ได้เงินมา 100 บาท จ่ายไป 82.6 บาท ชวนแก้ (โจทย์) ปัญหาครัวเรือนไทย มีรายได้-รายจ่าย-ภาระหนี้ เท่าไรกัน

หลายคนคงเคยพูดเล่นกันบ่อย ๆ ว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ

คำพูดนี้สะท้อนปัญหาหลักของคนไทยว่าคนไทยจำนวนมากยังเผชิญกับสภาวะหนี้ ซึ่งหมายความว่ารายได้ที่ได้มาแต่ละเดือนยังไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิต ยังต้องแบกรับรายจ่ายมาก เงินที่เหลือก็น้อยนิด ทำให้เงินไม่พอใช้จนก่อเกิดเป็นหนี้ จริง ๆ แล้วครัวเรือนไทยมีรายได้ รายจ่าย และหนี้เท่าไรกันแน่ แล้วภาวะหนี้ของคนไทยหนักมากเลยจริงหรือเปล่า

ได้เงินมา 100 บาท จ่ายไป 82.6 บาท

ก่อนจะไปดูหนี้ของคนไทย มาสำรวจรายได้และรายจ่ายกันก่อน สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทยปี 2566 ในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 29,502 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 24,362 บาท เท่ากับว่ารายจ่ายคิดเป็น 82.6% ของรายได้

ลองเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หากคนไทยได้เงิน 100 บาท จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 82.6 บาท มีเงินคงเหลือ 17.4 บาทต่อเดือน 

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยในแต่ละเดือนแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 21,262 บาท คิดเป็น 87.3% และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคอย่างเช่น เงินที่จ่ายภาษี ดอกเบี้ย หวย เบี้ยประกัน อีก 3,100 บาท คิดเป็น 12.7%

ตัวเลขรายได้และรายจ่ายด้านบนเป็นตัวเลขรวมของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ในแต่ละภาคยังมีรายได้และรายจ่ายที่แตกต่างกันออกไปอีกดังนี้

  • กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 39,556 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้คิดเป็น 82.8%
  • ภาคกลาง รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 30,926 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้คิดเป็น 82.1%
  • ภาคเหนือ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 23,690 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้คิดเป็น 82.1%
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 23,207 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้คิดเป็น 81.8%
  • ภาคใต้ ​รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 28,283 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้คิดเป็น 84.9%

เท่ากับว่ากรุงเทพและอีก 3 จังหวัดปริมณฑลมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด ขณะที่ครัวเรือนในภาคใต้มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงที่สุด แต่จะเห็นว่าครัวเรือนทุกภาคทั่วประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายต่อรายได้มากกว่า 80% ขึ้นไป ถ้าเทียบเป็นรายได้ 100 บาท ครัวเรือนจะเหลือเงินหลังหักค่าใช้จ่ายไม่ถึง 20 บาท

คนไทยเป็นหนี้เท่าไรกันบ้าง

พอมาดูรายได้และรายจ่ายครัวเรือนพบว่า ครัวเรือนไทยเหลือเงินเก็บไม่มาก พอเงินไม่พอใช้ก็เกิดภาระหนี้ หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหนักของสังคมไทยและเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล แล้วจริง ๆ แล้วมีคนไทยเท่าไรกันที่ยังมีภาระหนี้

เครดิตบูโรและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ คำนวณว่าในเดือนมีนาคมปี 2565 มีคนไทยที่มีหนี้อยู่ 37% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด ในจำนวนคนที่เป็นหนี้ 57% มีหนี้เกิน 100,000 บาท ขณะที่คนที่มีหนี้เกิน 1,000,000 บาทอยู่ที่ 14%

หลังจากดูหนี้ของแต่ละคนกันแล้ว ลองมาดูหนี้ครัวเรือนกันบ้าง จากครัวเรือนไทยทั้งหมดทั่วประเทศ มีครัวเรือนที่มีหนี้สิน 48.5% ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้สินมีอยู่ 51.5% โดยหนี้ครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 208,331 บาทต่อครัวเรือน โดยหนี้ที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ 42.5% เป็นหนี้ที่มาจากการเช่าหรือซื้อบ้านหรือการเช่าหรือซื้อที่ดิน

ส่วนภาพรวมหนี้ทั้งประเทศ ในไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่ามูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และหากลองเทียบภาระหนี้ครัวเรือนของคนไทยกับ GDP ในปี 2021 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 94.7% จากโควิด-19

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ยังไงต่อดี?

ก่อนจะรู้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจะไปทางไหนต่อดี ลองมาดูสาเหตุกันก่อนว่าหนี้ของคนไทยเกิดจากอะไรแล้วจะหยุดสาเหตุของการเกิดหนี้ได้อย่างไร

รองศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหนี้ไว้ 2 สาเหตุหลัก

อย่างแรกเกิดจากปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มาจากสาเหตุ 2 ด้านทั้งจากตัวบุคคลเองอย่างการขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ขาดการวางแผนและการจัดการ หรือแม้แต่พฤติกรรมการใช้เงินที่ก่อรายจ่ายโดยไม่จำเป็น และสาเหตุนอกตัวบุคคลที่มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารของประเทศที่ยังสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่กระจายรายได้ อย่างการมุ่งพัฒนาเมืองให้เจริญมากกว่านโยบายขยายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัดและพื้นที่ชนบท ทำให้คนในพื้นที่ห่างไกลขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ

อย่างที่ 2 มาจากการที่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือบริการทางการเงินได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด หรือเข้าถึงได้จากการสนับสนุนของภาครัฐแต่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

นอกจากนี้ EIC หรือศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประเมินความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยในระดับครัวเรือนด้วย Machine Learning พบว่า ครัวเรือนเปราะบางหรือครัวเรือนที่มีหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สินมีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน 

EIC ประเมินว่าครัวเรือนที่เปราะบางอาจต้องใช้เวลาแก้ปัญหา 13 ปี โดยเฉลี่ยและอาจแก้ปัญหาได้ยากกว่าปกติถ้ามีข้อจำกัด 3 ข้อ คือ 

  • การไม่มีเงินเหลือเก็บ พอไม่มีเงินเก็บก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หนี้เก่าและจำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่ที่นำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย
  • การเป็นครัวเรือนสูงอายุ เมื่อมีคนทำงานใกล้วัยเกษียณ ระยะเวลาในการหารายได้เพิ่มก็ลดลง
  • การมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ครัวเรือนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาการสร้างหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง

รองศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม ได้เสนอนโยบายสำหรับครัวเรือนที่เป็นหนี้ข้อหนึ่งว่า ควรออกเกณฑ์กำกับควบคุมการสร้างหนี้หรือการขอสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของครัวเรือน เช่น ออกเกณฑ์ LTV ที่กำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน รวมทั้งประเมินเกณฑ์ที่ใช้ไม่ให้ยืนหยุ่นเกินไปแต่ก็ไม่ให้เข้มงวดเกินไปจนไม่สามารถเข้าถึงได้

ส่วนในปีนี้และปีหน้า ธนาคารแห่งประเทศก็จะปรับใช้ 3 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน อย่างแรกคือการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม มีเครื่องมือสร้างวินัยในการชำระหนี้ ต่อมาคือการดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ให้ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลปิดหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และสุดท้ายคือการกำหนดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (RBP) และกำหนดระดับภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เพื่อลดหนี้ ในขณะเดียวกันก็ให้มีรายได้เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตด้วย

ขณะที่ค่าครองชีพพุ่งจากเงินเฟ้อ รายได้ของคนไทยกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามในอัตราเดียวกัน ทำให้คนไทยต้องแบกรับมากขึ้น พอเงินไม่พอก็เกิดหนี้ที่เป็นความท้าทายใหญ่ที่กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยทั้งประเทศ หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นสิ่งที่ต้องนำไปพิจารณาเวลาเราพูดถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐบาลที่เราคงจะเห็นกันต่อไป

ที่มา – สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ธปท., Brand Inside, EIC, Thai Publica, KResearch

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา