วิจัยเผย หัวร้อนแต่พอเหมาะช่วยให้ทำงานดีขึ้น 

ไปทำงานทีไรก็เจอแต่เพื่อนร่วมงานหัวร้อนอยู่ทุกวัน หรือจะหัวหน้าสายวีนเก่งจนลูกทีมไม่กล้าถามหรือเเสดงความคิดเห็น เป็นใครก็ต้องพยายามเลี่ยงคนประเภทนี้กันทั้งนั้น ไม่ใช้เเค่กายภาพเเต่อาการหัวร้อนยังอาจมาในรูปแบบอีเมลที่ไม่ว่าจะอ่านกี่ครั้งก็รู้สึกถึงน้ำเสียงแบบจอมบงการ ทำให้แทนที่จะได้คิดเรื่องงาน ก็ต้องไปเสียเวลาคิดว่าจะตอบกลับปนเอาคืนคนประเภทนี้ยังไงดี เรื่องราวในออฟฟิศเหล่านี้อาจพาทำให้ร้อนรนจนประสิทธิภาพในการทำงานลดฮวบ

เเม้ว่าด้านมืดของความโกรธและอารมณ์ร้อนในที่ทำงานกันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่กลับมีงานวิจัยที่ชี้ทางว่าเราต้องรู้จักหัวร้อนในที่ทำงานกันซะบ้าง เพื่อให้การทำงานดีขึ้น! 

ทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์ Bnai Zion Medical Center ในอิสราเอล นำโดย Arieh Riskin ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของความเจ้าอารมณ์ต่อผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายถึงการฝึกแพทย์และพยาบาลชาวอิสราเอลในการดูแลหุ่นเด็กทารกที่จะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกามาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของการดูแลทางด้านสาธารณสุขของอิสราเอล บางกลุ่มจะได้รับคอมเมนต์ด้วยความเป็นกลาง ขณะที่กลุ่มที่เหลือจะได้รับคอมเมนต์เชิงดูถูก ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่เผชิญกับการดูถูกและความหยาบคายจะทำงานได้แย่กว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

แน่นอนว่าการหงุดหงิดและโมโหตลอดเวลาส่งผลเสียต่อตัวคนเจ้าอารมณ์คนนั้นแถมลามไปถึงองค์กร แต่การพึงพอใจมากไปกับทุกเรื่อง ตลอดเวลาก็มีผลเสียไม่ต่างกันเลย

Jeffrey Pfeffer ศาสตร์จารย์ที่ Stanford University เจ้าของคอร์สสอนวิธีการเพิ่มพลังและอิทธิพลมองว่า การแสดงความโกรธเป็นทักษะสำคัญของคนที่ต้องการปีนบันไดความก้าวหน้าในการทำงาน เพราะความโกรธเชื่อมโยงกับความแม่นยำและความสามารถ อย่างถ้าหากหมอรู้สึกโมโหที่ถูกท้าทายเรื่องความสามารถในการให้คำแนะนำทางการแพทย์ พวกเขาก็ไม่ได้ถูกคนไข้มองว่ามีความสามารถลดลงกว่าเดิม แต่กลับกัน หากหมอแสดงความรู้สึกผิด ไม่มั่นใจจากคำท้าทาย คนไข้จะเกิดมุมมองในแง่ลบต่อตัวพวกเขาเสียยิ่งกว่าอีก 

ฟังดูเหมือนไม่จริง แต่ความโกรธยังช่วยให้คนทำงานได้ดีในบางสถานการณ์ อย่างการใส่ความกดดันให้นักกีฬาสักนิด ก็ช่วยให้นักแข่งเล่นกีฬาได้ดีขึ้น เพียงแต่ต้องระวังไม่ได้แสดงอารมณ์ลบมากจนเกินไปจนผลกลายเป็นตรงข้าม

การศึกษาของ Barry Staw และผู้ร่วมทำวิจัยจาก University of California วิเคราะห์การปรึกษาหารือในช่วงพักครึ่งของโค้ชทีมบาสเก็ตบอลระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า การแสดงอารมณ์ทางด้านลบจากโค้ชอย่างเช่น ความโกรธหรือความผิดหวัง มีผลต่อการเล่นที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการแข่งขันไปถึงจุด ๆ หนึ่ง แต่หากความโกรธของโค้ชเลยจุดนั้นไปแล้ว ความโกรธจะให้ผลตรงข้าม คือ ทำให้ความสามารถในการเล่นของทีมต่ำลง

ระดับความโกรธยังมีผลต่อการเจรจาต่อรองแบบเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ เช่นเดียวกัน งานวิจัยของ Hajo Adam แห่ง Rice University และ Jeanne Brett แห่ง Northwestern University พบว่า เมื่อคนเราเริ่มหงุดหงิดมากขึ้น โอกาสที่จะเลิกยินยอม คล้อยตามอีกฝ่ายก็มีมากขึ้น แต่ถ้าหากความโกรธมีมากเกินไปจะกลับกลายเป็นความไม่เหมาะสม และแม้ว่าการแสดงความโกรธเสียบ้างจะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการในครั้งแรก  แต่ก็เเลกมาด้วยการตอบโต้กลับจากฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะเกิดได้ในการต่อรองครั้งต่อ ๆ ไป

ความโกรธยังให้ผลไม่เหมือนกันในคนแต่ละประเภท ความเป็นมิตรและความสุภาพเป็น 1 ในบุคลิกที่สำคัญเป็น 5 อันดับแรกในการทำงานหรือ Big Five ตามมุมมองของนักจิตวิทยาส่วนใหญ่ โดยคนที่เป็นมิตรจะให้คุณค่ากับความสุภาพและการทำงานร่วมกัน ส่วนคนที่ไม่เป็นมิตรมักจะชอบประชดประชัน ถากถางและทนอยู่กับความขัดแย้งได้มากกว่า

Gerben Van Kleef แห่ง University of Amsterdam และทีมได้ทำการทดลองให้นักแสดงให้ฟีดแบ็คในการทำงานกับทีมงานที่มีทั้งคนที่เป็นมิตรและไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไรนักโดยใช้คำพูดแบบเดียวกัน แต่กับบางกลุ่มให้นักแสดงทำท่ามีความสุข ส่วนกับกลุ่มที่เหลือ ให้นักแสดงทำท่าเหมือนโมโห ผลพบว่า การประเมินผลงานแบบโกรธ ๆ กลับกระตุ้นให้ทีมที่ไม่เป็นมิตรทำได้ดีกว่าทีมที่เป็นมิตร ส่วนการให้ฟีดแบ็คด้วยท่าทางและน้ำเสียงในเชิงบวกกลับทำให้กลุ่มที่เป็นมิตรทำงานได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นมิตร 

ความโกรธสักนิดอาจมีประโยชน์ แต่จุดอ่อนของการโกรธอยู่ที่เราจะควบคุมตัวเองได้ลดลง ดังนั้น หากอยากจะต่อรองกับใครด้วยความโกรธสักนิด ก็อาจจะต้องเปิดโหมดความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ถ้าเป็นชาวออฟฟิศหัวร้อนกันอยู่แล้ว คงต้องหาทางควบคุมตัวเองไม่ให้พ่นคำยอดแย่ทำร้ายจิตใจใคร ๆ ไปทุกที ส่วนคนใจเย็นแสนดีที่ยอมคนอื่นมากเกินไปก็อาจจะต้องแสดงอารมณ์ไม่พอใจกันดูบ้างเพื่อให้สายวีนได้รู้จักเกรงใจคนอื่นมากขึ้น

ที่มา – The Economist

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา