ในยุคสมัยที่วงการรถยนต์มุ่งไปยังรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (electric vehicle หรือ EV บางแห่งก็เรียก battery electric vehicle – BEV) ที่ผ่านมา Brand Inside เคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับแผนการรถยนต์ไฟฟ้าของพี่ใหญ่ Toyota มาแล้วหลายครั้ง ท่าทีของผู้บริหารโตโยต้าทั้งในต่างประเทศและในไทย ก็ไม่ได้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวมากนัก แต่กลับเชียร์รถยนต์ไฮโดรเจนหรือที่ใช้ fuel cell (fuel-cell vehicle หรือ FCV) มากกว่า
- “ถ้ารถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วไป ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเจ๊ง” ประธาน Toyota ลั่น เชียร์รถยนต์ไฮบริด-ไฮโดรเจน
- “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ประธานบอร์ด Toyota ประเทศไทยลั่น “เวลานี้ยังไม่เหมาะทำรถยนต์ไฟฟ้า”
คำถามที่น่าสนใจคือ Toyota คิดอะไรถึงได้มีมุมมองที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมมาก ตกลงแล้ว Toyota เชื่องช้าไม่ทันโลก หรือว่ามองเกมเด็ดขาดข้ามช็อตอย่างแหลมคมกันแน่ บทความนี้พยายามจะทำความเข้าใจกับแนวคิดดังกล่าว
Toyota มองอนาคตของวงการรถยนต์อย่างไร
คำตอบของคำถามว่า Toyota มองอนาคตของตัวเองอย่างไร มีอยู่ในเอกสารรายงานประจำปี (Annual Report) ของปี 2017 ที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้
อนาคตของ Toyota ที่ตัวเองมองเห็น มองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะมุ่งไปใน 3 ทิศทางสำคัญคือ
- Intelligence รถยนต์ฉลาดขึ้น ปัจจัยสำคัญคือ AI และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
- Information รถยนต์เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และใช้ประโยชน์จาก Big Data
- Electrification เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการขับเคลื่อน จากน้ำมันมาเป็นเทคโนโลยียุคใหม่อย่างไฟฟ้าและไฮโดรเจน
ถึงแม้ชื่อของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนอาจเข้าใจยากไปอยู่บ้าง แต่โดยหลักการแล้ว มันคือรถยนต์พลังไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้ไฮโดรเจนเหลว ผสมกับออกซิเจนในอากาศ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์นั่นเอง (ในขณะที่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่รู้จักกันทั่วไปนั้น นำพลังไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่)
ส่วนของเสียที่ได้จากรถยนต์พลังไฮโดรเจนจะมีเพียง “น้ำ” จากการผสมกันของออกซิเจนกับไฮโดรเจน (H2O) เมื่อได้พลังไฟฟ้าไปใช้ก็จะทิ้ง “น้ำ” ที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมออกมา ต่างจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่จะมีก๊าซ CO2 ออกสู่อากาศ
ทางเลือกมีหลากหลาย แต่ Toyota มองไฮโดรเจนมีข้อดีเหนือกว่าไฟฟ้า
ในประเด็นเรื่องเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ Toyota มองว่าเครื่องยนต์แบบเดิมที่ใช้น้ำมัน ยังสามารถพัฒนาต่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อีกระยะเวลาหนึ่ง แต่บริษัทก็พยายามมองหาทางเลือกของเครื่องยนต์แบบใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลงไฮโดรเจน (FCV) โดยมีทางเลือกลูกผสมอย่างรถยนต์ไฟฟ้า-ไฮบริด (plug-in hybrid vehicle หรือ PHV) มาสอดแทรก
แต่จากมุมมองของ Toyota กลับมองว่า รถยนต์พลังไฮโดรเจนมีคุณสมบัติดีกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ทั้งคู่เป็นรถยนต์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่รถยนต์ไฮโดรเจน (FCV) เหนือกว่าทั้งในแง่ระยะทางที่ขับขี่ได้ต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง (cruising range) และระยะเวลาที่ใช้เติมเชื้อเพลิง/ชาร์จไฟ (refueling/recharging time) ส่วนโครงสร้างพื้นฐานในการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน/ชาร์จไฟ ทั้งคู่ยังถือว่าอ่อนแอในระดับใกล้ๆ กัน
ภาพอนาคตของ Toyota จึงแบ่งรถยนต์ออกเป็น 3 กลุ่มตามประเภทการใช้งาน โดยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง จะใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่วิ่งในระยะสั้น ส่วนรถยนต์ไฮโดรเจน (FCV) ใช้กับรถยนต์ขนาดใหญ่ที่วิ่งระยะไกลๆ เช่น รถบรรทุก
สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ปัจจุบันใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ก็จะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฮบริด ทั้งแบบไฮบริดที่เก็บสะสมพลังงานจากมอเตอร์ (HV แบบดั้งเดิม) และไฮบริดแบบเสียบไฟชาร์จ (PHV)
กล่าวโดยสรุปแล้ว มุมมองของ Toyota คือเตรียมความพร้อมไว้ทุกทาง โดยจะทำทั้งรถยนต์พลังไฟฟ้า และพลังไฮโดรเจน แต่บริษัทประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์น้ำมันไปสู่ไฟฟ้าจะ “ไม่เร็ว” ดังที่หลายคนคาด อีกทั้งกระแสตื่นตัวในรถยนต์ไฟฟ้าของคู่แข่ง จะทำให้เกิดการแย่งชิงแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน ยังเป็นอันตรายได้ง่าย Toyota จึงมองไปยังแบตเตอรี่แบบใหม่ที่เรียกว่า solid-state battery ที่ปลอดภัยกว่า และกำลังวิจัยเทคโนโลยีนี้อยู่ภายในบริษัท
Mirai ความหวังของรถยนต์ไฮโดรเจน ที่ยังจุดไม่ติด ยอดขายรวมกันแค่หลักพัน
เมื่อมุมมองของ Toyota คือไฮโดรเจนเป็นอนาคตที่ดีกว่า บริษัทจึงพยายามผลักดันรถยนต์ไฮโดรเจนอย่างหนัก โดยมีรถยนต์รุ่น Mirai (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “อนาคต”)
Mirai เปิดตัวครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบมาตั้งแต่ปี 2011 และเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นขายจริงในปี 2014 ก่อนจะวางขายจริงในปี 2015 มันสามารถวิ่งได้ไกลถึง 500 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง
ปัญหาสำคัญของ Mirai คงอยู่ที่สถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีจำกัดมาก ทำให้ Toyota ยังทำตลาด Mirai ได้เฉพาะบางประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา (เฉพาะแคลิฟอร์เนียเป็นหลัก) แม้ Toyota มีแผนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ขยายสถานีเติมไฮโดรเจนในระยะยาว แต่มาถึงวันนี้ก็ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก
ตัวเลขยอดขายของ Mirai นับจนถึงสิ้นปี 2017 จึงมีเพียง 5,300 คันทั่วโลก โดยอยู่ในสหรัฐประมาณ 2,900 คัน และญี่ปุ่นอีก 2,100 คันเท่านั้น แม้จะวางขายมานาน 3 ปีแล้วก็ตาม เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฮบริดที่เป็นหัวหอกของบริษัทอย่าง Prius กลับทำยอดขายรวมได้ถึง 4.1 ล้านคันเข้าไปแล้ว (สถิติจาก Toyota)
อนาคตของ Mirai ในตอนนี้ต้องบอกว่าไม่สดใสนัก เพราะหากแผนการผลักดันสถานีเติมเชื้อเพลิงล้มเหลว การดันยอดขายรถยนต์ก็ทำได้ยาก แถมในวงการรถยนต์ก็แทบไม่มีบริษัทอื่นสนใจทำรถไฮโดรเจนมากนัก คู่แข่งในตลาดมีเพียงไม่กี่รุ่น ได้แก่ Honda Clarity Fuel Cell และ Hyundai Tucson/Nexo เท่านั้น เรียกได้ว่าบริษัทฝั่งอเมริกัน-ยุโรป ไม่มีรายไหนสนใจผลักดัน FCV เลย การจะหาแนวร่วมช่วยกันขยายสถานีจึงยากมาก
แผนการ EV ของ Toyota: ทำ เลิกทำ แล้วกลับมาทำใหม่
มุมมองของ Toyota ต่อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่คือ ทำไว้เช่นกัน แต่ให้ความสำคัญรองจากไฮโดรเจน
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แผนการช่วงแรกของ Toyota คือจับมือเป็นพันธมิตรกับ Tesla ของ Elon Musk ที่เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ ถึงขั้นเคยมีหุ้น 3% ใน Tesla รวมถึงเคยออกรถยนต์ SUV รุ่น RAV4 ที่ Tesla เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้
แต่ในปี 2016 Toyota กลับถอนตัวจากข้อตกลงพันธมิตรครั้งนั้น และขายหุ้นของตัวเองใน Tesla ออกทั้งหมด โดยประกาศว่าจะหันมาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแทน 100% แต่จากนั้นข่าวคราวของรถยนต์พลังแบตเตอรี่ของ Toyota ก็เงียบหายไปพักใหญ่ๆ
จากนั้นในปี 2017 Toyota ก็กลับมาลุยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าใหม่อีกครั้ง โดยประกาศร่วมมือกับคู่แข่งร่วมชาติ Mazda เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน (หลายคนมองว่าเป็นการจับมือของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ล้าหลังในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคู่) และข้อตกลงล่าสุดเมื่อปลายปี ในการร่วมมือกับ Panasonic บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก และเป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่ให้ Tesla ด้วย
อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ปี 2018 Toyota ยังไม่มีรถยนต์ที่เป็นแบตเตอรี่ 100% (All-Electric) ออกวางขายทั่วไป มีเพียงรถยนต์ขนาดเล็ก iQ EV (ในญี่ปุ่นเรียก Toyota eQ) ที่เป็นรถต้นแบบ และมียอดขายน้อยมากเพียงหลักสิบคันเท่านั้น
ดังนั้นกว่าเราจะได้เห็น Toyota EV รุ่นสมบูรณ์คงต้องรอกันอีกพักใหญ่ๆ (แผนการที่ประกาศไว้คือออก EV 10 รุ่นภายในปี 2020) ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Nissan Leaf นำหน้าไปไกล ทำยอดขายได้เกิน 300,000 คันทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว
แผนการของ Toyota ในระยะสั้นคงหนีไม่พ้นการดันรถยนต์ไฮบริดที่ตัวเองเชี่ยวชาญ (จากความสำเร็จของ Prius และไฮบริดหลายๆ รุ่น) มาทำตลาดไปพลางๆ ก่อนในช่วงที่ตัวเองกำลังปรับทัพเรื่อง EV
ระยะสั้นไม่กระทบธุรกิจ แต่ระยะยาวน่าเป็นห่วง
ทิศทางการพัฒนารถยนต์ในอนาคตของ Toyota อาจสรุปได้ว่าไปไม่สุดสักทาง เพราะเส้นทางสายไฮโดรเจน (FCV) ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้า ส่วนรถยนต์แบตเตอรี่ (EV) ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และกลับมาเริ่มต้นใหม่โดยช้ากว่าคู่แข่งไปหลายปี
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตระยะอันใกล้ที่ FCV/EV ยังมาไม่ถึง และโลกยังต้องอยู่กับเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมต่อไปอีกสักพัก ธุรกิจของ Toyota ก็จะยังดูไม่กระทบอะไรมากนัก โดย Toyota ยังมีระบบการผลิตที่ทรงประสิทธิภาพ และแผนการล่าสุดคือ แพลตฟอร์ม TNGA (Toyota New Global Architecture) โครงสร้างพื้นฐานการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ที่เริ่มใช้ในปี 2015 โดยรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่าง C-HR รวมถึง Lexus/Camry จะทยอยมาพัฒนาบนโครงสร้าง TNGA ตัวนี้ทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากชิ้นส่วนที่แชร์ร่วมกันได้ น่าจะช่วยให้ Toyota ยังมีอัตรากำไรดีไปอีกระยะหนึ่ง
แต่ในอนาคตระยะไกลที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการรถยนต์ ทิศทางของ Toyota ที่ยังไม่ชัดเจน ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงมิใช่น้อย ว่าสุดท้ายแล้ว Toyota จะสามารถเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมในรอบนี้ได้มากแค่ไหน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา