต่อเนื่องนี้จะยาวนานหลายปี จนกระทั่ง Uber เจรจาสงบศึกในปีที่แล้ว

ทุกวันนี้ Didi ได้เงินลงทุนไปแล้ว 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าบริษัท 35,000 ล้านดอลลาร์ มีการให้บริการถึงวันละ 20 ล้านเที่ยว เทียบกับ Uber ที่ให้บริการทั่วโลกแต่ให้บริการเพียง 5.5 ล้านเที่ยวต่อวัน วิศวกรของ Didi ตอนนี้มีมากกว่า 3,000 คน พัฒนาทั้งตัวแอปและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ความต้องการโดยสาร

แม้ว่าจะสงบศึกกับ Uber ไปแล้ว แต่ Didi ก็ประกาศแนวทางชัดเจนว่าสักวันหนึ่งบริษัทจะบุกตลาดนอกประเทศจีน และการแข่งขันก็จะกลับมาอีกครั้ง แม้ Cheng ระบุว่ามันจะไม่ดุเดือดเหมือนการแข่งขันในจีนรอบที่ผ่านมาก็ตาม

ภาพโดย Kiwibluuce

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา