บทเรียนจากกรณี Uber ยอมแพ้ ขายกิจการในจีนให้ Didi Chuxing

“ด้วยอัตราการเติบโตระดับนี้ จีนจะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ Uber และน่าจะใหญ่กว่าอเมริกาเสียอีก สัญญาณที่ผ่านมานั้นออกมาดี เราประสบความสำเร็จที่ประเทศจีนในระดับที่น้อยบริษัทเทคโนโลยีอเมริกาจะมาถึง” นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่ Travis Kalanick ซีอีโอ Uber ชี้แจงกับนักลงทุนเมื่อปี 2015 กล่าวถึงความสำเร็จของการบุกตลาดจีนนับตั้งแต่ปี 2014

แต่ผ่านมาเพียง 1 ปี ทุกอย่างก็กลับเป็นตรงกันข้าม Uber ประกาศขายกิจการส่วนธุรกิจในจีน หรือ UberChina ให้กับคู่แข่ง Didi Chuxing ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของแอพเรียกรถแท็กซี่ที่นั่น โดยแลกกับการเข้ามาถือหุ้น 20% ใน Didi Chuxing แทน

แอพ Uber ในประเทศจีน (ภาพ Flickr : bfishadow)
แอพ Uber ในประเทศจีน (ภาพ Flickr : bfishadow)

เกิดอะไรขึ้นจนทำให้ Uber บริษัทเทคสตาร์ทอัพนอกตลาดหุ้นที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในโลก (68,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท) และมีเงินสดในมืออยู่มาก เลือกถอยในตลาดประเทศจีน หลังบุกเข้าไปได้เพียง 2 ปี ในตลาดที่ทั่วโลกล้วนสนใจ มาดูว่าเราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้กัน

อีกครั้งที่บริษัทไอทีอเมริกา เจาะเมืองจีนไม่สำเร็จ

การยอมถอยของ Uber ครั้งนี้น่าจะเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว ในอดีตมีบริษัทไอทีอเมริกาหลายแห่ง พยายามบุกเข้าไปในตลาดประเทศจีน ประเทศแห่งโอกาสทางธุรกิจเพราะมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป ทั้ง Google, Yahoo!, eBay หรือ Microsoft แม้กระทั่ง Apple เอง ในวันนี้ก็ยังยากที่สรุปว่าประสบความสำเร็จสวยงามในจีน

UberChina เองไม่ได้บุกตลาดจีนแบบโดดเดี่ยว บริษัทเลือกพาร์ทเนอร์กับ Baidu หนึ่งในสามยักษ์ไอทีจีน เพื่อใช้ฐานข้อมูลเสิร์ชและแผนที่ร่วม แต่ถึงอย่างนั้นการแข่งขันก็ไม่ง่าย เพราะ Didi มีพาร์ทเนอร์คืออีกสองยักษ์ที่เหลือ Alibaba, Tencent ร่วมด้วยกองทุนขนาดใหญ่ในจีน

Travis Kalanick ซีอีโอ Uber
Travis Kalanick ซีอีโอ Uber

อดีตนั้น Uber เคยพยายามขอซื้อกิจการ Didi เพื่อให้เจาะตลาดจีนได้ง่ายขึ้น แต่ Didi ปฏิเสธดีลนั้น Didi รู้ดีว่าความเป็นท้องถิ่นและมีทีมสนับสนุนที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ชนะศึกนี้ได้ Uber เองก็ประสบความลำบากขึ้นเมื่อบัญชี Uber ใน WeChat แอพสนทนาที่คนจีนใช้มากที่สุดถูกบล็อก ช่องทางการสื่อสารการตลาดที่ดีที่สุดช่องทางหนึ่งจึงหายไป

อีกปัจจัยที่ทำให้ Uber เลือกยอมแพ้ ก็คือการผ่านกฎหมายให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนตัวมาบริการโดยสารของจีน ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งระบุว่าห้ามให้บริการโดยคิดราคาต่ำกว่าต้นทุน ส่งผลให้ Uber ที่มีเงินสดในมือมาก และถนัดในการทำการโปรโมชันให้เครดิตส่วนลด ขาดจุดแข็งที่จะต่อสู้กับ Didi ได้นั่นเอง

จำนวนผู้ใช้เพิ่มเป็นจรวด แต่กำไรไม่มา Uber ก็ไม่เอา (แล้ว)

การมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเติบโตต่อเนื่อง คือความฝันของเทคสตาร์ทอัพทั้งหลาย จนกระทั่งเกิดเป็นโมเดลว่าจะขาดทุนบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้นมาตลอด UberChina เองก็เคยเป็นเช่นนั้น

อัตราการเติบโตของจำนวนทริปในเมืองจีนสำหรับ UberChina นั้นดูตื่นตาตื่นใจมาก 9 เดือนหลังให้บริการในเมืองเฉิงตู ตัวเลขการเติบโตนั้นสูงกว่านิวยอร์กถึง 479 เท่า เมืองอื่นในจีนแม้เติบโตน้อยกว่า แต่ก็ยังน่าสนใจระดับหลายสิบหลายร้อยเท่า

กราฟการเติบโตของ Uber ในจีนเทียบกับเมืองอื่น เมื่อวัดระยะเวลาหลังเปิดตัว
กราฟการเติบโตของ Uber ในจีนเทียบกับเมืองอื่น เมื่อวัดระยะเวลาหลังเปิดตัว

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ Kalanick ยอมรับว่าเพื่อแลกกับการเติบโตนี้ UberChina ได้ลงทุนไปเป็นเงินพันล้านดอลลาร์ และยังไม่สามารถทำกำไรได้ เขาก็มองว่า Didi เองก็อยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน แต่จำนวน users ของ Didi นั้นมีมากกว่า UberChina 4-5 เท่าตัว จึงยังมีโอกาสทำอะไรได้มากกว่า

การตัดสินใจนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อย ที่ผ่านมาเราเห็นความคาดหวังในการเติบโตของผู้ใช้งานในสตาร์ทอัพ ด้วยหวังว่ามีคนใช้เยอะๆ และพอติดกับสินค้าก็จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ แต่ Uber กลับเลือกไม่เดินหน้าต่อในเส้นทางนี้ เพราะมองว่าทำต่อไปก็มีแต่ขาดทุน

จะเกิดอะไรต่อไปจากนี้กับแอพแท็กซี่ในจีน

เมื่อแข่งขันกันแล้วเหนื่อยก็มาเป็นพวกเดียวกันดีกว่า นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Didi x Uber ในแถลงการณ์ของ Uber นั้นพูดถึงประเด็นนี้ชัดเจนว่า เพื่อให้ทั้งสองบริษัทสามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างมีกำไร มีความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างแท้จริง

ดีลนี้ยังถูกเทียบเคียงกับการขาย Yahoo! China ให้กับ Alibaba เมื่อสิบปีที่แล้ว โดย Yahoo! ได้หุ้น Alibaba มาส่วนหนึ่งในเงื่อนไขการขายกิจการ และปัจจุบันหุ้น Alibaba นี้ก็กลายเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูงยิ่งกว่าตัวธุรกิจ Yahoo! เสียอีก ก็ไม่แน่ว่าหุ้น Didi 20% ที่ Uber ได้มานั้นอาจจะกลายเป็นขุมทรัพย์สำคัญของ Uber ต่อไปก็ได้

ทั้งแอพ Uber และ Didi จะยังให้บริการในจีนต่อไปแบบแยกแบรนด์ ดีลนี้ยังสร้างแรงสะเทือนไปยังแอพประเภทเดียวกันในต่างประเทศด้วย อย่างเช่น Grab ที่มี Didi ร่วมลงทุนก็ประกาศว่าจะสามารถเอาชนะ Uber ได้ในภูมิภาค South East Asia

Lyft แอพคู่แข่งสำคัญของ Uber ในฝั่งตะวันตก กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก หลัง Didi รวมกิจการกับ UberChina
Lyft แอพคู่แข่งสำคัญของ Uber ในฝั่งตะวันตก กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก หลัง Didi รวมกิจการกับ UberChina

คนที่ดูจะอยู่ในสถานการณ์ลำบากกลับเป็น Lyft ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Uber ในอเมริกา เพราะ Lyft นั้นก็ได้รับเงินลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์จาก Didi เช่นกัน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นผู้ลงทุนใน Lyft ก็มี Uber คู่แข่งหลักเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเข้ามาด้วย

โฆษกของ Lyft เองก็ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการตรวจสอบเงื่อนไขข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรกับ Didi อีกครั้ง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปจากนี้

เรียบเรียงจาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา