ทำงานทุกวันเหมือนหนูปั่นจักร ชีวิตวนลูปไร้จุดหมาย เพราะชีวิตไม่ได้ผูกอยู่กับแค่งาน

ทำงาน ทำงาน ทำงาน… ทำเสร็จรีบกลับบ้าน อาบน้ำ กินข้าว นอน จะได้ตื่นเช้าไหวเพื่อไปทำงานต่อ แบบนี้วนไปตั้งเมื่อไรก็ไม่รู้ เหมือนการทำงานเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่เราหมุนรอบจนลืมวันลืมคืน วันจันทร์ถึงศุกร์ไม่มีเส้นแบ่ง เหมือนเป็นลูปเดียวกันที่วนไป ไม่มีอะไรแตกต่าง กว่าจะถึงเสาร์อาทิตย์ก็เหนื่อยจนทำอะไรไม่ไหว ได้แต่นอนเรื่อยเปื่อยเพื่อเตรียมกายเตรียมใจไว้ทำงานในวันจันทร์

จะมีซักครั้งไหมที่ได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ ไม่ต้องแคร์ว่าสังคมจะมองยังไงถ้าเราไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีตำแหน่ง หนักเข้าก็ถึงขนาดตอบตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ เราต้องการอะไรกันแน่ คิดแต่ว่าถ้ามีซอมบี้บุกเมืองก็คงจะดี พรุ่งนี้จะได้ไม่ต้องไปทำงาน

ใช้ชีวิตอยู่ทุกวันแต่รู้สึกเหมือนไม่ใช่ชีวิตของตัวเอง ความคาดหวังในที่ทำงานมีอิทธิพลและบดบังเวลาชีวิตส่วนตัว จนไม่รู้ว่าความหมายของชีวิตคืออะไร เพราะเราอาจมองว่างานที่กำลังทำอยู่ไร้ความหมายและไร้ทิศทาง แค่ทำไปวัน ๆ 

ผลจากงานวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา McKinsey พบว่า พนักงาน 70% มองว่างานเป็นสิ่งที่นิยามความหมายของชีวิต เป็นมากกว่าแค่ให้ผ่านไปแแต่ละเดือนแล้วรอรับเงินเพื่อกินอยู่ไปเรื่อย ๆ โดยไร้จุดหมาย

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z ให้ความสำคัญกับงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและคาดหวังว่างานจะเติมเต็มความหมายของชีวิต สิ่งที่เราทำกลายเป็นตัวกำหนดว่าเราเป็นใคร ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น 

ตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนโหยหาความหมายของชีวิตจากงาน คือ ช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้มีเวลาให้คำจำกัดความคุณค่าของงานใหม่ ไม่ใช่แค่ทำงาน จ่าย จบเหมือนเดิม 2 ใน 3 ของพนักงานในสหรัฐอเมริกากล่าวว่าโควิดทำให้พวกเขาครุ่นคิดถึงเป้าหมายของชีวิตมากขึ้น อยากทำสิ่งที่มีความสำคัญ พร้อมกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราทำงานไปเพื่ออะไร งานของเรามีความสำคัญบ้างไหม” 

งานที่มีความหมายเป็นยังไงกัน

Stephanie Bot นักจิตวิทยาคลินิกผู้ก่อตั้ง Workright บริษัทที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานในแคนาดาเผยว่า งานที่มีความหมายต่อชีวิตมีได้หลายแบบแต่เหนือสิ่งอื่นใด ข้อที่ชัดเจนที่สุด คือ งานที่ทำให้ผู้คนรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับบางคน งานจะมีความหมายต่อชีวิตก็ต่อเมื่องานเป็นพื้นที่ใช้ปล่อยของและประลองความเก่ง ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ตามความสนใจส่วนตัวและความสามารถที่มี ทำให้รู้สึกว่าได้ดึงส่วนที่ดีที่สุดของตัวเองออกมาสร้างประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับโลกภายนอก

การศึกษาจาก Brookings บริษัทวิจัยในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า งานมีความหมายขึ้นมาได้ส่วนใหญ่ ๆ ก็มาจากความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เป็นหมากสำคัญของทีมก็จะรู้สึกว่างานมีความหมายมากขึ้น 

แต่ไม่ใช่แค่นั้น งานด้านบนที่พูดถึงก็อาจไร้ความหมายสำหรับบางคนได้อยู่ดี ลองคิดภาพว่าเราเป็นนักเดินทางที่รักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ งานที่ให้โอกาสแสดงฝีมือ มีเพื่อนร่วมงานที่แสนดีก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่างานที่ให้เงินมากพอจะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินให้เราไปเที่ยวบ่อย ๆ ได้ 

ถ้าเราเป็นคนอยากปล่อยของที่กำลังทำงานไม่มีพื้นที่ให้โชว์ฝีมือ หรือเป็นคนมีพลังงานบวกพร้อมคุยกับผู้คนแต่ดันทำงานที่ไม่ได้คุยกับใครเลยทั้งวัน การเปลี่ยนงานให้ตรงกับความสนใจก็ดูน่าจะทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นได้

ความหมายของชีวิตหาจากอย่างอื่นได้ ไม่ใช่แค่จากงาน

แล้วถ้าลองเปลี่ยนงานก็แล้ว แต่ยังไงก็ไม่มีความสุขกับงาน จริง ๆ แค่ได้ยินคำว่า “ทำงาน” ก็รู้สึกหดหู่ขึ้นมาทันทีแล้วยังต้องมีเป้าหมายชีวิตแบบที่สังคมคาดหวังอีกเหรอ…

Stephanie Bot กล่าวว่า จริง ๆ แล้วงานอาจไม่ต้องมีความหมายอะไรเลยก็ได้ ก็แค่เป็นงานที่ปล่อยให้เราได้มีเวลาและมีเงินออกไปหาความหมายของชีวิตตัวเองในโลกข้างนอก ไปอยู่กับครอบครัว มีเวลาดูแลตัวเอง ไปทำสิ่งที่มีความหมายที่หาจากงานไม่ได้

ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตคนเดนมาร์ก ประเทศที่ผู้คนมีความสุขเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ห่างไกลจากการเป็นสถานที่ที่คนทำงานหนักอย่างเอาจริงเอาจังและทะเยอะทะยานอย่างถึงที่สุด ในทางกลับกัน เดนมาร์กกลับเป็นที่ที่ผู้คนมี Work-Life Balance อันดับต้น ๆ ของโลก

งานอาจทำให้เกิดความสุขได้ แต่ไม่ใช่ความสุขจะต้องเกิดมาจากงานเพียงอย่างเดียว

ในหนังสือ “The Little Book of Hygge” ของ Meik Wiking ที่ติดอันดับหนังสือขายดีเล่าเรื่องปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ “ฮุกกะ” (Hygge) ของคนเดนมาร์กที่แปลแบบง่าย ๆ ว่า “ความอบอุ่น” หรือ “ความสบาย” มีความหมายถึงการหาความสุขที่มาจากการใช้เวลากับคนรอบข้างและจากการดูแลตัวเองไม่ว่าจะทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต 

ฮุกกะ เป็นปรัชญาที่สนับสนุนให้ผู้คนหาความสุขจากสิ่งเล็กน้อยและสภาพแวดล้อมรอบตัว จัดการความเครียดผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกสบายอย่างการอ่านหนังสือ ถ้าเปรียบตามสภาพอากาศของเดนมาร์กก็เหมือนการนั่งข้างกองไฟในวันที่อากาศหนาวพร้อมจิบโกโก้อุ่น ๆ 

ถ้าไม่มีเป้าหมายในชีวิตแบบที่สังคมคาดหวัง งานไร้ความหมาย ไม่ได้เติมเต็มความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง ความสำเร็จจากงานไม่ได้ช่วยให้มีความสุขสักเท่าไรก็อาจต้องเติมไฟนิด ๆ หน่อย ๆ ให้กับกิจวัตรประจำวันที่วนลูปดูบ้าง

แม้งานอาจไม่ได้ทำให้มีไฟ แต่ก็ไม่ใช่ต้องโบยตีตัวเอง อาจลองหยิบหนังสือมาอ่านซักครึ่งชั่วโมงก่อนนอนหรือลองทำอะไรท้าทายขึ้นซักนิด ให้ลูปของเราน่าสนใจ มีอะไรแปลกใหม่มากขึ้น และอย่าลืมว่าทุกคนที่เราเจอบนรถไฟฟ้าตอนเช้าก็มีลูปเหมือนกับเราทั้งนั้น

ที่มา – BBC, CNBC

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา