รัฐบาลจีนเรียกทูตสหรัฐและแคนาดาเข้าพบ หลัง CFO ของ Huawei ขึ้นให้การในศาลแคนาดา

ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกรณีของ CFO ของ Huawei ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนโดนจับ และขึ้นศาลที่ประเทศแคนาดา

ภาพจาก Huawei

Le Yucheng หรือ เล่อ ยูเฉิง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลจีน ได้เรียกทูตของสหรัฐและแคนาดาเข้าพบ กรณีของ CFO ของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีน หัวเว่ย โดนจับที่ประเทศแคนาดาตามคำร้องขอของสหรัฐฯ เนื่องจากหัวเว่ย ทำผิดกฏกรณีละเมิดกฏหมายของสหรัฐ กรณีการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลจีนระบุว่าจีนอาจใช้มาตรการเพิ่มเติม ถ้าหากสหรัฐไม่ยอมปล่อยตัวผู้บริหารของหัวเว่ย ซึ่งในกรณีของผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยโดนจับครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลจีนหัวเสียในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ขณะที่ Meng Wanzhou หรือ เหมิง หวันโจว เธอได้ขอยื่นประกันตัวกับศาลแคนาดาโดยใช้อสังหาริมทรัพย์ในประเทศแคนาดารวมไปถึงปัญหาสุขภาพของเธอ ทางการแคนาดาจะเปิดไต่สวนกรณีนี้อีกครั้งในคืนนี้ (วันที่ 10 ธันวาคม)

นอกจากนี้ South China Morning Post ยังรายงานว่า เหมิง มีพาสปอร์ตถึง 7 เล่มด้วยกัน โดยมี 4 เล่มของประเทศจีน และ 3 เล่มจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (โดย 1 เล่ม SCMP กล่าวว่าหมดอายุไปแล้ว) ซึ่งสร้างความสงสัยให้กับคดีนี้มากยิ่งขึ้น

สาเหตุที่โดนจับ

หลังจากที่สื่อทั่วโลกคาดเดาว่าการที่ผู้บริหารของหัวเว่ยโดนจับ ว่าอาจเกี่ยวกับกรณีสหรัฐคว่ำบาตรประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดีล่าสุด ประเด็นสำคัญที่ เหมิง หวันโจว โดนจับคือการที่หัวเว่ยนำบริษัทลูกชื่อว่า Skycom ทำธุรกรรมอำพราง เพื่อที่จะขายสินค้าโทรคมนาคมกับประเทศอิหร่านในปี 2013

แม้ว่า HSBC สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จะสอบถามว่าธุรกรรมดังกล่าวกับ เหมิง ว่าธุรกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหัวเว่ยหรือไม่ แต่เธอได้ยืนยันว่า Skycom เป็นบริษัทคู่ค้าตามปกติ ซึ่งในการสอบสวนในชั้นศาล Skycom ถือว่าเป็นบริษัทลูกทางอ้อมของหัวเว่ย เพราะว่าพนักงานของ Skycom เองเป็นพนักงานของหัวเว่ย และมีอีเมล์ของหัวเว่ยใช้ด้วย

สำหรับข่าวการจับกุมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาถึงออกมาเป็นข่าวเป็นเพราะว่า เหมิง ได้ขอให้ไม่มีการเปิดเผยการจับกุมกับศาลประเทศแคนาดา แต่ศาลได้ถอนคำร้องเรื่องนี้ และโทษความผิดของเหมิง ถ้าหากส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ อาจมีโทษสูงสุดคือจำคุก 30 ปี

ญี่ปุ่นและยุโรปเตรียมแบนด้วย

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่เตรียมจะแบนไม่ให้บริษัทผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจากจีนเข้าร่วมในการจัดซื้อของรัฐบาล เนื่องจากญี่ปุ่นกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอย่างมากในช่วงหลัง ซึ่งทำให้บริษัทจากจีนไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของรัฐได้

ไม่เพียงแค่นั้น ทวีปยุโรปก็เริ่มที่จะระแวงกับสัดส่วนทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นของหัวเว่ยเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดจาก IHS Markit ทางหัวเว่ยครองส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมในปัจจุบันมากถึง 40% และถ้าหากรวมของ ZTE หรือ ซีทีอี เข้าไปด้วย จะกลายเป็นว่าสัดส่วนทางการตลาดตกเป็นของบริษัทจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว ทิ้งห่างบริษัทในยุโรปอย่างโนเกียรวมไปถึงอีริคสันด้วย

(12/12/2018) อัพเดตล่าสุด เหมิง หวันโจว CFO ของ Huawei ได้รับการประกันตัวแล้ว แต่อดีตทูตแคนาดาโดนจับที่จีน

ที่มาJapan Times, Washington Times, Bloomberg, South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ