รู้จักกับ Warung Pintar นวัตกรรมซุ้มขายของเพื่อชาวบ้าน ที่อาจเปลี่ยนนิยามคำว่า “ค้าปลีก”

บทความโดย วฤธ ศรีสุริยะรุ่งเรือง

เมื่อเร็วๆ นี้ East Ventures หนึ่งใน VC ชื่อดังในเอเชียผู้ลงทุนใน Traveloka, Shopback รวมถึงสตาร์ทอัพไทยอย่าง StockRadars และ Omise ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพบริษัทหนึ่ง ที่นำเอาเทคโนโลยีมาปรับปรุงคุณภาพของร้านค้าเพื่อแก้ปัญหาให้กับ ประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือ คนรากหญ้า ชื่อว่า Warung Pintar

Warung Pintar ถูกก่อตั้งขึ้นโดยทีมที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงในวงการสตาร์ทอัพหลายคนในอินโดนีเซีย เช่น Agung Bezharie อดีตผู้จัดการการลงทุนของ East Ventures ในตำแหน่ง CEO, Harya Putra ในตำแหน่ง COO รวมไปถึง Sofian Hadiwijaya อดีตรองประธานกรรมการด้าน Business Intelligence ของ Go-Jek เข้ามาร่วมทีมด้วย Warung Pintar ไม่ใช่สตาร์ทอัพที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว แต่เป็นบริษัทที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จาก East Ventures โดยตรง

Warung Pintar
Warung Pintar

ความเป็นดิจิทัลในร้านที่เล็กที่สุด

ในอินโดนีเซีย คำว่า “Warung” (Kiosk) แปลว่า ซุ้มขายของ, แผงขายของ ซึ่งธุรกิจของ Warung Pintar ก็คือร้านค้าปลีกในรูปแบบซุ้มขายของตามความหมายของ Warung นั่นเอง ซุ้มขายของเหล่านี้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ ขนมปัง, สบู่ ไปจนถึง บุหรี่

อ้างอิงจากงานวิจัยปี 2014 แค่ในกรุงจาการ์ต้าเพียงอย่างเดียว ก็มีซุ้มขายของอยู่มากกว่า 50,000 ร้าน และแต่ละซุ้มมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านรูเปียห์ต่อวัน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,500 บาทต่อวัน)” กล่าวโดย Harya Putra

ในยุคที่ทุกอย่างเป็นออนไลน์ไปซะหมดอย่างเช่นยุคนี้ ยังมีชาวอินโดนีเซียอีกเป็นจำนวนมากที่มองว่าการซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจากซุ้มขายของยังสะดวกกว่าการสั่งออนไลน์อยู่ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างจาการ์ต้า เราก็ยังคงเห็นซุ้มร้านค้าจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไปตามท้องถนน

นอกจากการขายสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานตั้งแต่สบู่ไปจนถึงบุหรี่แล้ว Warung Pintar ยังสามารถให้บริการเสริมผ่านระบบออนไลน์ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน หรือ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ และในส่วนของการทำบัญชี, การจัดเก็บสินค้า, การจัดส่งสินค้า และเครื่องคิดเงินของทางร้านก็เป็นระบบดิจิตัลทั้งหมด

สตาร์ทอัพอิเหนารายนี้ ต้องการจะพาธุรกิจอย่างซุ้มขายของเล็กๆเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการทำ Blockchain, Big Data Analysis และ Internet of Things

Warung Pintar
Warung Pintar

แฟรนไชส์, แพลตฟอร์มการลงทุน และ เครือข่ายสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง

ธุรกิจของ Warung Pintar ถือเป็นทางแก้ปัญหาแบบ One Stop Service ให้กับผู้ที่ต้องการจะเริ่มธุรกิจซุ้มขายของอย่างแท้จริง ทางบริษัทจะช่วยเจ้าของร้านจัดหาทั้งทำเลและเงินทุนในการเปิดร้านใหม่

ในอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่มีเงินทุนก็สามารถเป็นนักลงทุนซื้อที่แฟรนไชส์และจัดหาเงินทุนให้กับผู้ที่ตั้งใจจะเปิดร้านได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือพวกเขาทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับทั้ง ผู้ลงทุน, เจ้าของร้าน และ เจ้าของที่ มาพบกันและร่วมกันจัดตั้งร้านขึ้นมาในนามแฟรนไชส์ของบริษัท

อ้างอิงจากหน้าเว็บไซต์หลัก โมเดลธุรกิจของ Warung Pintar เป็นแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 50,000,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 117,500 บาท ระยะเวลาคืนทุน 10-12 เดือน และคาดการณ์ว่าเจ้าของจะได้รับรายได้เฉลี่ย 6,000,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 14,100 บาทต่อเดือน

ด้วยต้นทุนดังกล่าว สิ่งที่เจ้าของร้านจะได้จากแฟรนไชส์นี้ คือ การมีโต๊ะ Built in ติดมากับซุ้มพร้อมเก้าอี้นั่ง, อุปกรณ์ชาร์จสมาร์ทโฟนสำหรับลูกค้า, โทรทัศน์ LCD รวมถึงกล้องวงจรปิด CCTV เพื่อความปลอดภัยของคนขายอีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่ Warung Pintar ออกแบบโครงสร้างร้านมาในรูปแบบนี้ Harya Putra ได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า “ผมมองว่า Warung เปรียบเสมือน ศูนย์กลางของชุมชน มากกว่าร้านค้า มันคือสถานที่ที่ลูกค้ามาพบปะ พูดคุยกัน ดื่มกาแฟ ชาร์จสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่การนั่งดูรายการฟุตบอลด้วยกัน”

ภาพประกอบจาก Shutterstock
ภาพประกอบจาก Shutterstock

และสำหรับซุ้มของ Warung Pintar ที่สร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ทางบริษัทยังมีบริการเสริมให้เจ้าของร้านในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

  1. ช่วยให้เจ้าของร้านเข้าถึงการจัดซื้อสินค้าเข้าร้านได้อย่างหลากหลายและมีราคาถูก
  2. ช่วยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในนามของ Warung Pintar เพื่อช่วยดึงลูกค้าเข้าร้าน
  3. ฝึกอบรมและสอนการใช้งานซอฟแวร์ที่บริษัทนำมาติดตั้ง ในการจดบันทึกสต๊อกสินค้าและจดบัญชีของทางร้าน
  4. สนับสนุนให้ทางร้านสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ตั๋วเครื่องบินออนไลน์, ตั๋วรถไฟออนไลน์ หรือแม้แต่สินค้าที่สั่งทาง E-Commerce แล้วนำขายผ่านทางหน้าร้าน

เทคโนโลยีทุกอย่างที่ถูกนำมาใช้ในซุ้มของ Warung Pintar ก็ล้วนมาจากสตาร์ทอัพในเครือของ East Ventures ด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น

  • Moka POS เป็นแอปพลิเคชั่นเครื่องคิดเงินดิจิตัล
  • Jurnal เป็นแอปพลิเคชั่นจัดการบัญชี
  • Kudo เป็นแอปพลิเคชั่นตัวแทนรับ ขายตั๋วต่างๆ และ สินค้าที่ขายผ่าน E-Commerce ด้วยเงินสด (ปัจจุบันถูก Grab ซื้อไปแล้ว)
  • Do-Cart เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับจัดซื้อและจัดส่งสินค้า
  • Waresix เป็นระบบบริหารจัดการระหว่างคลังสินค้ากับร้านค้าปลีก
ภาพประกอบจาก Shutterstock
ภาพประกอบจาก Shutterstock

ปัจจุบันโปรเจคนี้ได้เปิดให้บริการแล้วใน 8 สาขาทั่วกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

Wilson Cuaca หุ้นส่วนผู้จัดการของ East Ventures กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขณะที่ลูกค้าและร้านค้าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่กำลังปรับตัวเข้ากับ Digital Platforms อย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเราสังเกตเห็นว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ตกกระแสของ Digital Platforms เหล่านี้ เพียงเพราะว่าพวกเขาขาดความเข้าใจและขาดทุนทรัพย์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยภาพรวม

Warung Pintar เลือกที่จะใช้แนวทางในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างออกไปในการให้บริการกับคนกลุ่มนี้ในสังคม ไม่เพียงแต่การนำ Digital Platforms เข้ามาให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้บริการแต่ยังสร้างธุรกิจในท้องถิ่นให้พวกเขาได้เป็นเจ้าของเองอีกด้วย พวกเราสร้างทางแก้ปัญหาที่ครบวงจร ทั้งการจัดหาทำเล, จัดหาเงินทุน, จัดซื้อ และทำการตลาดให้

Warung Pintar คือ นิยามใหม่ของคำว่า ค้าปลีก ในประเทศอินโดนีเซีย เราเสนอความเป็นพันธมิตรให้กับเจ้าของร้าน ซึ่งหน้าที่ของเจ้าของร้านจึงมีแค่ รับผิดชอบการขาย, มีความซื่อสัตย์ และลงแรงบำรุงรักษาร้านตามความเหมาะสมเท่านั้น”

ภาพประกอบจาก Shutterstock
ภาพประกอบจาก Shutterstock

สรุป

วงการสตาร์ทอัพอินโดนีเซียเริ่มเดือนแรกของปีด้วยข่าวที่น่าสนใจหลายข่าว ไม่ว่าจะเป็นการที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ตัดสินใจลงทุนทางตรงใน Go-Jek จนมาถึงการที่ East Ventures ลงทุนสร้างสตาร์ทอัพด้วย Model อย่าง Warung Pintar อันที่จริงแล้ว เราไม่ค่อยจะได้เห็นสตาร์ทอัพที่สร้างธุรกิจใหม่เพื่อมาจับตลาดคนรากหญ้า แทบจะไม่เคยมีเลยจนกระทั่งเปิดตัว Warung Pintar ขึ้นมา

ในไทยเองก็ยังไม่มีธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการปฏิรูปธุรกิจค้าปลีกให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ท่ามกลางกระแส Disruption ที่รุนแรงอย่างในทุกวันนี้ น่าสนใจมากว่าเราจะสามารถเรียนรู้จาก Model ธุรกิจนี้ได้อย่างไร และหากนำ Model นี้มาประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ผมมองว่าบางทีการนำเอา Function การถ่ายเอกสาร, สแกน, ปริ้นงาน และ ส่งอีเมล์มาร่วมด้วย หรือ ปรับจากซุ้มขายของเป็นซุ้มขายอาหารดิจิทัลไปเลย ก็น่าจะเป็น Model ธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ

ที่มา – e27, Tech in Asia, Warung Pintar

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา