ทำไมคนยุคนี้ไม่มีลูก | BI Opinion

คำพูดที่ว่า “คนยุคนี้ไม่นิยมมีลูก” เป็นความจริงในหลายสังคม

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ตัวเลขในประเทศพัฒนาแล้วหลายที่ทั่วโลกชี้ให้เห็นประเด็นนี้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเกิดในปี 2016 ต่ำเป็นประวัติการณ์ หรือญี่ปุ่นในปี 2018 มีที่มีประชากรลดลงไปถึง 450,000 คน

แต่ก่อนอื่นต้องพูดให้ชัดด้วยว่า การมีลูกหรือไม่มีลูกเป็นทางเลือกของชีวิตในระดับปัจเจก ไม่มีถูก ไม่มีผิด ขึ้นอยู่กับการเลือกและศีลธรรมที่ยึดถือเป็นการส่วนตัว

แต่ทว่าสิ่งที่เป็นผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “เศรษฐกิจ” เพราะอย่างน้อยที่สุด อัตราการเกิดต่ำของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ การไม่มีลูกของประชากรในวงกว้าง นำมาซึ่งอัตราการเกิดต่ำ อันเป็นสัญญาณที่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บทความชิ้นนี้พยายามจะตอบคำถาม ไม่ใช่ผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากการไม่นิยมมีลูกของคนยุคนี้ เพราะสิ่งที่ต้องการตอบคือ อะไรบ้างคือสาเหตุที่ทำให้คนยุคนี้ไม่นิยมมีลูก

ยุคสมัยแห่งการบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมการเมือง

ไม่ว่าจะอยากมีหรือไม่อยากมีลูก สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คนยุคนี้ต่างถูกกดทับและบีบคั้นด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมการเมือง

หากมองภาพสังคมไทยในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาตามที่บทบรรณาธิการของ Brand Inside ประจำปี 2020 ชื่อเรื่อง “จากทศวรรษที่สาบสูญ สู่ทศวรรษซึมเศร้า” จะเห็นได้ว่าหากมองในแง่เศรษฐกิจพบว่า สังคมไทยมีการสั่งสมปัญหามาตั้งแต่จุดที่กระทบตัวปัจเจกมากที่สุดอย่างรายได้ที่ไม่สูงขึ้นมากนักในรอบหลายปี ส่งผลให้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น หรือปัญหาที่ไกลตัวไปกว่านั้นแต่เป็นภาพใหญ่ของประเด็นเชิงเศรษฐกิจอย่างสภาพการแข่งขันในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความมั่นคงทางอาชีพในยุคนี้เมื่อเทียบกับหลายทศวรรษที่ผ่านมาแตกต่างกันลิบลับ โดยสืบเนื่องมากจากการเข้ามาสร้างความปั่นป่วน (disrupt) ของเทคโนโลยี และรวมถึงทุนข้ามชาติที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนทำให้ธุรกิจเดิมๆ ในท้องถิ่นที่มีมาล้มหายตายจากไปก็ไม่น้อย

นี่คือยุคสมัยที่ความไม่แน่นอนได้กลายเป็นความแน่นอนอย่างถึงที่สุด

แต่นอกเหนือจากประเด็นเชิงเศรษฐกิจ ประเด็นที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องกันมาในเชิงสังคมการเมือง ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ The Economist Intelligence Unit เรื่อง “From cubs to ageing tigers: Why countries in Southeast Asia need to think about fertility rates before it’s too late” ที่ได้ทำการศึกษาถึงเหตุผลของประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี “อัตราการเกิดน้อยลง” มาจากหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่นโยบายการคุมกำเนิดที่เริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. 2513 – พ.ศ. 2539, ผู้หญิงมีการศึกษาดีขึ้น การมีลูกจึงไม่ใช่ทางเลือกแรกๆ ของชีวิต, ไลฟ์สไตล์การกินดื่มที่หนักรวมถึงสภาพแวดล้อมส่งผลให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่รายงานชิ้นดังกล่าวระบุไว้คือ “ความเหลื่อมล้ำ” ผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้สำคัญที่สุด

ถ้าเรามองภาพสังคมไทยที่มีเมืองหลวงโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพ (จนหลายคนเรียกว่า #ประเทศกรุงเทพ) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่เป็นหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของไทย แน่นอนว่าจังหวัดที่เศรษฐกิจดีเหล่านี้มีจำนวนน้อยกว่า (หรือน้อยเกินไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ) จึงทำให้ผู้คนในต่างจังหวัดจำเป็นต้องอพยพเข้าเมืองหลวงหรือหัวเมืองเพื่อทำมาหากิน และสิ่งเหล่านี้ก็พ่วงมาด้วย ราคาค่าที่พักในเมืองหลวงที่แพงหูฉี่ หรือถ้าเช่าที่พักในราคาที่ถูก ก็ย่อมได้พื้นที่อันคับแคบซึ่งไม่เอื้อให้มีความพร้อมในการเลี้ยงอีกหนึ่งชีวิตได้อย่างดีพอ ไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพของหลายคนในยุคนี้ที่หากมีลูกและต้องอพยพออกไปทำงานนอกภูมิลำเนา ก็จะฝากฝังลูกของตนเองไว้กับญาติผู้ใหญ่ให้ช่วยเลี้ยงในต่างจังหวัด

คนในยุคนี้ที่กำลังเติบโต คนในยุคนี้ที่กำลังเข้าสู่ระบบการศึกษา และคนในยุคนี้ที่จบออกมาหางานทำ กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ตั้งใจอดออมเพียงใด ก็ดูจะไร้พลังที่มากพอจะไปเลี้ยงอีกหนึ่งชีวิตได้อย่างสบายๆ

คนรุ่นใหม่ในยุคนี้จำนวนไม่น้อยมองภาพไม่ออกจริงๆ ว่า ในอนาคตสภาพสังคมจะดีไปมากกว่านี้ได้อย่างไร หันมองดูคนรุ่นใหม่ในฝั่งเอเชียอย่างเกาหลีใต้ที่มีจำนวนสูงถึง 1 ใน 3 ที่บอกว่าอยากย้ายออกจากประเทศ หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นญี่ปุ่นที่บอกว่าหมดหวังกับอนาคตและไม่คิดว่าประเทศจะพัฒนาได้มากกว่านี้ หรือในสังคมไทยเองที่เรามักได้อ่านได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดียที่ว่า หากเป็นไปได้ พวกเขาก็อยากออกจากประเทศนี้ไปเสีย

อันที่จริงแล้ว ความคิดความเห็นทำนองนี้เข้าใจได้ เพราะคนรุ่นนี้เกิดมาในยุคที่บ้านเมืองปั่นป่วน สภาพเศรษฐกิจผันผวน จนหลายคนพูดในทำนองเสียดสีว่า ยังไม่เคยอ่านข่าวที่บอกว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจดีเลย

ดังนั้น การที่คนยุคนี้ไม่มีลูกเป็นประเด็นที่ผูกกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคมอยู่ไม่น้อย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

คำถามสำคัญที่ต้องขบคิดคือ เราจะทำอย่างไรให้การมีลูกของคนยุคนี้ ไม่ใช่ต้นทุนทางสังคมที่หนักเกินไปสำหรับเขาและคู่ชีวิตที่ต้องแบกรับ

ปัญหาใหญ่ในอนาคต: คนเก่ายังไม่ไป คนใหม่ยังไม่มา

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังจะเจอหนักขึ้นเรื่อยๆ คือการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

“คนเก่ายังไม่ไป คนใหม่ยังไม่มา” จึงกลายเป็นความท้าทายที่จะค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น สังคมไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป หากเข้าสู่สังคมสูงวัยมากกว่านี้ในขณะที่ผู้สูงอายุไทยยังเผชิญปัญหาหนี้ในวัยเกษียณ เงินไม่พอใช้ เงินออมไม่พอยังชีพ ทำให้การเลี้ยงชีพในแต่ละวันนั้นแสนลำบาก ฯลฯ

ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากมีลูก เพราะแบกรับต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจไม่ไหว สังคมไทยจะก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรไปได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องขบคิด

  • สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอคือ ถึงที่สุด เราอาจไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่ง โดยละเลยอีกปัญหาที่สืบเนื่องต่อกันได้ อย่างเช่นกรณีประเด็นการไม่มีลูกของคนยุคนี้ เอาเข้าจริง การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่อย่าง “การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจออกจากศูนย์กลาง” อาจทำให้เราแก้ปัญหานี้ได้ และเผลอๆ อาจเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้อีกมากเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม Brand Inside TALK เคยเสนอประเด็นสังคมสูงวัยไว้ว่า สังคมยิ่งแก่ ทางแก้ยิ่งต้องหนุ่ม โดยเชื่อว่าทางออกของเรื่องนี้มีหลายทาง แต่หนึ่งในนั้น อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดนโยบายที่เน้นการเปิดกว้าง เปิดรับ และรองรับทั้งในแง่รายได้ สวัสดิการ และความมั่นคงของแรงงานจากต่างชาติเพื่อทำให้คนไทย สังคมไทย และเศรษฐกิจไทยยังเดินต่อไปได้ในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา