โลกหมุนไปข้างหน้าจริงหรือ นี่คือหนึ่งในคำถามของคนรุ่นใหม่จากหลายพื้นที่ทั่วโลก
เทคโนโลยีก้าวหน้า การแพทย์ดีขึ้น แต่ทำไมภาพรวมชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเลย หรือจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี
ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนรุ่น 40s (ปัจจุบันอายุ 80 ปี) จำนวนกว่า 80% สามารถหาเงินได้มากกว่าพ่อแม่ของตัวเองในช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกัน ส่วนคนรุ่น 60s (ปัจจุบันอายุ 60 ปี) มีเพียง 50% เท่านั้นที่สามารถหาเงินได้มากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
ในปัจจุบัน ถ้าถามคนรุ่นใหม่ดูว่า มีกี่เปอร์เซ็นต์กันที่มีรายได้มากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตัวเอง
คำตอบที่ได้ดูเหมือนจะต่ำเตี้ยลงไปมาก
สำนักข่าวระดับโลก Financial Times ทำแบบสอบถามช่วงต้นปี 2021 สัมภาษณ์คนทั่วโลกจำนวน 1,700 คน อายุ 16-35 ปี พบว่า คนยุคนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
คน 60% ทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถาม มองว่า แม้พวกเขาจะมีงานทำ แต่งานที่มีก็มั่นคงน้อยกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
ในประเทศฮังการี คนรุ่นใหม่กว่า 75% บอกว่า เขาจะมีชีวิตหลังเกษียณที่ย่ำแย่กว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
“ฉันทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพ (professional) มากกว่าพ่อแม่ของฉัน แต่ถ้าถามว่า ลูกของฉันจะมีอนาคตที่ดีกว่าฉันไหม … ก็ไม่เท่าไหร่” คนทำงานด้านกฎหมายรายหนึ่งในลอนดอนให้สัมภาษณ์
คนจีนวัยประมาณ 20 ปี ทำงานที่เซี่ยงไฮ้ บอกว่า แม้เขาจะมีชีวิตในจีนยุคที่เศรษฐกิจดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ รับเอาวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งก็มาพร้อมกับค่าที่พัก ค่าที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมาก
ใช่, คำตอบใหญ่คือ “เศรษฐกิจ”
แต่คำว่าเศรษฐกิจในที่นี้ไม่ได้มีแค่การเติบโต เพราะมันพ่วงมาด้วยการพัฒนาที่หลงลืมหลายสิ่งอย่างระหว่างทาง ที่หนักที่สุดคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่พุ่งขึ้นมาพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากนั้นก็ตามมาด้วยการสะสมความมั่งคั่งของคนรุ่นก่อน ซึ่งไม่ได้กระจายสู่ทั้งสังคมอย่างเท่าเทียม
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เป็นตัวอย่างอันดี คืองานวิจัยที่ศึกษาในสหราชอาณาจักรโดย Institute for Fiscal Studies (IFS) ตีพิมพ์เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2021 ศึกษารายได้ตลอดชีพของคนที่มาจากครอบครัวที่รวยสุด 5% และจนที่สุด 5% ของสังคม พบว่า ช่องว่างรายได้ของที่เกิดในช่วงปี 60s แคบกว่าคนที่เกิดในช่วงปี 80s อยู่เป็นเท่าตัว
พูดเป็นภาษาคนคือ งานวิจัยพบว่า กลุ่มผู้สูงวัยในยุคนี้ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ก่อร่างสร้างตัว และหาเงินทั้งชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มวัยกลางคนในยุคนี้ (ช่วงอายุประมาณ 40 ปี) ไม่ว่าจะเป็นคนรวยที่สุดหรือจนที่สุดในสังคมก็ตาม
งานวิจัยนี้สอดคล้องกับอีกหนึ่งผลลัพธ์จากแบบสำรวจของ FT ที่พบว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้มองว่า การมีโชคดี (luck) สำคัญไม่แพ้ความสามารถ (merit) หรือพูดอีกแบบคือ จะเก่งแค่ไหน จะทำงานหนักแค่ไหน ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตอีกต่อไป เพราะปัจจัยสำคัญคือโชคในชีวิต เป็นต้นว่า ต้นทุนในชีวิตที่สูงกว่าก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า
ปรากฏการณ์ #ย้ายประเทศกันเถอะ
กระแสชวนกันย้ายประเทศที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ไทยช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2021 ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการสะสมความบีบคั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และรวมถึงปัญหาระดับโลกร่วมสมัยอย่าง “โรคระบาด” ที่รัฐไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เพียง 4 วันมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มเกือบ 7 แสนคน, นี่คือปรากฏการณ์
อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะเป็นเรื่องปกติสามัญ ดาษดื่น
ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่โลกกว้างกว่าเดิม เห็นและสัมผัสว่าชีวิตของตัวเองย่ำแย่กว่าคนรุ่นก่อน แถมยังมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า ภาพของประเทศไทยไม่ต่างจากพายเรือหมุนวนในอ่าง อยู่กับที่ ไม่ไปไหน ปรากฏการณ์ย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ถ้ามองจากมุมนี้
อย่างน้อยที่สุด ถ้าการเมืองไม่ดี แต่เศรษฐกิจดี คงไม่เกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่จะย้ายหนีออกจากประเทศกันมากมายขนาดนี้
แกนกลางหลักของเรื่องการย้ายประเทศมี 2 เรื่องสำคัญคือ หนึ่งในแง่ปัจเจก มันคือความพยายามในการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า (แต่ในความเป็นจริง จะดีหรือแย่กว่าเดิม เป็นอีกเรื่อง) สองในแง่รัฐ/ประเทศ มันคือการดึงดูดแรงงานมีทักษะเพื่อเข้าไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
โลกนี้มีคน 2 แบบที่ไปไหนใครๆ ก็ต้อนรับ หนึ่งคือคนเก่ง สองคือคนรวย
หลายประเทศทั่วโลกในยุคนี้กำลังดึงดูดคนเก่งๆ เข้าไปทำงาน ที่มากกว่านั้นคือชวนไปอยู่ยาว เอาครอบครัวไปอยู่ด้วย ว่าง่ายๆ คือชวนไปเป็นพลเมือง ชวนไปเป็นแรงงานสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศ
- ญี่ปุ่น เปิดรับแรงงานต่างชาติ ทักษะสูง ฝีมือดี ชวนให้อยู่ยาว เอาครอบครัวมาอยู่ได้
- จีน ชวนย้ายประเทศ ให้ใบอนุญาตทำงาน อยู่ยาวถาวรง่ายขึ้น
- สิงคโปร์ เปิดโครงการรับแรงงานทักษะสูง แจกวีซ่าอิสระ ทำธุรกิจ พาครอบครัวมาอยู่ได้
- ออสเตรเลีย เปิดโครงการล่าแรงงานทักษะสูงฝีมือดีเข้าประเทศ ได้วีซ่าถาวร
- และอีกมากมายหลายประเทศ
แต่ทีนี้ ถ้าพูดถึงสังคมไทย มองข้ามช็อตไปจากปรากฏการณ์ย้ายประเทศ มองข้ามช็อตไปจากความบีบคั้นในด้านต่างๆ ความกดดันจากปัญหาการเมือง และการจัดการโรคระบาดในปัจจุบัน
คำถามใหญ่คือ เรามีอุตสาหกรรมที่เตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคตเพียงพอแล้วหรือยัง? รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ดีพอจะรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและมีทักษะสูง
ขณะนี้ ประเทศไทยไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังไม่มีเศรษฐกิจแห่งอนาคตด้วย เหมือนอย่างที่ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทยพูดเอาไว้ว่า บุญเก่าหมด ไม่รู้ว่าเก่งอะไร ไม่น่าลงทุนตรงไหน ‘เศรษฐกิจไทย’ ในเวลานี้
อ่านแบบสำรวจ-สอบถามของ Financial Times ได้ที่ What problems are young people facing? We asked, you answered
- มีคนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกร่วมตอบแบบสอบถาม เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐเมริกา, นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, บราซิล, อียิปต์, โปรตุเกส, เลบานอน, อเมริกาใต้, มาเลเซีย, กัมพูชา, อินเดีย และจีน
- ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทำงานอยู่ในหลากหลายวงการ เช่น กฎหมาย, ธนาคาร, สื่อมวลชน, การศึกษา, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา