ปัญหาใหญ่ Uber คือไม่ได้เหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน จนมูลค่าบริษัทเริ่มลดลง

วิกฤตเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่รุมเร้า Uber จนผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Travis Kalanick ต้องลาออกจากตำแหน่ง อาจไม่ใช่ปัญหาเดียวของ Uber ในตอนนี้

ภาพจาก Uber

Wall Street Journal วิเคราะห์ว่าตัวเนื้อธุรกิจของ Uber เองก็มีความเปราะบาง เพราะต้องเผชิญกับคู่แข่งแบบเดียวกันในแทบทุกสนาม และเอาเข้าจริงแล้ว Uber ไม่มีแต้มต่อทางธุรกิจที่ช่วยกีดกันคู่แข่งได้ดีนัก

แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของ Uber ที่บริษัทใช้มาตลอดคือ เข้าสู่ตลาดประเทศต่างๆ ให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยวิธีการทุ่มกำลังเงินที่เหนือกว่ามาก เพื่อบีบให้คู่แข่งไม่สามารถทำธุรกิจได้ เพราะ Uber มีส่วนแบ่งตลาดเหนือกว่า

นอกจากนี้ Uber ยังลงทุนในเทคโนโลยีด้านไอทีและ data science ที่มั่นใจว่าจะทำให้ต้นทุนของตัวเองถูกกว่าคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์นี้อาจไม่เป็นไปตามที่ Uber ฝันไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว Uber เจอคู่แข่งที่น่ากลัวในทุกตลาดที่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น Lyft ในสหรัฐอเมริกาเอง, Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Ola ในอินเดีย, 99 ในบราซิล หรือในประเทศจีนที่ Uber ต้องพ่ายแพ้ให้กับ Didi อย่างเจ็บปวดจนต้องถอนตัวออกมา (อ่านบทความ รู้จัก Cheng Wei ซีอีโอ Didi Chuxing ผู้หยุด Uber)

แถมส่วนแบ่งตลาดของ Uber ในหลายประเทศก็ลดลง อย่างในสหรัฐอเมริกาเอง ถึงแม้ไม่มีการเก็บสถิติส่วนแบ่งตลาดอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลของบริษัท TXN Solutions ที่เก็บสถิติจากธุรกรรมบัตรเครดิตที่จ่ายให้บริษัทเรียกรถยนต์เหล่านี้ ก็พบว่าส่วนแบ่งตลาดของ Lyft เติบโตขึ้นจาก 10% ในปี 2015 มาเป็น 25% ในปี 2017

เหตุผลหนึ่งมาจากแคมเปญ #deleteuber ที่คนอเมริกันจำนวนมากประกาศลบแอพ Uber เพราะไม่พอใจบริษัทในหลายเรื่อง (โดยหลักๆ คือ Kalanick ไปเป็นที่ปรึกษา Trump แต่ก็มีประเด็นอื่นด้วย) ส่งผลให้ยอดผู้ใช้ Lyft เติบโตขึ้นอย่างพรวดพราดในรอบปีที่ผ่านมา

ภาพจาก Uber

Wall Street Journal มองว่าจุดแข็งของ Uber เรื่องการเข้าตลาดก่อน ไม่ใช่เรื่องจีรัง และเทคโนโลยีของ Uber ก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทได้เปรียบในการแข่งขัน เหมือนกับบริษัทไอทีอื่นๆ อย่าง Apple, Google, Facebook, Amazon ที่เข้าตลาดทีหลังแต่มีเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างกำแพงป้องกันคู่แข่งหน้าใหม่ๆ เข้ามาท้าทายได้

ในขณะที่ Uber มีโอกาสโดนคู่แข่งฉกทั้งลูกค้าและคนขับไปได้ทุกเมื่อ เพราะ Uber เป็นแค่หนึ่งในบริการเรียกรถที่มีจำนวนมากในท้องตลาด ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ แถม Uber ก็ไม่ได้มียุทธศาสตร์การล็อคคนขับรถให้ขับแต่ Uber เพียงอย่างเดียว ห้ามขับให้คู่แข่ง และไม่เคยมีนโยบายซื้อใจคนขับด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าตอนนี้ ธุรกิจของ Uber ยังห่างไกลกับความล้มเหลว เพราะภาพรวมของตลาดบริการเรียกรถ (ride hailing) ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดในภาพรวมของ Uber จะลดลง แต่ปริมาณธุรกรรมของการให้บริการก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปี

เพียงแต่ว่า ด้วยสภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง บวกกับ Uber ไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขันมากนัก ย่อมจะทำให้มูลค่าบริษัท (valuation) ของ Uber ที่ปัจจุบันอยู่ราว 68 พันล้านดอลลาร์ (ถือเป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก) ไม่สามารถไปต่อได้มากกว่านี้ และ Uber อาจต้องระดมทุนหรือขายหุ้น IPO ด้วยมูลค่าที่ลดลงจากนี้อีกมาก

Travis Kalanick (ภาพจาก Uber)

ตอนนี้มูลค่าหุ้นของ Uber ที่ขายกันในตลาดรอง (ผู้ถือหุ้นขายกันเองโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์มหาชน) มีมูลค่าบริษัทอยู่ประมาณ 50 พันล้านดอลลาร์ และมีคนเสนอซื้อหุ้น Uber ที่มูลค่าบริษัท 40 พันล้านดอลลาร์แล้ว ในขณะที่ราคาหุ้นของคู่แข่ง Lyft กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน

นี่จึงเป็นงานยากของ CEO คนใหม่ที่จะมาแทน Travis Kalanick เพราะนอกจากต้องมาแก้ปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่มีเรื่องฉาวโฉ่มากมายแล้ว ตัวแกนหลักของธุรกิจที่เริ่มมีปัญหาแข่งขันไม่ได้ อาจเป็นงานที่ยากกว่าซะด้วยซ้ำ

ที่มา – Wall Street Journal, TechCrunch

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา