หมดไฟ หมดใจกับงาน? เปิด 4 ขั้นตอนฮีลใจให้มีแรงทำงานใหม่อีกครั้งจาก Harvard Business Review

ไม่อินกับงาน หมดไฟ ไร้เรื่องที่สนใจ อาจมีบางช่วงที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนหรือคนที่ต้องทำสิ่งเดิมเป็นเวลานานต้องเจอ แม้ว่าจะพยายามทำตัวเป็นลูกทีมหรือหัวหน้างานที่ดี แต่ก็มีบางช่วงที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกว่าห่างเหินกับงาน ไม่ได้จดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าจริง ๆ 

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะ ในช่วงปี 1990 William Kahn แห่งมหาวิทยาลัย Boston University เรียกสิ่งนี้ว่า “Disengagement” หมายถึงการไม่อินหรือรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อไม่นานมานี้ Gallup ได้ทำแบบสำรวจพบว่า มีพนักงานเพียง 23% ทั่วโลกที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงาน  ขณะที่ 59% รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง ลงแรงกับงานแค่เท่าที่ต้องทำและรู้สึกไม่ยึดโยงกับบริษัท ส่วนอีก 18% รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับงานอย่างมากและตั้งใจทำสิ่งที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) ยังเป็นไปในทางเดียวกันว่า พนักงานมีแนวคิดในเชิงลบต่อการทำงานเช่นเดียวกัน โดย 31% รู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์  26% รู้สึกหมดแรงจูงใจที่จะทำงานให้ดีที่สุด 19% มีอารมณ์ขุ่นมัวและอารมณ์โกรธต่อเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า

ความรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งกับงานหรือถอดใจกับงานนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อตัวเองอย่างการไม่เข้าสังคม การไม่ช่วยเหลือตัวเอง ภาวะทางอารมณ์เชิงลบ ความเครียดหรือความกังวล ทำให้เราต่างเคยพบเจอกับคนที่หมดแรงจูงใจในการทำงานไม่ว่าจะในฐานะลูกค้าที่เจอบาริสต้าที่ไม่มีกะจิตกะใจกับงานหรือพนักงานภายในร้านที่ไม่ค่อยจะช่วยเหลืออะไรเท่าไรนัก ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่ทำงานได้ไม่ถึงมาตรฐาน แต่ถ้าหากเราเป็นคนที่หมดอาลัยตายอยากที่จะทำงานซะเอง แบบนี้จะทำยังไงดี?

Harvard Business Review แนะนำ 4 ขั้นตอนที่เรียกว่า DEAR ในการก้าวข้ามความรู้สึกไม่หมดไฟและหมดใจกับงาน ประกอบด้วย Detachment (การแยกตัว) Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) Action (การลงมือทำ) และ Reframing (การมองมุมใหม่)

Detachment (การแยกตัว)

การแยกตัวออกมาฟังดูเป็นวิธีที่ตรงข้ามกับการก้าวผ่านความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับงาน แต่ที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องใช้เวลาย้อนกลับมามองสถานการณ์และความรู้สึกของตัวเองโดยไม่มีอคติเพราะเมื่อคนเราไม่มีความสุขไม่ว่ากับงานหรือสถานการณ์ทั่วไป สิ่งที่เลวร้ายมักดูเลวร้ายกว่าความเป็นจริงเสมอและดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นกับเราต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าเราจะลงมือทำอะไร

การทิ้งระยะห่างและการใช้ความคิดเป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกทางที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแค่การตอบสนองต่อความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา นำไปสู่หนึ่งในความผิดพลาดของการทำงานที่หลายคนมองเป็นทางเลือกสุดท้ายอย่างการลาออก

สิ่งที่ทำได้ในขั้นตอนการแยกตัว คือ การย้อนกลับมาตกตะกอนและห่างออกจากงานด้วยการทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในแต่ละวันว่า อะไรบ้างที่ผ่านไปได้ด้วยดีและมีความหมายกับตัวเองเพื่อทำให้อารมณ์ดีขึ้น การห่างออกจากงานทำได้ผ่านการกระทำที่จับต้องได้ เช่น การเก็บโน้ตบุ๊คใส่ตู้หรือออกจากระบบอีเมลงาน พยายามไม่คิดถึงงานและปล่อยให้ตัวเองได้มีเวลาฟื้นฟูพลังงานด้านจิตใจ

งานวิจัยจาก Benson-Henry Institute ที่ Massachusetts General Hospital แสดงให้เห็นว่า การนั่งสมาธิอย่างง่ายเป็นเวลา 10-20 นาที 2 ครั้งต่อวันช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตื่นตระหนก ทำให้สุขภาพกายและสุขขภาพจิตดีขึ้น ประกอบกับการขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ การเข้าคลาสออกกำลังกาย การเล่นกีฬาหรือแต่แม้แต่การเดินเล่นทั่วออฟฟิศเป็นระยะสั้น ๆ

สุดท้าย คือ การคิดเสมือนว่าตัวเองเป็บบุคคลที่ 3 ที่มองเข้ามาดูชีวิตตัวเอง มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้คนจะควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้นภายใต้ความกดดันเมื่อเรียกตัวเองด้วยชื่อหรือคำสรรพนามบุคคลที่ 3 แทนคำว่า “ฉัน” เมื่อพูดกับตัวเอง เพราะจะช่วยให้สมองมองปัญหาเหมือนเป็นปัญหาของคนอื่นแทน

Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) 

เมื่อหลายคนหมดกำลังใจที่จะทำงาน อาจต่อว่าตัวเองที่ไม่มีเรื่องที่สนใจ ขาดความทะเยอทะยาน แต่ความเห็นอกเห็นใจตัวเองและการเข้าหาและใส่ใจคนอื่นเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยทำให้กลับมามีแรงจูงใจในการทำงานอีกครั้ง เพราะเราทุกคนมีความต้องการด้านจิตใจไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความรู้สึกประสบความสำเร็จ และความคิดเห็นเชิงบวกที่ได้รับจากคนอื่น สิ่งที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ก็คือการช่วยให้คนอื่นได้สิ่งเหล่านี้ด้วย

เริ่มที่การฝึกดูแลตัวเองด้วยการมองว่าความคิด ความรู้สึกของตัวเอง และคุณค่าที่ตัวเองยึดถือเป็นสิ่งสำคัญผ่านการใจดีกับตัวเองแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การดื่มกาแฟดี ๆ สักแก้ว ไปจนถึงการพบนักจิตวิทยาอย่างสม่ำเสมอ 

ต่อมาคือการทำสิ่งที่ดีให้คนอื่น เริ่มต้นจากการปฏิบัติต่อคนอื่นผ่านมุมมองที่ว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับเราเอง ทำได้ด้วยการผ่านการสบตาขณะพูดคุย สังเกตคนอื่นด้วยความใส่ใจ และชื่นชมกับสิ่งที่คนอื่นมีส่วนร่วม หรือถามคำถามอย่างใส่ใจกับเพื่อนร่วมงาน เพราะความเข้าอกเข้าใจคนอื่นต้องอาศัยความอยากรู้เรื่องราวของคนนั้น ๆ 

หลังจากเข้าใจคนอื่นแล้ว ลองเริ่มช่วยเหลือคนอื่นเพิ่มเติมในเรื่องเล็กน้อย เช่น การจัดตู้เย็นในที่ทำงาน อธิบายการใช้อีเมลให้พนักงานใหม่ หรือจะเป็นการสอนงานให้กับเพื่อนร่วมงานที่ประสบการณ์น้อยกว่า 

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำได้คือการพยายามหาเพื่อนหรือคนที่เราชื่นชอบในที่ทำงาน หนึ่งในมาตรวัดความรู้สึกส่วนหนึ่งในการทำงานของ Gallup คือการมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานและเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าประสิทธิภาพของการทำงานของพนักงานที่มีเพื่อนสนิทจะดีขึ้นด้วย

Action (การลงมือทำ)

งานวิจัยเผยว่า พนักงานที่รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงานมักจะหาทางออกด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ พึ่งพายาเสพติด หรือไม่ก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงบนอินเทอร์เน็ตหรือใช้เวลางานไปกับเรื่องส่วนตัว 

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกเริ่มจากการจัดการสิ่งเล็กน้อยก่อน เพราะงานวิจัยพบว่า เมื่อเราทำอะไรสำเร็จแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นแถมช่วยเพิ่มโอกาสให้ทำงานที่ใหญ่กว่าเดิมได้สำเร็จ ดังนั้นแม้ว่าการทำงานที่สำคัญที่สุดในตอนเช้าจะเป็นวิธีที่หลายคนมองว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่สำหรับคนที่ขาดแรงจูงใจอาจจะต้องเริ่มจากการทำงานที่ง่ายที่สุดก่อน 

งานวิจัยหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าการทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากงานช่วยให้คนรู้สึกดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และมีพลังงานสูงขึ้น โดยอาจทำในรูปแบบงานอดิเรก งานอาสาสมัคร หรือการหารายได้เสริมก็ได้เหมือนกัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในขั้นตอนการลงมือทำ คือ Job Crafting หรือการมีอิสระในการปรับเปลี่ยนงานให้เหมาะกับจุดแข็งและความสนใจไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่น่าสนใจมากขึ้น ลดปริมาณงานลง หรือลดงานที่มีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกลงบ้าง  

การเปลี่ยนงานที่น่าเบื่อและไร้ความหมายให้เป็นเกมเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น เหมือนกับแนวคิดในการทำ Tracking App บางอย่าง เช่น การมี Streak ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารู้สึกไม่อินกับงานที่ทำ อาจลองสร้างเกมเล่น ๆ ในใจและให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จดูก็ได้

ขั้นตอนการลงมือทำยังรวมถึงการจิตนาการว่าตัวเราเป็นคนอื่น ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง กลุ่มที่ถูกขอให้จินตนาการว่าตัวเองเป็นกวีที่ไม่เหมือนใครจะแสดงความคิดสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มที่ถูกขอให้จินตนาการเป็นบรรณารักษ์ที่เข้มงวด แนวคิดหลักคือการมองและคิดในมุมของบุคคลที่สาม เช่น ถ้าหากเราเป็นตัวละครในภาพยนตร์สักเรื่องจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงดี

Reframing (การมองมุมใหม่)  

การเปลี่ยนมุมมองในเรื่องงานเริ่มต้นจากการตั้งคำถามต่อตัวเอง 2 เรื่อง คือ เราเป็นใครในการทำงานและงานมีบทบาทยังไงบ้างกับชีวิตของเรา 

หลายคนมีชื่อตำแหน่งไม่เป็นทางการไม่ว่าจะเป็นนักสอน ผู้มองการณ์ไกล หรือนักวางแผน ให้เริ่มจากการมองหาชื่อที่อธิบายบทบาทหรือรูปแบบการทำงานของตัวเองที่โดดเด่นออกมา เป็นวิธีที่จะช่วยให้รับรู้ความหมายและด้านบวกของงานได้

การเริ่มมองจากภาพใหญ่ก็ช่วยในการปรับมุมมองใหม่ ลองครุ่นคิดจุดประสงค์ของการทำงานในภาพรวมดูก่อนเพื่อเปลี่ยนความคิด วิธีนี้ได้ผลจริงจากการศึกษาหลายชิ้นที่ให้ผลว่า พนักงานสามารถทำงานที่ไม่น่าพึงพอใจหรือน่าเบื่อได้ดีขึ้นและนานขึ้นเมื่อพวกเขาเข้าใจว่างานเหล่านั้นเชื่อมโยงกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ยังไง

สุดท้ายเป็นการคิดถึงประโยชน์อย่างอื่นที่ได้จากการทำงานอย่างการได้เป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อร่วมงานหรือการเป็นกำลังหลักของครอบครัว การปรับมุมมองแบบนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนสามารถทำงานที่ไม่พึงประสงค์ได้ เรียกว่าเป็นความต้องการเหนือตัวตน (Self-Transcendent) ที่ไม่ใช่แค่การตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่ช่วยคนอื่นตอบสนองความต้องการของพวกเขาเหล่านั้นด้วย

ถ้าอยากกลับมารู้สึกอินและเป็นส่วนหนึ่งกับงานอีกครั้งและยังสงสัยกับทางเลือกแบบหักดิบอย่างการลาออก หางานใหม่ หรือเปลี่ยนสายงาน 4 ขั้นตอน DEAR อาจเป็นตัวช่วยในการเริ่มปรับความคิด เริ่มจากมองตัวเองในมุมมองของคนข้างนอก มีความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจตัวเองและคนอื่น ลงมือทำสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมปรับมุมมองใหม่ที่มีต่องานและชีวิต เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตการทำงานได้

ที่มา – HBR

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา