“นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ประธานบอร์ด Toyota ประเทศไทยลั่น “เวลานี้ยังไม่เหมาะทำรถยนต์ไฟฟ้า”

ในระดับโลก Toyota ก็เคยกล่าวในแง่ลบเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว มาคราวนี้ลองมาฟังความเห็นของประธานบอร์ดประเทศไทยกันบ้าง ว่าจะพูดถึงในแง่ลบเหมือนกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือเวลานี้ยังไม่เหมาะสมในการทำตลาด

นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ต้นทุนสูง และการสนับสนุนไม่เพียงพอ

รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้แพร่หลายกันง่ายๆ เพราะตัวแปรไม่ได้มีแค่ผู้ผลิตรถยนต์ แต่รวมถึงภาครัฐที่สนับสนุนในด้านต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนในการทำสถานีชาร์จไฟเช่นกัน ซึ่ง 2 เรื่องหลังในประเทศไทยยังไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง จน “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมองไม่เห็นอนาคต

“จะให้ค่ายรถยนต์ทำอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน แต่เมื่อมองแค่รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) มันจะให้เกิดเร็วๆ คงยาก เพราะเรื่องการจูงใจการนำไฟฟ้ามาใช้ก็ไม่มี, ขายต่อราคาก็ต่ำ, แถมแบตเตอรี่ตอนนี้วิ่งได้สั้น แถมต้นทุนสูง ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ให้คนทำสถานีชาร์จก็น้อย” นินนาท กล่าว

ดังนั้นรถยนต์ที่อาศัยไฟฟ้าภายนอกทั้ง PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และ BEV ต่างเติบโตได้ยาก เพราะอิงกับระยะทางวิ่ง, ระยะเวลาการชาร์จไฟ และราคาที่สูง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV (Hybrid Electric Vehicle) ที่อาศัยเครื่องยนต์สันดาปเป็นหลัก และมีต้นทุนแบตเตอรี่ต่ำ ยังคุ้มค่าในการลงทุน และซื้อขายมากกว่า

BEV เหมาะกับรถเล็ก เพราะแบตฯ แพง

ขณะเดียวกัน Toyota ยังมองรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) ผ่านการใช้ Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน เพราะถือเป็นพลังงานสะอาด และเหมาะสมในแง่ต้นทุน รวมถึงน้ำหนักของตัวระบบขับเคลื่อนทั้งหมดเบากว่า BEV ที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้ไปได้ไกลกว่าเช่นกัน

“EV น่าจะเหมาะกับรถคันเล็กมากๆ เช่นรถนั่งคนเดียว และถ้าขยับขึ้นมาที่รถยนต์นั่ง HEV, PHEV และ FCEV จะเหมาะสมกว่า เพราะสามารถจุแบตเตอรี่ที่เพียงพอต่อการใช้งาน และไม่ถ่วงน้ำหนักมา ส่วนถ้าเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ การเลือก FCEV คือทางออกที่ดีที่สุด เพราะช่วยลดน้ำหนักในการบรรทุก และวิ่งได้ในระยะที่ไกลกว่า”

ทั้งนี้ Toyota ประเทศไทยมีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในเชิงพาณิชย์แล้ว ภายใต้ชื่อ Ha:mo โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เดินทางได้คนเดียว และให้บริการแค่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรก ก่อนจะขยายไปที่อื่นๆ เช่นในพื้นที่สยามสแควร์ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม ส่วนรุ่น Prius ที่เป็น HEV ก็ทำตลาดมาหลายปีแล้ว

รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทลดการปล่อยมลพิษ

อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมุมการปล่อยมลพิษ รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นย่อมลดการปล่อยไอเสีย หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ และถึง HEV จะเน้นการใช้เครื่องยนต์สันดาป แต่ก็สามารถลดไอเสียได้ไม่แพ้ PHEV

“เชื่อว่าต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง จะทำให้ปี 2583 มีสัดส่วนการขายรถยนต์เป็น BEV ถึง 35% แต่เครื่องยนต์สันดาปก็ยังมีอยู่ เพราะถูกใช้ใน HEV และ PHEV แต่การเติมเชื้อเพลิงเข้าไปอาจเปลี่ยนเป็น Bio Fuel หรือเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้มากจากธรรมชาติ และไม่ปล่อยมลพิษเหมือนในอดีต”

ที่สำคัญอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตจะถูกโจมตีจากบริการร่วมเดินทาง หรือ Ride Hiring มากขึ้น แต่หากแบรนด์ใดสามารถแทรกตัวไปอยู่ในโลกดังกล่าวได้ เช่นการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle ก็น่าจะอยู่รอด และเติบโตในสมรภูมินี้ได้ไม่ยาก

สรุป

จากแผนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า Toyota ยังเน้นรถยนต์ที่มีเครื่องสันดาปอยู่ภายในมากกว่าจะปล่อยให้ทั้งรถยนต์มีแต่แบตเตอรี่ ซึ่งมันก็แล้วแต่ Toyota ว่ามองแบบนี้ แล้วจะรอดในอนาคต แต่ส่วนตัวเชื่อว่า หลังจากนี้ Toyota ต้องปรับอะไรใหม่ และจริงจังกับรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV มากขึ้นแน่ๆ เพื่อตามเทรนด์โลกไปให้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา