ส่องชีวิตดี ๆ ที่เดนมาร์ก ประเทศที่คนมีความสุขที่สุดอันดับ 2 ของโลก เงินเดือนดี สวัสดิการดี มีเวลาใช้ชีวิต

Ilana Buhl วัย 30 ปี เป็นคุณครูชั้นประถมศึกษา ได้ย้ายจากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาไปอยู่ที่เดนมาร์กอย่างถาวรด้วยวีซ่าติดตามครอบครัวหลังจากแต่งงานกับสามีชาวเดนมาร์ก ก่อนที่จะเข้าไปทำงานสอนหนังสือในโรงเรียนนานาชาติในเดนมาร์ก 

เธอได้เล่าให้ฟังถึงข้อดีของการอยู่ในประเทศที่คนมีความสุขเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างเดนมาร์ก

ทำงานตามตาราง ไม่หักโหม

ในเดนมาร์ก ชั่วโมงการทำงานโดยทั่วไปอยู่ที่ 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรืออาจจะมากกว่านั้นเป็นบางช่วงที่ต้องชดเชยให้กับวันหยุดของโรงเรียนในฤดูร้อน ข้อสำคัญ คือ คนส่วนใหญ่ในเดนมาร์กทำงานตามที่ได้รับค่าแรงอย่างเคร่งครัด จะไม่ทำงานเกินกว่านั้น

Buhl เล่าว่า ตอนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ในสัญญาจ้างงานกำหนดว่า เธอจะต้องทำงานราว 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แต่ในความเป็นจริงกลับต้องทำงานมากถึง 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้มีเวลาเตรียมการสอนน้อยลงจนต้องเอางานไปทำต่อนอกเวลา

ลางานแบบไม่ถูกหักเงินได้ 5 สัปดาห์

คนส่วนใหญ่ในเดนมาร์กลางานได้ 5 สัปดาห์โดยบริษัทไม่หักเงินเดือน ยิ่งกว่านั้น ส่วนใหญ่มักจะใช้วันลากันหมด โดยมักจะหยุดงาน 2-3 สัปดาห์กันในช่วงฤดูร้อนและ 1-2 สัปดาห์ในช่วงวันคริสต์มาส

ขนส่งสารณะดี

Buhl เล่าว่า เธอใช้รถเมล์และรถไฟสาธารณะในการไปทำงานโดยใช้เวลา 40 นาที ราคาตั๋วรายเดือนที่ใช้ได้ใน 3 พื้นที่อยู่ที่ 93 โครเนอเดนมาร์กหรือราว 3,200 บาทซึ่งถูกกว่าเงินที่เธอใช้ไปกับการเติมก๊าซเพื่อขับรถยนต์ไปทำงานตอนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ดีที่สุดในเดนมาร์ก เธอบอกว่า คือ การไม่ต้องกังวลกับการหาที่จอดและจ่ายเงินค่าที่จอดรถเลย

เงินเดือนดี

อาชีพครูที่มีประสบการณ์ 10 ปีในเดนมาร์กได้รับเงินเดือนเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 55,805 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.9 ล้านบาทต่อปีหรือเกือบ 1.6 แสนบาทต่อเดือนสูสีกับเงินเดือนในสหรัฐอเมริกา (หากลองเทียบกับของไทยแล้วจะพบว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ครูไทยจะมีรายได้หลักแสนต่อเดือนแม้จะเป็นวัยใกล้เกษียณ)

Buhl เทียบให้เห็นการจ่ายภาษีของชาวเดนมาร์กและชาวอเมริกันว่า โดยเฉลี่ยแล้วชาวเดนมาร์กเสียภาษีเงินได้ 35.5% และได้รับสวัสดิการมากมายอย่างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขตอบแทน ขณะที่ชาวอเมริกันเสียภาษีโดยเฉลี่ยคนละ 24.8 % แต่อาจจะไม่ได้สวัสดิการอะไรกลับมาเลย ทั้งนี้ กรุงโคเปนเฮเกนก็ยังเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูง

ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง

เดนมาร์กมีระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่เพราะรัฐบาลกลางต้องแจกจ่ายงบประมาณแห่งชาติให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้บริการสาธารณสุขสำหรับพลเมืองในราคาถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลยด้วยซ้ำ

Buhl เป็นคุณแม่ลูกหนึ่งแต่การนัดหมายก่อนคลอดทั้งอัลตราซาวนด์ การพักฟื้นในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะเสียเงินไปในรูปแบบภาษีเงินได้แล้ว และยังมีพยาบาลประจำบ้านเดินทางมาตรวจสุขภาพหลังคลอดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 

เธอถึงขนาดบอกว่า มันเป็นเหมือนของขวัญที่เหลือเชื่อที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องกังวลกับบิลค่ารักษาพยาบาลที่แพงจนน่าตกใจ

ลาคลอดได้ยาวนาน

เธอเล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเองคลอดลูกในเดือนพฤษภาคมปี 2021 ใช้เวลาลางานตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายนับเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนโดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน หลังจากนั้นก็ได้รับ “Barselsdagpenge” ซึ่งเป็นค่าจ้างที่รัฐบาลจ่ายให้อีก 5 เดือน โดยได้รับเงินเดือนละประมาณ 3,258 ดอลลาร์หรือกว่า 100,000 บาทต่อเดือนก่อนหักภาษี

ตัวเธอใช้วันลางานแบบไม่ถูกหักเงินอีก 5 สัปดาห์ต่อจากนั้นและลางานแบบไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มอีก 1 เดือน ทำให้ในช่วงปีแรกหลังคลอดได้ดูแลลูกอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเคร่งเครียดกับงาน

ค่าใช้จ่ายดูแลเด็กเล็กไม่แพง

โรงเรียนระดับชั้นอนุบาลหรือสถานที่รับฝากเด็กเล็กที่เดนมาร์กมีค่าใช้จ่ายเท่ากันทุกที่ โดยเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี จะเสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 536 ดอลลาร์ (ราว 18,500 บาท) หรือ 632 ดอลลาร์ (21,800 บาท) ต่อเดือนถ้ารวมอาหารกลางวัน รวมทั้งยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและส่วนลดถ้ามีพี่น้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน

โรงเรียนรับฝากเด็กเล็กของเดนมาร์กจะเน้นที่การเข้าสังคมและการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นหลัก

Ilana Buhl บอกว่าคงเป็นเรื่องยากสำหรับเธอหากจะต้องย้ายกลับไปที่สหรัฐอเมริกาที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก ไม่มีสหภาพแรงงานครูในบางรัฐ และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กมีราคาสูง เธอเลยไม่มีแผนที่จะย้ายออกจากเดนมาร์กเลย

ที่มา – CNBC

อ่านเพิ่มเติม

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา