ย้อนกลับสู่ยุคก่อนทรัมป์: โจ ไบเดน ตั้ง “จอห์น เคอร์รี่” นั่งตำแหน่งพิเศษ สะสางวิกฤตภูมิอากาศ

ในช่วงที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไปได้มีการขยับเพื่อแต่งตั้งทีมทำงานในระดับรัฐมนตรีอย่างคึกคัก โดยองค์ประกอบของรัฐบาลหน้ามีความน่าสนใจอย่างมากเนื่องจากถูกจัดวางโดยมีใจกลางคือความหลากหลายทั้งในแง่เพศและเชื้อชาติ

หนึ่งการแต่งตั้งที่ได้รับความสนใจคือ การตั้ง จอห์น เคอร์รี่ เป็นผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) และมีตำแหน่งในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่บรรจุวาระด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นประเด็นด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ โดยตำแหน่งนี้สามารถแต่งตั้งได้โดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภา

WASHINGTON, DC – DECEMBER 28: U.S. Secretary of State John Kerry delivers a speech on Middle East peace at The U.S. Department of State on December 28, 2016 in Washington, DC. Kerry spoke on the need for a two-state solution and defended the Obama administration’s approach to Israel. (Photo by Zach Gibson/Getty Images)

สหรัฐฯ จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม

จอห์น เคอร์รี่ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของ บารัก โอบามา ซึ่งในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เขาให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เขาเคยพยายามบรรลุข้อตกลงกับประเทศจีนในการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่จะเป็นผู้เจรจาและพาอเมริกาเข้าร่วมข้อตกปารีส ในปี 2015

เคอร์รี่ ได้ทวีตข้อความหลังจากมีประกาศดังกล่าวว่า “รัฐบาลอเมริกาหลังจากนี้จะเป็นรัฐบาลที่จัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศเหมือนเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติเร่งด่วน” และ “ผมมีความภาคภูมิใจที่จะได้ร่วมงานกับ ประธานาธิบดีคนต่อไป พันธมิตรของเรา และผู้นำเยาวชนของความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะจัดการกับปัญหานี้ในฐานะผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ”

การเมืองโลกแบบ “ก่อนทรัมป์” ในยุคหลังทรัมป์

การแต่งตั้ง เคอร์รี่ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นผู้ผลักดันโครงการ “World War Zero” ในปี 2019 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด และการผนวกวาระด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นหนึ่งในประเด็นความมั่นคง

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังปรับเปลี่ยนท่าที่เชิงนโยบายกลับไปสู่ยุค “ก่อนทรัมป์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหันกลับไปหา “ข้อตกลงปารีส 2015” ที่ ทรัมป์ถอนตัวออกและทิ้งพันธมิตรตะวันตกไว้เบื้องหลัง

ภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศหลังจากนี้จึงเป็นการที่สหรัฐอเมริกาหันกลับไปดำเนินนโยบายร่วมมือกับพันธมิตรตะวันตกในประเด็นต่าง ๆ ทั้ง สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี จึงเป็นที่มาของการที่หุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอนเอียงมาทางไบเดน

ที่มา – Reuters, CNBC, Independent, The Verge

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน